×

องค์ความรู้และงานวิจัยจะไม่ถูกแขวนขึ้นหิ้งอีกต่อไป เมื่อถูกนำไปปรับใช้จะทำให้เกิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สำหรับ ‘สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์’ หรือ ‘นิด้า’ ความสำคัญของงานวิจัยคือการนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดผลโดยแท้จริง 
  • พูดคุยกับตัวแทนมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตจากนิด้า ในฐานะ ‘คนของสังคม’ ในการต่อยอดผลงานวิจัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ผลงานวิจัยที่สร้างขึ้นและต่อยอดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เราได้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว

เราต่างได้ยินคำว่า ‘งานวิจัย’ กันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องมี และทำไปเพื่ออะไร

 

คำตอบคือ ‘งานวิจัย’ จะเป็นดั่งสารตั้งต้นที่ทำให้ทราบข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งนำมาใช้เป็นประโยชน์เพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาในด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยให้ค้นพบทฤษฎีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ 

 

แต่สำหรับ ‘สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์’ หรือ ‘นิด้า’ ความสำคัญของงานวิจัยคือการนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดผลโดยแท้จริง เพื่อส่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับคนที่อยู่รุ่นหลัง ผ่านการประสานศาสตร์รอบด้าน ตลอดจนพัฒนาร่วมกับชุมชน

 

วันนี้เราจึงได้พูดคุยกับตัวแทนมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตจากนิด้า ในฐานะ ‘คนของสังคม’ ต่อยอดผลงานวิจัยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

ดร.กล้า มณีโชติ

กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ บี เอ็น เอ็นจิเนียริง คอนซัลแตนท์ จำกัด

 

“เราจะต้องส่งต่อทรัพยากรที่ดีมีคุณภาพให้กับคนรุ่นหลัง และสร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เสียงสะท้อนจากดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่มองว่าปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เองเราจะต้องใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ 

 

“การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วน ต้องกลับมาทบทวนว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไปในทิศทางใด และตระหนักว่าเราเป็นคนใช้ทรัพยากร ต้องนึกถึงคนรุ่นหลังที่จะต้องใช้ต่อไป”

 

ดร.กล้า กล่าวว่า ในการเข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกกับนิด้า ทำให้ได้มีโอกาสทำการศึกษาวิจัยเรื่องความเหมาะสมของการจัดการกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ ซึ่งการพัฒนาโครงการเหมืองแร่มีทั้งด้านบวก คือมีการได้นำเงินค่าภาคหลวงแร่จากการใช้ทรัพยากรแร่มาพัฒนาโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ 

 

แต่ขณะเดียวกันบางส่วนอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นควรนำเงินส่วนหนึ่งจากการพัฒนามาช่วยสนับสนุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่ และเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชน ในแต่ละปีผู้ประกอบการเหมืองแร่ก็ต้องมีการนำเงินเข้ามาใส่ในกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้นำผลการวิจัยนี้ไปใช้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการกองทุนให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ต่อไป

 

ดร.อนงค์ลักษณ์ พันธุ์พรหมธาดา

นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สถาบันพระบรมราชชนก

 

ดุษฎีบัณฑิต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะช่วยปรับสมดุลของสภาพแวดล้อมจาก ‘ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์’ และจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มต้นจากการ ‘พัฒนาสมรรถนะของตนเอง’ เสริมทักษะ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม จัดระบบความคิดให้เป็นระบบ นำสิ่งที่ได้มาปรับปรุงพัฒนางานให้ดีขึ้น 

 

“การพัฒนาสมรรถนะของตนเอง เป็นการปลุกพลังในตัวเอง แล้วเราจะสามารถนำพลังเหล่านั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น ‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาสังคมและประเทศได้อย่างยั่งยืน”

 

 

ดร.ปวีณ นราเมธกุล

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

 

“การประสานศาสตร์กฎหมายร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ทำให้มองเห็นภาพกฎหมายเป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นวิชาการอย่างเดียว” ดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ให้มุมมองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า เป็นการพัฒนาที่เกิดองค์รวมหรือความสมดุล ทำให้คนรุ่นหลังสามารถดำเนินงานกับกลุ่มงานเดิมได้ 

 

“ถ้ามองตัวอย่างการพัฒนาแบบ S-Curve ตัว S จะเป็นเหมือนเลขแปด (8) ที่จุดเริ่มต้นกับตอนสุดท้ายมาประจบกัน ก็เหมือนกับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”

 

ดร.ปวีณ เล่าว่า ในการทำงาน เรานำระบบความคิดที่ได้รับจากงานวิจัยไปใช้ปรับปรุงรูปแบบขององค์กร รูปแบบของกฎหมายจัดตั้งในรูปแบบที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนกับวิสาหกิจต่างๆ ในประเทศไทย 

 

โดยหลักคิดของนิด้าทำให้ได้คิดว่า ต่อไปอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะต้องบูรณาการประสานศาสตร์ระหว่างศาสตร์ของกฎหมายกับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือการบริหารธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้ และการเรียนรู้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในระบบ เกิดการส่งต่อความรู้ความสามารถและประสบการณ์การทำงานให้กับคนรุ่นหลังได้ ซึ่งหากว่าไม่ได้ทำงานแบบบูรณาการต่อกัน การพัฒนาเหล่านั้นก็จะเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

 

 

อภิชญา ปิยะปราโมทย์

วิศวกรวางแผนอาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (นิคมอุตสาหกรรมนวนคร)

 

มหาบัณฑิต คณะสถิติประยุกต์ ได้ต่อยอดงานวิจัยผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสถิติด้านโลจิสติกส์ ลดความสูญเสียจากกระบวนการวางแผนการผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันองค์กรทางด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน 

 

อภิชญาเล่าถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เป็นการปรับปรุงนโยบายการสั่งซื้อสินค้า ประเภทอะไหล่เครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องจากการปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรจะเป็นเฉพาะฤดูกาล เพราะฉะนั้นต้องปรับปรุงการสั่งซื้อสินค้าให้สอดคล้องกับฤดูกาลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด จากการที่เราปรับปรุงนโยบายทำให้สามารถลดต้นทุนการจัดสินค้าคงคลังได้ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี

 

“การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องไม่มองแค่ในระยะสั้นและไม่มองแค่มุมของตัวเอง ต้องมองไปถึงอนาคต สิ่งรอบข้าง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแง่มุมต่างๆ ทั้งบุคคลและสิ่งแวดล้อม มนุษย์อยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน คนอื่นอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”

 

 

ดร.ปีติการ พัฒนวิทย์

ประกอบธุรกิจส่วนตัวด้านอสังหาริมทรัพย์

 

ดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการสร้างประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวเราเอง และเราสามารถเชื่อมโยงให้เกิดความยั่งยืนได้จากสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวัน งานที่เราทำ รวมถึงงานวิจัยที่เราทำ โดยต้องมองว่างานวิจัยนั้นสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้แก่สังคมได้บ้าง นับเป็นการส่งต่อสิ่งดีๆ และต่อยอดความรู้ให้กับคนรุ่นหลังด้วย

 

ดร.ปีติการ เผยว่า ได้ผนวกงานด้านอสังหาริมทรัพย์เข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยผลงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความฉลาดทางจิตวิญญาณและจิตวิญญาณในองค์กรที่มีผลต่อประสิทธิภาพ หรือว่ามีผลต่อพฤติกรรม ความนึกคิดของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในการทำงานอย่างไร 

 

“เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหญ่ในประเทศ การที่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์สามารถจับกลุ่มลูกค้าได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสิ่งที่ลูกค้าต้องการก็สามารถช่วยในด้านเศรษฐกิจให้เติบโต รวมถึงลูกค้าที่ได้เจอกับหมู่บ้านที่ถูกใจ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะทำให้มีสุขภาวะที่ดี”

 

 

นพ.ยอด ปิ่นโรจน์

นายแพทย์เชี่ยวชาญประสาทวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 

คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา มหาบัณฑิต คณะภาษาและการสื่อสาร ที่ก้าวเข้ามาศึกษาต่อและนำความรู้จากการเรียนและผลงานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมในบริบทของการสนทนาของแพทย์และผู้ป่วยไปต่อยอดในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าใจผู้ป่วยได้อย่างลึกซึ้ง 

 

โดยเล่าว่าจากผลการวิจัยทำให้ได้พบว่า แพทย์และผู้ป่วยมีการใช้การพูดคุยแบบสัพเพเหระ (Small Talk) ที่แตกต่างกัน แพทย์จะใช้ Small Talk ในการเบี่ยงเบนความสนใจและสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทำให้การรักษาผู้ป่วยง่ายขึ้น เมื่อมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย ผู้ป่วยก็จะทำตามคำแนะนำแพทย์ได้ง่ายขึ้น

 

“ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ ประกอบกับการแพทย์ของประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก แพทย์มีโอกาสที่จะรองรับการรักษาผู้ป่วยจากหลากหลายชาติมากขึ้น การมีความเข้าใจในภาษาของชาวต่างชาติอย่างลึกซึ้งสามารถทำให้เราสื่อสารกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การดูแลรักษาที่ดี ผู้ป่วยชาวต่างชาติเกิดความประทับใจก็จะพากันเข้ามารักษา ทำให้สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศและชุมชนโดยรอบพื้นที่ได้ ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน”

 

ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการที่เราจะต้องเติบโตก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมและให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างยืนยาว เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ เราอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน และสิ่งแรกที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เป็นคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อเรามีความพร้อมแล้วเราก็จะมีสติปัญญาที่จะสามารถทำหน้าที่ของเราให้ดี และเราก็จะมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในสังคมต่อไปได้

 

และนี่เป็นผลงานวิจัยที่สร้างขึ้นและต่อยอดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เราได้เห็นว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม มาร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยการสร้างปัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ‘NIDA’ WISDOM for Sustainable Development 

 

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ที่ www.nida.ac.th และ sdgs.nida.ac.th

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising