วันนี้ (23 มกราคม) มีรายงานว่า ภายหลังสำนักงานอัยการสูงสุดตอบคำถามกองทัพเรือ 3 ข้อ เกี่ยวกับโครงการเรือดำน้ำที่จัดหาจากจีน และเกิดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ประกอบด้วย
- การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่
- การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไร
- การอนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์อำนาจอยู่ที่ใคร และกองทัพเรือได้ส่งรายงานให้ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วหรือยัง
ขณะที่สุทินเตรียมลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางและหาทางออกแก้ไขปัญหาการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน โดยมี พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และคณะทำงานชุดนี้จะมีสัดส่วนของทหารและพลเรือนใกล้เคียงกัน เช่น ตัวแทนอัยการสูงสุด นักวิชาการ ผู้แทนกองทัพเรือ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้อภิปรายเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำมาตลอดสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งได้ทาบทามและตอบรับเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น
โดยคณะทำงานชุดนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน นำคำตอบของอัยการมาร่วมกันหาทางออก และสามารถที่จะเรียกดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ตามต้องการ
วิโรจน์ว่าอย่างไร
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่สุทินมีแนวคิดที่จะตั้งคนจากพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจเป็นตนเองหรือ รังสิมันต์ โรม เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการกองทัพเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรือดำน้ำว่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านฝ่ายนิติบัญญัติมีคณะกรรมาธิการการทหาร และคณะกรรมาธิการความมั่นคง ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอยู่แล้ว และหากรัฐมนตรีจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบถ่วงดุล ขอเพียงแค่มีการให้ข้อมูลเปิดเผยถึงรายละเอียดสัญญา และตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัยของกรรมาธิการ ก็ดีในระดับหนึ่งแล้ว
แต่หากประเด็นใดเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติและการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็อาจจะพิจารณาได้ แต่ย้ำถึงหลักการตรวจสอบถ่วงดุลที่อำนาจนิติบัญญัติต้องไม่แทรกแซงฝ่ายบริหาร ซึ่งการตัดสินใจ ความรับผิดชอบ อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยยอมรับว่ามีประเด็นข้อกังวลว่าอาจนำความเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติไปอ้างอิงสำหรับการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลระบอบประชาธิปไตยทันที
“ในความรู้สึกของผมเรื่องความเป็นส่วนตัวของผมกับคุณสุทิน งานแต่งของลูกสาวก็แสดงความยินดี ไม่ได้มีปัญหากัน แต่ต้องการที่จะรักษาหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล ต้องการให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการทหาร หรือคณะกรรมาธิการความมั่นคง หรือบทบาทกระทรวงกลาโหมกับกรรมาธิการการทหาร ดีกว่าให้เป็นวิโรจน์หรือคนใดคนหนึ่ง ซึ่งคงไม่ได้มีประโยชน์อะไรขนาดนั้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะหารือกับสุทินประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งวันนี้จะพูดคุยในรายละเอียดก่อน ซึ่งยังไม่ทราบ เข้าใจว่าเจตนาที่จะร่วมกันคลี่คลายทางออกเป็นดำริที่ดี แต่ก็ต้องดูรายละเอียดก่อน หากการไปร่วมเป็นการทำลายหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งเท่ากับว่าเอาอำนาจนิติบัญญัติไปมีอิทธิพลต่ออำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนตัวมองว่าขัดกับหลักการประชาธิปไตย โดยหวังว่าจะทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมอย่างไร้รอยต่อมากขึ้น