×

สวีเดนและจีนจะได้อะไร จากการฝึกผสมไทย-จีน Falcon Strike

22.08.2024
  • LOADING...
Falcon Strike

กองทัพอากาศไทยจัดการฝึกผสมกับกองทัพอากาศของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People’s Liberation Army Air Force) ระหว่างวันที่ 18-29 สิงหาคม ณ กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี

 

การฝึกระหว่างกองทัพไทยและจีนดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และมีการฝึกกับทั้งสามเหล่าทัพ โดยขยายขอบเขตการฝึกมากขึ้นในแต่ละปี โดยเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับจีน ส่วนจีนต้องการสร้างอิทธิพลในไทยเพื่อแข่งขันกับชาติตะวันตก และในอีกแง่หนึ่งคือต้องการเรียนรู้เทคนิคและยุทธวิธีตะวันตกที่กองทัพไทยเรียนรู้มานาน

 

สำหรับการฝึกกับกองทัพอากาศไทยนั้น ฝ่ายจีนทยอยส่งเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ มาเข้าร่วมการฝึกโดยตลอด ตั้งแต่ J-11 ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จีนลอกแบบ Su-27 ของรัสเซียมา J-10A และ B ซึ่งเป็นเครื่องบินที่จีนออกแบบและพัฒนาขึ้นเอง และในบางปียังส่งเครื่องบิน JH-7 ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีเข้ามาร่วมฝึกด้วย

 

คาดว่าเครื่องบินขับไล่ของจีนที่ส่งมาเข้าร่วมการฝึกนั้นเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ J-10B เช่นเดิม จากคลิปวิดีโอที่ปรากฏในเว็บไซต์ของสำนักข่าว CGTN รวมถึงรุ่นสองที่นั่งอย่าง J-10S อีกด้วย แต่ไม่แน่ชัดว่าจีนจะส่ง J-10C เข้ามาร่วมการฝึกด้วยหรือไม่ ซึ่ง J-10C นั้นเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กว่า มีการติดตั้งระบบตรวจจับภาพด้วยอินฟราเรด ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการตรวจจับเป้าหมายโดยไม่ต้องใช้เรดาร์แม้จะมีระยะตรวจจับที่ใกล้กว่า นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเรดาร์ AESA รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศรุ่นใหม่อย่าง PL-10 และ PL-15 ได้

 

ในส่วนของกองทัพอากาศไทยนั้น สหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้กองทัพอากาศไทยใช้ F-16 ในการฝึกกับจีนเพื่อรักษาความลับทางทหารของตน กองทัพอากาศจึงใช้ Gripen ของสวีเดน ซึ่งสวีเดนอนุญาตให้ฝึกกับจีนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลและตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสวีเดน และไม่สามารถใช้ขีดความสามารถบางอย่างของ Gripen ในการฝึกกับจีนได้เพื่อรักษาความลับทางทหารของตนเช่นกัน

 

สาเหตุที่แม้ว่าสวีเดนจะกังวลกับความลับทางทหารของตน แต่ก็ยังอนุญาตให้กองทัพอากาศไทยส่ง Gripen เข้าร่วมการฝึกโดยจำกัดขีดความสามารถบางอย่างนั้น ก็เพราะสวีเดนต้องการประเมินค่าเครื่องบินรบของตนกับเครื่องบินขับไล่ของจีน ที่ถือว่าหาโอกาสได้ยากมากที่จะศึกษาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางทหารของจีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสวีเดนที่ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิก NATO นั้นดำรงความเป็นกลางทางทหาร และไม่เข้าร่วมกับความขัดแย้งระดับใหญ่ใดๆ นอกจากการรักษาสันติภาพหรือปฏิบัติการในกรอบของสหประชาชาติ

 

การอนุญาตให้ไทยส่ง Gripen เข้าร่วมการฝึกยังส่งผลให้สวีเดนนำผลการฝึกไปพัฒนาและปรับปรุงเครื่องบินของตน รวมถึงออกแบบเทคนิคใหม่ๆ ในการรบทางอากาศเพื่อรับมือกับเครื่องบินจากค่ายตะวันออก โดยเฉพาะรัสเซียที่มีความขัดแย้งและถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงกับยุโรปในปัจจุบัน เนื่องจากแม้จีนจะออกแบบเครื่องบินเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี เทคนิค และยุทธวิธีของจีนมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยี เทคนิค ยุทธวิธี ของโซเวียตและรัสเซียที่จีนลอกแบบมา

 

แต่ในทางกลับกัน นี่ก็เป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่โอกาสของจีนที่จะได้เรียนรู้และศึกษาเทคโนโลยี เทคนิค และยุทธวิธีของตะวันตกที่จีนถือว่าเป็นภัยคุกคาม และมีโอกาสเป็นคู่ขัดแย้งในอนาคตโดยตรงผ่านไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีเครื่องบินขับไล่ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจีนมีความพยายามเรียนรู้เทคโนโลยีตะวันตกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการขอส่งนักบินไปบินกับ F-16A ของปากีสถานในช่วงที่ปากีสถานถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรจากการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งก็ส่งผลต่อการพัฒนา J-10 ที่จีนดำเนินการอยู่ในตอนนั้น หรือการจ้างนักบินตะวันตกที่เกษียณอายุแล้วด้วยมูลค่ามหาศาลเพื่อให้มาฝึกนักบินจีนให้

 

แต่ในการฝึกกับกองทัพอากาศไทย จีนจะใช้เครื่องบินและเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อทดสอบกับเครื่องบินและเทคโนโลยีตะวันตกได้โดยตรง ด้วยเทคนิคและวิธีการที่ตนเองพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะในการฝึกที่ผ่านมาจีนจะใช้วิธีพยายามให้กองทัพไทยเป็นผู้นำการฝึก เหมือนเปิดโอกาสให้กองทัพไทยสอนกองทัพจีน เพื่อให้กองทัพไทยปล่อยเทคนิคและวิธีการออกมาให้จีนได้เรียนรู้มากที่สุด และหลายๆ อย่างจีนก็มีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ

 

กรณีที่เป็นข่าวมากที่สุดคือข้อมูลผลการฝึก Falcon Strike เมื่อหลายปีก่อนที่หลุดออกมา โดยเป็นภาพถ่ายจาก PowerPoint ของจีนที่คาดว่าจะเป็นการบรรยายสรุปเป็นการภายในหลังจบการฝึกแล้ว โดยชี้ว่าเครื่องบินรบ J-11 ที่จีนส่งมาฝึกในสมัยนั้นทำได้ดีกว่า Gripen ในการรบระยะประชิด แต่แพ้แทบขาดลอยในการรบระยะเกินสายตาหรือระยะไกล แม้ว่าในตอนนั้น Gripen ของไทยจะยังไม่ได้ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพก็ตาม ซึ่งจีนวิจารณ์ตัวเองว่าเทคนิคและแท็กติกในการรบของจีนยังล้าสมัยอยู่ รวมถึงการฝึกของจีนยังเป็นการฝึกแบบโบราณ ไม่สะท้อนการฝึกสมัยใหม่เหมือนที่ไทยเรียนรู้มาจากตะวันตก และก็ทำให้จีนมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านตามมา

 

ดังนั้นการฝึก Falcon Strike จึงเป็นการฝึกที่จีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และต้องการขยายการฝึกมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งกองทัพอากาศไทยก็ได้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นกลางที่ประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าไทยสามารถจัดการฝึกทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคกับสหรัฐอเมริกาอย่าง Cobra Gold ได้ และในขณะเดียวกันก็จัดการฝึกกับกองทัพจีนได้ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงบทบาทของไทยในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

 

เพียงแต่ในทางกลับกัน ไทยก็ต้องยอมรับว่า จากบทบาทที่มีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใครเลย ก็อาจทำให้สุดท้ายไม่มีใครเข้าข้างไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน เพราะแต่ละฝ่ายจะมองว่าอีกฝ่ายมีแนวโน้มที่จะย้ายข้างได้เรื่อยๆ รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำไมกองทัพไทยจะไม่ได้รับอนุญาตในการจัดหาระบบอาวุธที่ดีที่สุดจากทั้งตะวันตกและจีน เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็กลัวว่าความลับทางทหารของตนจะหลุดรอดไปยังอีกฝ่ายผ่านทางไทยนั่นเอง

 

ภาพ: ​​U.S. Air Force Photo by Tech Sgt. Aaron Oelrich / Released

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising