×

สรุปประเด็นสำคัญจากงาน ‘Sustainable Thailand 2021’ กบข. รวมพลังนักลงทุนสถาบัน และธุรกิจธนาคาร มุ่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
01.10.2021
  • LOADING...
Sustainable Thailand 2021

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • Sustainable Thailand 2021 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นักลงทุนสถาบัน และธนาคาร ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยผลักดันภาคธุรกิจการเงินการลงทุนของไทย ให้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (PRI) และหลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (PRB) มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน 
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมพลัง 43 นักลงทุนสถาบันและธนาคาร ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 40.18 ล้านล้านบาท ร่วมลงนามความร่วมมือ นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคการเงินและการลงทุนของไทยแข็งแรง พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก

27 กันยายน 2021 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง, องค์การสหประชาชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย จัดงาน ‘Sustainable Thailand 2021’ โดยรวมพลังนักลงทุนสถาบันและธนาคารรวม 43 หน่วยงาน ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 40.18 ล้านล้านบาท ร่วมลงนามประกาศเจตจำนง ‘Sustainable Thailand’ ในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ บนหลักการลงทุนแห่งความยั่งยืน ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

 


โดยผู้นำจากหลากหลายองค์กรยังมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง นี่คือบทสรุปที่จะเป็นแนวทางให้ทุกธุรกิจที่อยากขับเคลื่อนด้วย ESG ได้นำไปใช้ รวมทั้งนักลงทุนที่กำลังสนใจประเด็นนี้ 

 

 

กล่าวเปิดงาน ‘Sustainable Thailand 2021’
โดย Mrs.Gita Sabharwal UN Resident Coordinator in Thailand, United Nations Thailand 

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

 

  • การลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะพาประเทศไทยก้าวเดินสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการที่ไม่รู้จบ แต่ละสถาบันจะต้องขับเคลื่อนตามจังหวะของตัวเองในการนำหลักการต่างๆ ไปใช้ 
  • บทบาทของ UN จะช่วยส่งเสริมจุดแข็ง องค์ความรู้ และทุนมนุษย์ของประเทศไทย ให้สามารถรับมือกับความท้าทายระดับสากล ผ่านยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย 
  • คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก เสนอชุดนโยบาย Build Forward Better เน้นไปที่การส่งเสริมการดำเนินงานด้านพลังงานสะอาดและงานด้านภูมิอากาศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ สำหรับประเทศไทย ชุดนโยบายนี้มีศักยภาพลดจำนวนคนยากจนจาก 6 แสนคนได้ เพิ่ม Output 10% ลดคาร์บอนได้ 17% ภายในปี 2030 

 

 

การสร้างอนาคตที่ฟื้นตัวได้โดยการธนาคารที่ยั่งยืน
โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway) 

  • รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC เป็นสัญญาณเตือนเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อีกทั้งยังเปราะบางในเรื่องของนโยบายที่ประเทศต่างๆ บังคับใช้เพื่อตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศ การส่งออกอยู่ในภาคส่วนที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่สูง และได้รับผลกระทบจากมาตรการและนโยบาย เช่น นโยบายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป
  • การธนาคารเพื่อความยั่งยืนมีบทบาทที่จะลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศได้ เนื่องจากธนาคารเป็นผู้มีบทบาทหลักในการให้สินเชื่อ มากกว่า 90% สินเชื่อภาคเอกชนมาจากภาคการธนาคาร จึงต้องบูรณาการเพื่อความยั่งยืนเอาไว้ใช้ในการตัดสินใจให้สินเชื่อ ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปรับปรุงเครื่องมือเรื่องการประเมินความเสี่ยง 
  • ธปท. พร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศการเงินการธนาคารเพื่อความยั่งยืน และมีการบูรณาการประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติงาน รวมถึงพัฒนาเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูล การประเมินความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น และจัดหมวดหมู่ห่วงโซ่ธุรกิจสีเขียวภาคการเงินที่สอดคล้องกันทั้งภาคการเงิน

 

 

หนทางสู่ตลาดทุนที่ยั่งยืนและอนาคตที่ยั่งยืน
โดย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

  • การพัฒนาตลาดทุนในประเทศไทย ก.ล.ต. อาศัยเครื่องมือ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงผลักดันทางสังคม, การออกหลักเกณฑ์ที่จำเป็น และในฝั่งของอุปทาน บริษัทจดทะเบียนไทยได้การรับรองจาก ESG โดยจำนวน 21 บริษัท อยู่ในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets 7 ปีต่อเนื่อง
  • ปี 2022 ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไปในรายงานผลประกอบการในรูปแบบ One Report ทั้งข้อมูลการปล่อยคาร์บอน และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับ UNGP โดย ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยให้การสนับสนุนคณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) 
  • ฝั่งอุปสงค์ในส่วนของนักลงทุนสถาบัน กบข. กองทุนรวมต่างๆ ก็ได้นำประเด็นของ ESG เข้าไปวิเคราะห์ความเสี่ยงและการตัดสินใจลงทุน การออกผลิตภัณฑ์หุ้นประเทศไทยก็ได้มีการออกกฎระเบียบสำหรับ Green Bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน 
  • ปีที่ผ่านมาประเทศไทยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในอาเซียน การระดมทุนก็ได้สนับสนุนในโครงการโรงไฟฟ้า และเยียวยาผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด โดยพันธบัตรดังกล่าวก็ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก และแพลตฟอร์มตราสารด้านสิ่งแวดล้อม
  • ก.ล.ต. ยืนยันเดินหน้าตามเป้าหมายการเงินที่ยั่งยืน และเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ตลาดทุนแห่งประเทศไทย และนโยบาย BCG Economy 

 

 

การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและฟื้นตัวได้ผ่านตลาดทุน
โดย ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway) 

  • ตลอด 46 ปี ตลท. มีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์ระดมทุนของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ และเป็นช่องทางหลักในการเก็บออมและการลงทุนของประชาชน ซึ่งพันธกิจโดยตรงคือส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
  • ในขณะที่ภารกิจด้านพัฒนาสังคม ตลท. เป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มพูนศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ให้คำแนะนำ และเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในตลาดทุน ให้สามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  • ตลท. มีโครงการริเริ่มเพิ่มความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน ภาคเอกชน และภาคสังคม โดยแบ่งเป็น 3 โครงการ Care the Whale โครงการจัดการขยะ, Care the Bear โครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ Care the Wild โครงการเพื่อสนันสนุนการปลูกป่า 
  • ช่วง 10 ปีที่ผ่าน ทั้ง 3 โครงการ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 12,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1.37 พันล้านต้น 
  • ตลท. อยู่ในช่วงพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลด้าน ESG ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมข้อมูลและบริการด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ช่วยให้มีการกำหนดรายการเปิดเผยข้อมูล ESG และเชื่อมโยงผู้ลงทุนเข้ากับข้อมูล ESG

 

 

ธนาคารต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตทางสังคม เพื่อให้ธนาคารสามารถสนับสนุนสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยการปฏิบัติการให้ดียิ่งขึ้นและทำให้มากขึ้น
โดย ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  


ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway) 

  • การพัฒนาความยั่งยืนมีความสำคัญต่อสถาบันการเงิน จำเป็นต้องมีใบอนุญาต 2 รูปแบบ คือ ใบอนุญาตการธนาคาร (Banking License) เพื่อดำเนินธุรกิจได้ตามกฎหมาย และใบอนุญาตทางสังคม (Social License) เพื่อให้ดำเนินธุรกิจทางสังคมได้ 
  • ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังคำนึงถึงการช่วยเหลือสังคม เช่น ให้การช่วยเหลือทางการเงินในช่วงวิกฤตโควิด รวมถึงวาระเร่งด่วนของโลก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ต้องจัดการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบ 
  • ด้านแวดวงธุรกิจการธนาคารไทย ได้รับความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยในการกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน โดยการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และการพัฒนานิยามการเงินสีเขียว (Green Taxonomy) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้เข้าร่วมลงนามรับ ‘หลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ’ หรือ PRB ของ UN ว่าด้วยริเริ่มด้านการเงิน ซึ่งจะเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจธนาคารอย่างยั่งยืนของโลก ครอบคลุมการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ และยังเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 
  • ด้านการสนับสนุนธุรกิจที่ยึดถือในหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) ธนาคารจะใช้เกณฑ์ ESG เป็นเครื่องมือในกระบวนการพิจารณาเครดิต 

 

 

กล่าวเปิดงาน ‘Sustainable Thailand 2021’
โดย ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway) 

  • กบข. ในฐานะนักลงทุนสถาบันที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก ดำเนินการลงทุนอย่างรับผิดชอบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติการ ซึ่งในระดับนโยบาย ได้กำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหารกองทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ให้สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I Code) และเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานอื่นๆ ที่กำหนดในประเทศไทย 
  • ที่ผ่านมา กบข. สนับสนุนให้นักลงทุนสถาบันในประเทศไทยรับรองมาตรฐานสากลในลักษณะเดียวกัน รวมถึงความตกลงอื่นๆ ที่จัดทำภายในประเทศ ความสำเร็จแรก คือ ความร่วมมือในการจัดทำแนวปฏิบัติ ‘การระงับลงทุน’ (Negative List Guideline) รวมถึงการเป็นหนึ่งในสถาบันที่ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network: TRBN) และลงนามปฏิญญาในพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ 
  • ในระดับปฏิบัติการ กบข. ได้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบมาพัฒนาและปรับใช้ในกระบวนการลงทุน ครบทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เริ่มจากวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนโดยพัฒนา GPF-ESG Weight and Score ร่วมกับ OECD และธนาคารโลก ซึ่งวิธีการคำนวณได้บูรณาการข้อมูลจาก MSCI ESG Database ซึ่งเป็นมุมมองระดับมหภาค และพัฒนาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการลงทุนของไทย 
  • นอกจากนั้น กบข. ยังมีบทบาทในฐานะเจ้าของกิจการที่จะต้องติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจสอดคล้องกับกรอบของ ESG 
  • โดยในปีนี้และปีหน้า กบข. จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชนในการลงทุน โดยทำงานร่วมกับ UNEP FI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำ Human Rights Heatmap และกรอบการทำงานร่วมกัน เพื่อบูรณาการปัจจัยด้านสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบรอบด้าน

 

 

กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘Sustainable Thailand 2021’
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

  • กระทรวงการคลังคาด เศรษฐกิจไทยปี 2021 จะเติบโตได้ที่ระดับ 1.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขค่อนข้างดี ขณะที่ปี 2022 คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ระดับ 4-5% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้กำลังเผชิญและต้องรับมือกับการระบาดของโควิด ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดหลายรอบ
  • ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะมีการวางแนวทางสำหรับประเทศไทยในการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน 
  • ในระยะต่อไปรัฐบาลวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและประชาชน จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วางนโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน ควบคู่กับการเร่งกระจายวัคซีน 
  • สำหรับการฟื้นตัวในระยะยาวนั้น ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญ ผ่าน 6 แนวทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เน้นสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีมูลค่าสูง นำวัสดุกลับมารีไซเคิลมากที่สุด 2. ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออก หรือ EEC 3. ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 4. ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงข่ายรับรองทางสังคม 5. ลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาความยากจน ผ่านการวางนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ และ 6. สนับสนุนบทบาทของตลาดทุนและการเงินในการพัฒนา Green Finance เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

 


การบูรณาการ ESG เส้นทางสู่การเติบอย่างยั่งยืนของประเทศไทย
โดย ดร.เสรี นนทสูติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway) 

  • กรอบการทำงานของ ESG เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นเข็มทิศที่สำคัญที่จะนำทางธุรกิจในการดำดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ESG จึงเป็นเหมือนใบอนุญาตประกอบกิจการของทุกบริษัท แต่แทนที่จะพิจารณาแค่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ควรจะรวม 3 ประเด็นนี้ไว้ด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจนำไปกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินธุรกิจและตัวบ่งชี้ในการปฏิบัติงานได้ 
  • ทว่า ความสำคัญในแต่ละวาระของ ESG ต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และขยะพลาสติก มีความสำคัญอย่างมาก ในขณะที่แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ ก็เป็นประเด็นทางสังคม และการต่อต้านคอร์รัปชันและการติดสินบนก็เป็นเรื่องของธรรมาภิบาล 
  • การบูรณาการ ESG โดยภาคธุรกิจ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์สำหรับรัฐบาลใน 3 ประเด็น คือ การหาจุดเชื่อมต่อระหว่าง ESG กับเป้าหมายโลก เมื่อธุรกิจมีหน้าที่บังคับใช้ SDGs เป็นการตอกย้ำให้รัฐสนับสนันธุรกิจ เพื่อรับรองแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนและการรายงานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกรอบของ ESG ในเรื่องของการเปิดเผยและการรายงาน เมื่อธุรกิจรับมือกับ ESG อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้รัฐสามารถบังคับตามหน้าที่ของตนในระดับสากล และสุดท้ายการบูรณาการ ESG เข้าไปในบริษัท จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 
  • ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลเกี่ยวกับ ESG มี 5 ประการ ได้แก่ 1. ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย สามารถกำหนดทิศทาง ความคาดหวัง แรงจูงใจทางการเงิน เช่น มาตรการทางภาษี  2. ในฐานะผู้กำกับดูแล คือ คปภ. หน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาหน่วยจะเป็นผู้กำหนดให้มีการบังคับ ESG และ กลต. จะมีการกำหนดระบบ One Report 3. ในฐานะผู้ลงทุน ใช้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการลงทุนผ่านพอร์ตโฟลิโอต่างๆ 4. บทบาทในทางปฏิบัติและหาเลี้ยงชีพของประชาชนในฐานะผู้ประกอบธุรกิจหรือในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ และ 5. ในฐานะผู้ตัดสินข้อเรียกร้องในกลไกร้องทุกข์ต่างๆ การละเมิดข้อกำหนดด้าน ESG ต้องมีการรับมือและเยียวยาผู้เสียหาย 

 



เสวนาหัวข้อ ‘การลงทุนอย่างยั่งยืน ดีต่อโลก แต่ไม่ดีต่อพอร์ตโฟลิโอ?’ 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย สุภาพร ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี

  • กรุงศรีเชื่อว่ากองทุนที่เน้นความยั่งยืนจะช่วยเรื่องผลตอบแทนที่ดี และช่วยบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะยาว ข้อดีคือ โอกาสถูกฟ้องร้องต่ำ ปัญหาคอร์รัปชันต่ำ มีต้นทุนของเงินทุนที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG 
  • กองทุนระดับโลกก็ผลักดัน ESG เข้ามาในการลงทุน บริษัทที่มี ESG ที่ดีจึงเข้าไปอยู่ในกองทุนเหล่านี้ได้ เช่น กองทุน AB Sustainable Global Thematic Portfolio เป็นมาสเตอร์ของกองทุนเปิดกรุงศรี Equity Sustainable Global Growth (KFESG) สร้างผลตอบแทนได้ถึง 20-23% ต่อปี เมื่อเทียบกับ Benchmark หรือกองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นธรรมาภิบาลไทย (KFTHAICG) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทีมีมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ดี ปีนี้ทำผลตอบแทนถึง 20% มากกว่า Benchmark
  • กรุงศรีมีการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน หรือ I Code กำหนดเป็นนโยบาย และใช้ปัจจัยด้าน ESG บริหารจัดการกองทุน รวมถึงนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีการจัดทำและส่งแบบสอบถามด้าน ESG ไปยังทุกบริษัทภายใต้ Universe การลงทุน และพิจารณาให้คะแนนด้าน ESG สิ่งที่จะทำเพิ่มเติมคือ นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนเป็นเรื่องง่าย สร้างความเท่าเทียมของผู้ลงทุน 
  • ส่วนประเด็นที่ว่าภาคธุรกิจควรร่วมกันอย่างไรเพื่อให้ Sustainable Investing เกิดขึ้นจริง กรุงศรีกล่าวว่า ในส่วนของ AIMC และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน 32 แห่ง ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ หรือ ESG Collaborative Engagement และนำหลัก SDGs มาใช้เป็นเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนขององค์กร 

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด 

  • ESG ทำให้มี Sustainable Investing และ Sustainable Return และการคำนึงถึง ESG จะสร้างภูมิคุ้มกันให้บริษัทมีความยั่งยืน ลดผลกระทบการถูกดิสรัปต์ นี่คือปัจจัยสำคัญ 
  • นอกจากนั้น ESG ช่วยลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น Regulatory Risk, Reputation Risk หรือ Operational Risk
  • การนำ ESG มาสู่การปฏิบัติ ในฐานะ Asset Management ต้องนำ ESG เข้ามาบูรณาการกับการลงทุน ส่งผ่าน ESG สู่ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในหุ้นไทย เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าการลงทุน ESG ในเมืองไทยจะฝากความหวังระยะยาวได้ เช่น กองทุน SCBTHAICG ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2017 ผลตอบแทน 12.6% ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน 
  • ทั้งนี้ ESG Score ที่ไทยพาณิชย์ทำจะนำไปสู่ ESG Quality เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการมองหาปัจจัยการลงทุนของเมืองไทย และทำให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนในอนาคต

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย (KAsset) 

  • มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2018 บริษัทจดทะเบียนกว่า 2,000 บริษัท จากผลประกอบการใน 22 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผลตอบแทนจากบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ ESG ที่ดี จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดโดยเฉลี่ย และใน 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนที่เน้น ESG จะทำผลตอบแทนชนะ Benchmark โดยรวมเช่นกัน
  • ธนาคารกสิกรเข้าร่วมลงนามรับ ‘หลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ หรือ PRB’ และเตรียมให้ KAsset เข้าร่วมลงนามหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ หรือ PRI
  • จะได้เห็นว่า KAsset นำกระบวนการ ESG มาใช้ในการลงทุนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งการจัดทำนโยบาย ESG ภายใน และนำ ESG มาประกอบการพิจารณาการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม จัดประเมินผลงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ลงทุน และพัฒาแนวปฏิบัติพร้อมทบทวนกระบวนการตลอดเวลา และการจัด Rating ESG  
  • ปีนี้ Kasset มีการทำเช็กลิสต์และทำ Section Interview เพื่อนำข้อมูลที่ได้ประกอบการพิจารณา แม้ว่าน้ำหนักการให้ปัจจัย E-S-G ในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน แต่ส่วนของ G สำคัญที่สุด จึงให้เรตติ้งส่วนของ G อย่างต่ำ 30% 
  • ที่ผ่านมาจัดตั้งกองทุนรวม KTHAICGRMF กองทุนเปิดเค หุ้นธรรมาภิบาลไทยเพื่อการเลี้ยงชีพ ร่วมมือกัน 11 บลจ. มี Universe รวมกัน และมีคณะกรรมการการลงทุนที่รวมตัดสินใจ ด้านกองทุนต่างประเทศมีสองกองคือ K-CHANGE และ K-CLIMATE 

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย ชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ. MFC

  • ประโยชน์ของการลงทุนด้าน ESG จะส่งผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่ Growth การขยายตัวของบริษัท เปิดตลาดใหม่ มีลูกค้ากลุ่มใหม่, Productivity เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบ นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดก๊าซคาร์บอน หรือการบริหารความสัมพันธ์ของคนในองค์กร และ Risk Management ลดความเสี่ยงในหลายด้าน เช่น การฟ้องร้อง
  • MFC ชูคำมั่นสัญญาเรื่อง ESG ทั้งด้านนโยบายบริษัทและหลักปฏิบัติสายการลงทุน ตั้งแต่ระดับบอร์ดในแง่นโยบายบริษัท อาทิ การตอบรับ I-Code ตามหลักธรรมภิบาลการลงทุน ที่ร่วมมือกับ กลต. และนำปัจจัย ESG รวมเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจการลงทุน ติดตาม และยกระดับร่วมกับผู้ลงทุน รวมถึงเป็นสมาชิกของ CAC หรือการกำหนดนโยบายแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ และมี CG Board
  • ด้านปฏิบัติ MFC มีปรัชญาการลงทุนที่ต้องมีการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการพัฒนา ESG Score Metrics อย่างต่อเนื่อง รวมถึงก่อตั้ง ESG Fund ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กองทุนธรรมาภิบาลไทย หรือ MFCG ซึ่งลงทุนในหุ้นไทยโดยเฉพาะ และ MFC Renewable Energy Fund ที่ลงทุนในกองทุน BGF Sustainable Energy Fund
  • MFC มองว่าตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่อง Data หรือการเซ็ต KPI ของ ESG เพื่อให้บริษัทต่างๆ นำไปใช้ได้ทันที 

 

บทสรุปของหัวข้อนี้คือ การลงทุนอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อโลกและสังคม ยังรวมไปถึงผลการดำเนินงานที่ดีของกองทุนอีกด้วย

 

 

หลักเกณฑ์การเงินที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
โดย Mr.Eric Usher Head, UN Environment Programme Finance Initiative, UNEP

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)

  • หลักเกณฑ์การวิเคราะห์การลงทุนจะดูถึงหน้าที่หลักที่จะได้รับความไว้วางใจในการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG เข้ามา เช่น PRI และ PRB ซึ่งการพัฒนา PRI หรือหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ทำขึ้นโดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ 2 แห่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับความริเริ่มด้านการเงิน ภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) 
  • ส่วน PRB หรือหลักการการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ หัวใจคือ การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จนถึงวันนี้มีธนาคารลงนามไป 250 แห่ง จาก 69 ประเทศ ร้อยละ 40 อยู่ในธุรกิจธนาคาร ประเทศไทยมี ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารออมสิน เป็น 2 ธนาคารแรกที่ได้ลงนามนำหลัก PRB ไปใช้

 

 

เสวนา หัวข้อ ‘ความยั่งยืนมีความเข้ากันกับกลยุทธ์ธุรกิจของธนาคารไทยอย่างไร’ 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย สัณฐาน อยู่ศิริ รองผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์ ธนาคารออมสิน 

  • ธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทุกจังหวัด พิจารณาว่าธนาคารเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่หากตัดสินใจทำสิ่งใดย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง การตัดสินใจลงนามใน PRB เป็นสิ่งหนึ่งที่ธนาคารมองเห็นถึงผลกระทบระยะยาวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ จึงต้องประเมินความเสี่ยงและเตรียมรับมือจากผลกระทบดังกล่าว และในฐานะธนาคารภาครัฐยังมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนไทยที่มีรายได้น้อยหรือธุรกิจ SMEs ในการทำให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย Mr.Renaud Meyer ผู้แทนโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย

  • ขณะนี้ UNDP เสนอแพลตฟอร์ม INFF หรือ Integrated National Financing Framework ดึงกระแสการเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมาร่วมกัน ให้ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้บริษัทปรับตัวเข้ากับนโยบาย ตัดสินใจได้อย่างดี การจัดสรรกระแสเงินเป็นไปด้วยความยั่งยืน 
  • UNDP ยังต้องการกระตุ้นภาคการประกันภัยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ให้เกิดความยั่งยืน ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วิเคราะห์ปัญหาเพื่อวางแผนการดำเนินงาน ค้นหาเครื่องมือประเมินความเสี่ยงอย่างดี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  • นี่เป็นการสัมมนาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถึงเวลาที่ต้องดูว่าโครงการที่มีในมือตอนนี้มีอะไร และทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ และทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญของโลกในเรื่องการลงทุนและการธนาคารอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย ศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ในฐานะหน่วยงานที่จัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด หากธนาคารจัดการกลยุทธ์ได้อย่างดีย่อมได้ประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการจะทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ต้องมีแรงจูงใจที่ดีในระบบนิเวศ ต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่จับต้องได้ คำถามคือ ทำอย่างไรให้มั่นใจว่าเราจะมีระบบนิเวศที่ทำให้ภาคการธนาคารเร่งการดำเนินในจุดนี้ได้ และนำไปอยู่ในการดำเนินการภายในองค์กร 
  • หลักการพัฒนาของ Green Taxonomy จะพิจารณาเทียบกับประเทศอื่นๆ และต้องดูในบริบทของประเทศไทยประกอบ เช่น บางอุตสาหกรรมจะไม่เหมือนกับเศรษฐกิจยุโรป โดยหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งธนาคาร TBA และ AIB อีกทั้งยังทำงานกับกระทรวงอื่นๆ เช่น สำนักงานพัฒนานโยบายสิ่งแวดล้อม และในระดับอาเซียน เพื่อให้สมาชิกอาเซียนทั้งหมดนำ Green Taxonomy ไปใช้ได้

 

ประเด็นสำคัญ (Key Takeaway)
โดย ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

  • ธนาคารได้เงินจากการบริหารความเสี่ยง เพราะเราบริหารความเสี่ยงทุกวัน เราควรจะเข้าใจความเสี่ยง ระบุให้ได้และบรรเทาให้เป็น การบริหารจัดการความเสี่ยงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดเวลา โควิดเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าธนาคารให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญและการจัดสรรทรัพยากรที่มี 
  • ในทางกลับกัน การลงทุนก็จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของนักลงทุน ถ้านักลงทุนไม่รอด เราก็ไม่รอด นอกจากจัดลำดับความสำคัญ ยังต้องช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาไปต่อ นี่จึงเป็นเป้าหมายระยะยาวที่จะต้องเสียสละผลประโยชน์บางอย่างในระยะสั้น
  • ในระยะสั้นเราอาจต้องปฏิเสธการให้เงินทุนกับเมกะโปรเจกต์ที่ไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน เป็นการตัดสินใจที่ยาก แปลว่าเราต้องหันหลังให้หลายธุรกรรม แต่หากทุกธนาคารมองเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงระยะยาวเพื่อเห็นโลกใบนี้ดีขึ้น และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธุรกิจที่มี ESG ก็จะทำให้เราเข้าสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืนได้ในไม่ช้า

 

และนี่คือบทสรุปจากมุมมองของภาครัฐ นักลงทุนสถาบัน และธนาคาร ที่มุ่งดำเนินงานไปสู่เป้าหมายเดียวกันที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้แรงบันดาลใจ และบูรณาการหลัก ESG กับธุรกิจของคุณ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising