×

กรีนพีซ เผยผลวิเคราะห์ 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เติบโตแต่แลกกับความสูญเสียพื้นที่ป่าไม้-มลพิษทางอากาศ

โดย THE STANDARD TEAM
16.09.2022
  • LOADING...
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

วันนี้ (16 กันยายน) กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวรายงานเรื่อง ‘เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในเขตภาคเหนือของไทย’ ในงาน ‘อาเซียนร่วมใจ: ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร?’ (ASEAN: One Vision, Shared Pollution) เนื่องในสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน (MAEW – Mekong-ASEAN Environmental Week) ที่ห้อง SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

โดยรายงานดังกล่าวได้ศึกษาถึงแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย (เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่, แม่ฮ่องสอน และพะเยา) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2545-2565) โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ทุก 5 ปี (พ.ศ. 2545, 2550, 2555, 2560 และ 2565) มาวิเคราะห์จำแนกการใช้ที่ดิน / สิ่งปกคลุมดิน

 

ซึ่งข้อค้นพบหลักของรายงานที่น่าสนใจมีดังนี้

 

  • ระหว่างปี 2545-2565 ภาคเหนือตอนบนของไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) โดยปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2545
  • พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยขยายตัวสูงสุดเป็น 2,502,464 ไร่ ในปี 2555
  • ช่วงเวลาที่พื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากที่สุดคือปี 2545-2555 คิดเป็นพื้นที่ 2,176,664 ไร่
  • หลังจากปี 2550 อัตราการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยค่อนข้างคงที่ การสูญเสียพื้นที่ป่าในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยตั้งแต่ปี 2550 – ปัจจุบัน (ปี 2565) ประมาณ 9 ล้านไร่ นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่อไปขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะรัฐฉาน (เมียนมา) และภาคเหนือของ สปป.ลาว แล้ว ยังมาจากการขยายตัวของพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการส่งออก (Commodity-Driven Deforestation)

 

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตามนโยบายสนับสนุนของรัฐภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาและนโยบายสร้างแรงจูงใจอื่นๆ ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน คำถามคือพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทําทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยต้องจัดทําและเผยแพร่ในระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งสื่ออื่นที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และต้องปรับปรุงระบบทะเบียนให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 17) และกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาสามารถกําหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันและเยียวยาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม (มาตรา 23) นั้น จะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อระบุภาระรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้มากน้อยเพียงใด

 

โดย ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ชุมชนและชนพื้นเมืองที่ถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจนกระทั่งไร้สิทธิและที่ทำกิน มักกลายเป็นพื้นที่ที่พบการขยายตัวของการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าพื้นที่อื่น นโยบายที่ส่งเสริมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัฐนั้นยิ่งมาซ้ำเติมให้ผู้คนมีทางเลือกในการดำรงชีวิตตามวิถีน้อยลง และหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น หนี้สินและความยากจนมาพร้อมกับการถูกประทับตราว่าเป็นผู้เผาทำลายป่า สร้างฝุ่นควัน โดยไม่ถามถึงนโยบายรัฐที่ส่งเสริม แต่บริษัทอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์กลับรอดพ้นจากการเป็นจำเลยสังคม ไม่จำเป็นต้องมีภาระรับผิดใดๆ ส่งผลให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

 

แม้จะพบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อมากขึ้น หรือการขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ด้วยลักษณะของการทำเกษตรพันธสัญญาของไทย ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปแบบสัญญาทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรอย่างไม่เป็นทางการ จึงไม่ปรากฏข้อมูลว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญามากน้อยเพียงใด ระบบข้อมูลของภาครัฐภายใต้ระบบประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น สามารถบ่งชี้ถึงจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ แต่ยังไม่เชื่อมโยงถึงการรับซื้อของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่

 

ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า การขยายการลงทุนของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของไทย เพื่อผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาเพื่อส่งกลับมายังไทย คือสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีบทบาทของธนาคารไทยคอยเกื้อหนุนการลงทุน นี่คือการก่อมลพิษในห่วงโซ่อุปทานที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐไทยและระดับอาเซียน 

 

ด้าน รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวสรุปว่า สิ่งที่ยังขาดหายไปในกลไกทางกฎหมายและการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ไปสู่การปลูกข้าวโพดแบบอุตสาหกรรมของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือ ภาระรับผิดชอบของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น และการได้ผลประโยชน์จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการประกอบธุรกิจ ถึงเวลาที่ภาครัฐจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบาย เพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising