ณี-สุธิยา จิวเฉลิมมิตร นักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติไทย ที่ผ่านการแข่งขันมาแล้ว 3 ครั้งและกำลังจะก้าวลงแข่งขันสมัยที่ 4 ที่โตเกียวโอลิมปิก 2021
ด้วยผลงานและความสำเร็จต่างๆ ในอดีตทั้งเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัย เหรียญทองเอเชียนเกมส์ปี 2018 เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 2 สนาม และก้าวขึ้นเป็นนักกีฬายิงเป้าบินอันดับหนึ่งของโลกเมื่อปี 2016 ทำให้เธอเป็นหนึ่งในนักกีฬาความหวังเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวปีนี้
ซึ่งเป็นปีแรกที่เราได้มีโอกาสพบเจอกับเธอที่ริโอเกมส์ 2016 โอลิมปิกที่ประเทศบราซิล
ในวันที่เราเดินทางไปทำข่าวการแข่งขันโอลิมปิกในปีนั้น นอกเหนือจากความสนุกตื่นเต้นและความวุ่นวายของเจ้าภาพรีโอเดจาเนโร เรามีภาพจำอย่างหนึ่งจาก 5 สัปดาห์ที่อยู่ที่บราซิลคือ ณี-สุธิยา จิวเฉลิมมิตร เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่เราไม่มีโอกาสได้พูดคุย หรือสัมภาษณ์ด้วยเท่าไรนัก
เนื่องจากการพบเจอนักกีฬาทีมชาติไทยที่ไทยเฮาส์ ซึ่งเป็นสถานีบริการนักกีฬาทีมชาติไทยทั้งในด้านอาหาร และความช่วยเหลือในด้านๆ ต่างทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เราจะเห็นณีเข้ามาพร้อมกับโค้ชของเธอบนสกูตเตอร์คู่ใจ แต่แทบจะไม่มีโอกาสได้พูดคุยด้วยเนื่องจากเธออยู่ในโหมดของการรักษาสมาธิระหว่างการแข่งขัน
ทำให้เราคาดเดาไปว่าการที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์ณี ในเรื่องของการเตรียมพร้อมไปโอลิมปิกครั้งนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควรที่จะเปิดใจกับนักกีฬาที่เราไม่เคยได้สัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้
แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นที่สมาคมกีฬายิงเป้าบินแห่งประเทศไทย ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อณีนั่งลงตรงหน้าของทีมงาน พร้อมกับการเตรียมตัวที่เป็นมืออาชีพอย่างสูง เธอมาพร้อมกับคำตอบสำหรับหลายๆ คำถามที่เราเตรียมมา และทำให้เราได้เข้าใจมากขึ้นถึงตัวตนของเธอ และกีฬายิงเป้าบินเป็นครั้งแรก
ณีเริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังถึงช่วงอายุ 15 ปี ที่เธอตัดสินใจจะเป็นนักกีฬายิงเป้าบิน
“ตอนนั้นเด็กมากอายุ 15 ปี ก็ไม่ได้มี Firm Decision ขนาดนั้น แต่เราก็อยากลองพอเราเห็นรุ่นพี่ คือไม่ได้เอาชนะเขานะ แต่เราเห็นว่าก็มีสเตปนี้ที่แข่งได้ ข้อที่หนึ่ง เราแข่งได้เราจะได้แข่ง ถ้าเราแข่งได้แล้วเราได้แข่งเราก็ชนะได้ ก็แค่มองเป็นเป้าหมายระยะใกล้ไป
“เหมือนทำไปเรื่อยๆ ทีนี้พอพ่อแม่รู้ เขาไม่อยากให้เรามาจับปืน แล้วพ่อแม่เราก็อยู่ต่างจังหวัด เราอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว ด้วยความที่พ่อแม่เป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปืนผาหน้าไม้เลย เขารู้สึกว่ามันจะอันตรายหรือเปล่า กลัวเราไปทำอันตรายคนอื่นหรือเปล่า อะไรมันเกิดขึ้นได้เขาก็กลัว”
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ณีตัดสินใจเดินหน้าในเส้นทางนี้ต่อ แม้ว่าพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก แต่สุดท้ายด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปในทางของนักกีฬา บวกกับผลงานของเธอ ก็ทำให้พ่อตัดสินใจสร้างสนามฝึกซ้อมให้ที่บ้าน
“ตอนนั้นยืมกระสุนคุณอา ยืมปืนผู้ใหญ่ในสมาคม ก็ยืมๆ เขามา แล้วเราแอบมาแข่ง แล้วเราก็เก็บถ้วยไว้ พอเราได้ถ้วยมาเยอะๆ เราก็เอาไปอวดแม่ ซึ่งเหมือนกับมัดมือชก พ่อเลยโอเค ถ้าอยากทำจริงๆ กีฬานี้มันลงทุนสูงด้วย สุดท้ายพ่อกับญาติก็รวมเงินกัน พ่อพาไปซื้อปืนเลยได้มีปืนเป็นของตัวเอง
“เราไม่ยอมกลับบ้าน ปิดเทอมแล้วก็ไม่ยอมกลับเพราะต้องซ้อม พ่อก็เลยบอกถ้าอย่างนั้นกลับมาซ้อมที่บ้านเขาก็สร้างสนามให้ เขาคิดอีกอย่างหนึ่งนะ ใครก็อยากให้ลูกกลับบ้านตอนปิดเทอม ไม่อย่างนั้นพ่อแม่จะไม่ได้เจอลูกเลย ลูกอยู่กรุงเทพฯ อย่างเดียวค่ะ
“เป้าหมายเราไม่ได้ต้องการทำให้พ่อแม่มายอมรับในจุดที่เราตัดสินใจ เราอาจจะอยากให้เขายอมรับว่าเราประสบความสำเร็จ คือถ้าคิดย้อนกลับไป ตอนนั้นเด็กก็ไม่ได้คิดกลั่นกรองอะไร เราก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ถ้าย้อนกลับไป…เราก็อยากทำให้มันสำเร็จ แต่อย่างที่บอกว่าเป็นคนชอบการแข่งขันอยู่แล้ว ประเด็นหลักมันไม่ได้ที่จะพิสูจน์อะไรบางอย่าง”
แต่สิ่งที่เธอค้นพบเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้คือความแม่นยำของกีฬายิงเป้าบิน คือความพยายามตามหาความเพอร์เฟกต์มันไม่มีวันสิ้นสุด แต่สิ่งที่เราต้องทำคือเดินหน้าไล่ล่ามันให้ได้ใกล้เคียงที่สุด
“มันเป็นกีฬาที่ Chasing Perfection ที่มันไม่มีทางจะเจอ แต่เราต้องไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะใกล้จุดนั้น”
อีกหนึ่งสิ่งที่ควบคู่ไปกับความพยายามฝึกฝนให้เกิดความแม่นยำ คือการรักษาสมาธิระหว่างการแข่งขัน เพราะสำหรับกีฬายิงเป้าบินจังหวะในการทำงานของร่างกาย ต้องเดินไปพร้อมกับจังหวะของความคิด
“ณ เวลานั้นไม่มีใครสามารถช่วยเราได้ต่อให้ฝึกกับโค้ชมา ณ เวลาแข่งต่อให้โค้ชมาพูดอาจจะเป็นผลเสียด้วยซ้ำ มันอยู่ที่การควบคุมตัวเอง
“เราต้องอยู่กับงาน กับโปรเซส เราต้องอยู่กับเป้าที่เราจะยิง เราต้องอยู่ตรงนั้น แต่ความที่เราเป็นมนุษย์มันก็จะมีความโลภ ความกลัว ความโกรธ ทำไม่ได้ ทำได้ กลัวจะแพ้ นึกออกใช่ไหม มีแต้มเดียวนะ เป้าบินพอมันไประดับโลก ยังคุยกับโค้ช ตอนนี้จ้างโค้ชชาวนอร์เวย์ ก็คุยกันว่าเราไปเขียนหนังสือเกี่ยวกับเป้าเป้าหนึ่งได้เลยนะ
“แบบ One Target เพราะว่าเป้าหนึ่งก็แพ้ เสมอกัน ไปอีกหนึ่งก็แพ้ เป้าหนึ่งก็ชนะ มันอยู่ที่เป้า เดี๋ยวเป้านั้นมันก็เลยเวลาที่เราขึ้นไป ภายใต้ความกดดันหลักความคิดมันก็แล้วแต่จะพุ่งเข้ามา ทีนี้เราก็ต้องฝึกว่าเราจะรู้ทันมันอย่างไร ทำอย่างไรให้เราโฟกัสกับงานที่เราต้องทำ
“จริงๆ ความคิดคนเรา ถึงต่อให้ไม่ใช่นักกีฬานะคะ ความคิดเรามันเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว บางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมเรานั่งทำงานอยู่ มือก็เขียนอะไรไป แต่ฉันกลับไปคิดถึงร้านหมูย่างเกาหลี คือเรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ว่าในกีฬาทำให้มันดูชัดเจนขึ้น ถ้าเราอยู่ดีๆ เราต้องทำอันนี้แล้วใจเราไปไหนต่อไหน ก็คือคุณแพ้กับคุณชนะ คุณเตรียมตัวมาทั้งหมดคุณพลาด ณ เวลานั้น ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยนะ ทีนี้เราก็ต้องไปฝึกให้เราพัฒนาของเราตรงนี้”
ในช่วงท้ายเรามีโอกาสได้ถามคำถามคาใจถึงโอลิมปิกปี 2016 ว่าด้วยเหตุใดเธอจึงไม่ได้พูดคุยกับสื่อมวลชนระหว่างที่ทำการแข่งขันเลย ซึ่งณียอมรับว่าตอนนั้นเธออยู่ในช่วงของการรักษาสมาธิเพื่อการแข่งขัน
“ตอนนั้นอย่างที่บอกว่าพิ่งได้เริ่มทำงานกับอาจารย์จิตวิทยา พิชิต เมืองนาโพธิ์ เทคนิคด้านจิตใจความคิดก็ยังไม่ Set in ด้วยแหละ มันเหมือนเพิ่งเริ่มทำแล้วมันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เป็นอะไรที่เราเห็นด้วยอย่างมาก แต่ว่าการที่จะฝึกจิตใจของคนคนหนึ่งมันทำไม่ได้หรอกในหนึ่งปี ต่อให้เราฝึกฝนเข้มข้นขนาดไหน
“เราเข้าใจปรัชญาของเขาทั้งหมด คือเขาเป็นคนที่เน้นปรัชญาโอลิมปิก คือ Olympicsm เราเข้าใจทั้งหมดแต่ว่าก็ยังไม่เป็นเรา เพราะฉะนั้นเวลาไปแข่งโอลิมปิก อย่างที่บอกเวลามีอะไรมากดดันเยอะ คือเราก็เลือกที่จะตัดแล้วเขาอาจจะมองว่าเราเก็บตัว แต่ว่าในมุมมองของนักกีฬาเรามีงานที่ต้องทำ แล้วเราก็ต้องพยายาม อย่างคนเป็นหวัด คุณจะยังไปเดินตากฝนอยู่ไหมล่ะ คุณก็ต้องอาบน้ำอุ่น กินวิตามินซี มันก็เป็นวิธีการจัดการของตัวเอง ณ เวลานั้น”
สุดท้ายเราได้สอบถามณีว่า กีฬาเป้าบินนี้สอนอะไรกับเราบ้างที่ผ่านมา ทั้งการฝึกซ้อม และการแข่งขันของกีฬาที่ต้องมีสมาธิ และอยู่กับตัวเองค่อนข้างมาก
“สอนเยอะเลยนะ ให้เราเป็นเราทุกวันนี้เลยแหละ เพราะว่ากับอาจารย์พิชิต สิ่งแรกที่เขาเข้ามาเริ่มทำงานด้วยกันเขาอธิบายว่า กีฬาคือสนามจำลองชีวิต เจอกันเหมือนชีวิตจริงที่ถูกบีบอัด มาอยู่ในช่วงนี้แล้วก็เข้มข้น พอเราผ่านสนามจำลองเรื่อยๆ แล้วเราพัฒนาไปในทางที่ถูก ตัวเองก็พัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็เห็นว่า โห! มันมีอีกเยอะที่เราต้องพัฒนา ต่อให้เราเคยเป็นที่หนึ่งของโลกวันหนึ่งมันก็ไม่เป็น แล้วทำอย่างไรจะให้ไปเป็นอีก พอเราพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ มันก็เชฟความคิดเชฟความเป็นตัวเรา เช่น ความไม่ประมาท ยิงปืนประมาทไม่ได้ ถ้าประมาทปุ๊บไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ไม่มีสติก็เลยประมาทถูกไหม มันชาเลนจ์มากเลยนะในทุกวินาทีที่ซ้อมในทุกๆ การแข่งขัน”
ก่อนที่เราจะแยกจากกัน ณีเดินออกมาจากห้องพักนักกีฬาพร้อมกับปืนลูกซองขนาด 12 เกจ และอุปกรณ์กีฬาของเธอ พร้อมกับถามเราสั้นๆ ว่า “ลองไหม”
ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธที่จะทดลองความรู้สึกนั้น เพราะว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งจะมีสักกี่คนที่ได้รับโอกาสเรียนยิงเป้าบินจากนักกีฬาทีมชาติไทย ที่สนามที่เธอลงฝึกซ้อมเพื่อไล่ล่าความเพอร์เฟกต์ในทุกๆ วัน
ซึ่งเมื่อเธอให้คำแนะนำต่างๆ ในการยิง พอเราเหนี่ยวไกแรกสิ่งที่รู้สึกคือคำอธิบายที่ ณีบอกว่า “ร่างกายเราก็ต้องแข็งแรงเพราะว่าปืนมันหนัก แล้วแรงถีบมันแรงมาก แรงถีบประมาณ 200 กว่า PSI ยางรถยนตร์ 30 PSI ใช่ไหมเวลายางระเบิด อันนี้คือทุกครั้งที่เรายิง 200 กว่า PSI”
และสิ่งสำคัญต่อจากนั้นคือการเล็งไปที่เป้าที่บินไปอย่างรวดเร็วในแต่ละครั้ง ไม่ว่าเราจะเล็งเผื่อหรือเล็งไปก่อนเป้า อย่างไรก็ตามมันคือการไล่ล่าจุดนัดพบที่เราต้องการ แต่สุดท้ายเราก็ไม่เคยไปถึงมันเลย
สุดท้ายเราคืนอุปกรณ์ให้กับณี นักกีฬาที่เราพบเจอแต่ไม่ได้พูดด้วยตลอดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ในปี 2016 มาวันนี้เธอหันมาพร้อมกับรอยยิ้ม และบอกเราสั้นๆ ว่า “วันนี้เข้าใจแล้วหรือยัง”
ติดตามชมคลิป Contemplation for One Target – เป้าหมายแห่งการคว้าชัยได้ทาง www.facebook.com/1683658098593742/videos/519388305776536
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์