×

เปิดพอร์ตจำลองการลงทุนหุ้นยั่งยืน เพิ่มความอุ่นใจการลงทุน

09.04.2021
  • LOADING...
เปิดพอร์ตจำลองการลงทุนหุ้นยั่งยืน เพิ่มความอุ่นใจการลงทุน

กระแสการลงทุนในหุ้นยั่งยืนกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีเพราะความต้องการที่มีสูงจากฝั่งของผู้ลงทุนถือว่าจะมีอิทธิพล และส่งแรงกดดันต่อบริษัทจดทะเบียนที่ต้องทำธุรกิจให้อยู่รอดอย่างเข้มแข็ง และเพิ่มมิติการดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม และด้วยธรรมาภิบาล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการประเมินผลเพื่อคัดเลือกบริษัทที่ทำเรื่องนี้ได้ดีจนสามารถติดอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI หรือ Thailand Sustainability Investment List) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน (2563) SET ได้ประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน 124 ตัว ซึ่งผู้ลงทุนสามารถนำไป Screen สร้างพอร์ตหุ้นยั่งยืนด้วยตนเองได้ บทความตอนนี้จะให้ความรู้พื้นฐานเรื่องหุ้นยั่งยืน THSI ของ SET และทดลองทำพอร์ตหุ้นยั่งยืนเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ลงทุนนำไปประยุกต์ และปฏิบัติจริงในการลงทุนต่อไป

 

1. รู้จักหุ้นยั่งยืน ‘THSI’

SET จัดทำ Thailand Sustainability Investment (THSI) หรือรายชื่อหุ้นยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนตามแนวทางของการลงทุน อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment)

หุ้นใน THSI จะถูกคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนจากบริษัทที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่จัดทำโดย SET จะมีการทบทวนแบบประเมินทุกปีให้สอดคล้องกับบริบทและแนวโน้มด้านความยั่งยืนที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากลและระดับประเทศ บริษัทที่อยู่ใน THSI ต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืน อย่างน้อง 50% ในแต่ละด้านของ ESG หรือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน และไม่สร้างผลกระทบด้าน ESG การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และหน่วยงานในตลาดทุนเป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือกอย่างโปร่งใส

หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในรายชื่อ THSI ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพของการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ มีการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น (Emerging Risks) อีกทั้งมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับและบริหารจัดการประเด็นต่างๆ ที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกจากนี้ SET ยังได้จัดทำดัชนีความยั่งยืน SETTHSI Index โดยคัดเลือกหุ้นจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) ปีล่าสุดที่มีการซื้อขายใน SET ไม่น้อยกว่า 6 เดือนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว และมีจำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัทในเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน การจัดทำ SETTHSI Index จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนที่สนใจใช้กลยุทธ์การลงทุนที่ Tracking หุ้นตามดัชนี เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนแบบ Passive ต่อไป

สำหรับรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ปีล่าสุด (2563) จำนวน 124 รายชื่อ ผู้ลงทุนสามารถดูได้จาก www.setsustainability.com รวมทั้งดาวน์โหลดได้ทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

 

2. การสร้างพอร์ตจำลองหุ้นยั่งยืน

จากข้อมูลรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI 124 รายชื่อ ผมจะลองใช้หลักการคัดกรองหาหุ้นดี ราคาไม่แพงในลักษณะที่เป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี โดยอาศัยข้อมูลและ Financial Ratio ที่สำคัญที่สรุปจากงบการเงินประจำปี 2563 และทำการเรียงลำดับเพื่อนำหุ้นยั่งยืนทั้ง 124 ตัวนี้มาคัดเลือก โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (เท่า) หรือ P/E Ratio ซึ่งอัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำเท่าใดจะสะท้อนถึงราคาของหุ้นว่ามีราคาถูก
  • อัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (เท่า) หรือ P/B Ratio ซึ่งอัตราส่วนนี้คล้ายกับ P/E Ratio คือยิ่งต่ำเท่าใด หมายถึงหุ้นนั้นมีราคาที่ถูก โดยเฉพาะถ้ามีค่าต่ำกว่า 1 เท่า แสดงว่าราคาตลาดของหุ้นถูกกว่ามูลค่าตามบัญชีเสียอีก
  • อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (%) หรือ Dividend Yield ซึ่งมีวิธีการคำนวณโดยนำเงินปันผลจ่าย (บาท) หารด้วยราคาของตลาดหุ้นนั้น เพื่อสะท้อนว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาตลาด หากสมมติว่าราคาตลาดหรือราคาปิดนั้นเป็นเงินลงทุนในหุ้นนั้น ซึ่งยิ่ง Dividend Yield มีค่าเป็นบวกมากๆ ก็จะยิ่งทำให้หุ้นนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น
  • อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) หรือ ROE ซึ่งคำนวณจาก กำไรสุทธิ หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นและทำให้อยู่ในรูปเปอร์เซ็นต์ อธิบายว่าบริษัทได้นำเงินทุนที่เปรียบเสมือนเจ้าของไปทำธุรกิจ บริษัทที่ทำได้ดีย่อมจะทำให้ได้รับกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเศษมีจำนวนเงินได้มาก ดังนั้นเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ยิ่งบริษัทมีค่า ROE สูงย่อมทำให้หุ้นของบริษัทนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity) หรือ D/E ซึ่งคำนวณจาก หนี้สินรวมหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น เอาไว้อธิบายว่าเงินทุนของบริษัทมาจากหนี้สินเท่าใด มาจากส่วนของทุนภายในเท่าใด ยิ่งอัตราส่วนนี้มีค่าสูงมากกว่า 1 เท่า เท่าใด จะสะท้อนว่าบริษัทใช้เงินทุนจากภายนอกมากเท่านั้น ซึ่งค่ายิ่งสูงความเสี่ยงทางการเงินก็จะยิ่งสูง เพราะต้องมีภาระจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายที่สูง แต่ถ้าบริษัทบริหารงานได้ดี แม้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยแล้วยังมีกำไรและกระแสเงินสดจากการทำธุรกิจได้อยู่ก็จะไม่มีปัญหามากนัก

 

การคัดกรองหุ้นยั่งยืนของผม จะเอาหุ้น 124 ตัวดังกล่าวมาดูค่า Ratio ทีละตัว และหาค่าเฉลี่ยของ Ratio ไว้แล้วเรียงลำดับ ต่อมาจะคัดเลือกหุ้น 30 อันดับแรกที่ดีของแต่ละ Ratio ถัดจากนั้นก็จะคัดว่าในบรรดาหุ้น 30 ตัวมีใครบ้างที่มีค่า Ratio ทั้ง 5 Ratio ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ผลดังกล่าวทำให้คัดกรองหุ้นยั่งยืนตามเงื่อนไขนี้ได้ 12 ตัว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

 

จากข้อมูลข้างต้นที่คัดกรองหุ้น THSI มาได้ 12 ตัวนี้ ก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ลงทุนไปลงมือสร้างพอร์ตหุ้นยั่งยืนได้ง่ายขึ้นกว่าสร้างพอร์ตจากหุ้น 124 ตัว ซึ่งผู้ลงทุนสามารถไปลงลึกอ่านข้อมูลธุรกิจและวิเคราะห์หุ้น 12 ตัวนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดีผมจะลองหาเหตุผล Screen หุ้น 12 ตัวนี้ให้เหลือน้อยลง โดยส่วนตัวผมคิดว่า Fundamental Ratio ที่สำคัญที่สุดคือ ROE เพราะสะท้อนฝีมือในการทำธุรกิจจริงๆ และเป็นกำไรจาก Ratio นี้เป็นส่วนที่ตกมาถึงผู้ถือหุ้น จากข้อมูลในตาราง ผมก็ใช้หลักง่ายๆ กำหนดเอาเองว่า ผมสนใจบริษัทที่มีค่า ROE มากกว่า 15% ต่อปี ซึ่งปี 2563 เกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ใครที่ฝ่าฟันได้ก็น่ายกย่องมาก (ตัวเลขนี้กะเอา ไม่ได้บอกว่าบริษัทที่ได้น้อยกว่านี้หมายถึงแย่นะครับ เป็นการล้อมวงหาหุ้นลงทุนให้วงแคบเข้ามาเท่านั้น) ซึ่งหากใช้หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ หุ้น THSI 12 ตัวก็จะเหลือเพียง 5 ตัว ดังต่อไปนี้

 

 

ซึ่งหากเราย้อนไปตั้งพอร์ตหุ้น 5 ตัวนี้ด้วยเงินเท่าๆ กัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2559 และมาออก ณ วันที่ 5 เมษายน 2564 (วันล่าสุดที่เขียนบทความ) พอร์ตหุ้นยั่งยืน 5 ตัวนี้จะมี Return ในส่วน Capital Gain และ Loss ดังนี้

 

 

หากเราเริ่มลงทุนด้วยเงิน 70.40 บาทใน 4 ปีที่แล้ว พอร์ตจำลองข้างต้นนี้จะเติบโตเป็น 113.92 บาทในปัจจุบัน และได้รับ Net Capital Gain 43.52 บาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมตลอด 5 ปี เท่ากับ (43.52/70.40) X 100 = 61.82 % ต่อปี หรือคิดคร่าวๆ เป็นประมาณ 15.46% ต่อปี

 

 

จากข้อมูลเงินปันผลของหุ้น THIS ทั้ง 5 ตัว ตลอด 4 ปี ได้รับเงินปันผลเฉลี่ยปีละ 2.831 บาท หากสมมติว่าจากเงินลงทุน 70.40 บาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2559 และลงในลักษณะถือระยะยาวมา 4 ปี (Buy and Hold) คิดเป็น Dividend Yield เท่ากับ (2.831/70.40) x 100 = 4.02% ต่อปี ซึ่งแม้ว่าจะไม่สูงมากนัก แต่ก็ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารโดยเปรียบเทียบ


อนึ่ง การคำนวณผลตอบแทนพอร์ตหุ้นยั่งยืนนี้ยังไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหุ้น ค่าธรรมเนียมต่างๆ และภาษีที่เกี่ยวข้อง และการใช้ข้อมูลจากอดีตไม่ได้ยืนยันว่าข้อมูลอนาคตจะเหมือนกัน ผู้ลงทุนจะต้องติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างใกล้ชิดด้วย

การสร้างพอร์ตจำลองหุ้น THSI นี้ เป็นเพียงตัวอย่างและแนวทางเพื่อให้ผู้ลงทุนได้เรียนรู้และทดลองปฏิบัติ การทำความเข้าใจจริงๆ ว่า หุ้นยั่งยืนนั้น ยั่งยืนมาจากอะไร เป็นหุ้นที่ทั้งดีและเก่งนั้น มาจากสาเหตุใด การเข้าไปศึกษาข้อมูลของบริษัทเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อท่านผู้ลงทุนเข้าใจแล้ว การลงทุนในหุ้นที่ยั่งยืนนั้น ผมคิดว่า จะทำให้ท่านรู้สึกสบายใจ นอกจากผลตอบแทนที่เรารอคอยแล้ว เรายังดีใจอุ่นใจที่ช่วยสนับสนุนบริษัทที่เราเชื่อมั่นว่าทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบด้วย ขอให้ท่านผู้ลงทุนโชคดีครับ

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising