‘เพราะโลกเปลี่ยน เราจึงต้องปรับ’
ในยุคที่สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผลกระทบจากโลกร้อนไม่เพียงแต่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดภัยธรรมชาติรุนแรง และสร้างความไม่สมดุลต่อระบบนิเวศ แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจทั่วโลก หลายประเทศออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่ออกมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสูง เพื่อกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้าและผู้ผลิตทั่วโลกหันมาปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความท้าทายที่เกิดขึ้น แต่นักธุรกิจหลายท่านยังคงมีคำถามว่า การปรับตัวในยุคโลกร้อนเช่นนี้ ควรเริ่มต้นจากตรงไหน?
นี่เองคือจุดเริ่มต้นของ Expertise Room ห้องเรียนสำหรับนักธุรกิจในงาน The Secret Sauce Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ ‘From Idea to Impact with SOLAR, REC, and CARBON in ACTION: เครื่องมือปลดล็อก SMEs โตกระโดดในยุคโลกเดือด’ โดยมี ปิยวรรณ สุวัจนานนท์, วรินคกรณ์ วัทน์รวิณินท์ และ จันทร์นภา กิจไพบูลทวี จาก PEA หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยสรุป 3 เครื่องมือหลัก ดังนี้
ติดตั้งโซลาร์: พลังงานสะอาดที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต
การติดโซลาร์ คือการเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เพื่อนำมาใช้ลดต้นทุนการผลิต แผงโซลาร์จะทำหน้าที่ดูดซับแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมา แล้วเปลี่ยนพลังงานดังกล่าวให้กลายเป็นไฟฟ้า
“ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะเหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์” จันทร์นภาแนะนำว่า ก่อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์ควรเริ่มต้นด้วยการสำรวจว่าธุรกิจมีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากเพียงใด หรือหากกำลังวางแผนเปิดธุรกิจใหม่จะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับใด โดยทั่วไปกิจกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลักๆ มักมาจากการสร้างความร้อนและการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเป็นอันดับสอง เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทอื่นๆ หลังจากสำรวจเสร็จจึงจะเริ่มเลือกโซลาร์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ
โดยระบบการติดตั้งโซลาร์แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
- ระบบ Off Grid: ใช้ไฟจากโซลาร์ควบคู่กับแบตเตอรี่ เหมาะกับพื้นที่ห่างไกลจากระบบจำหน่ายไฟ เช่น โรงแรมบนเกาะ
- ระบบ On Grid: ใช้ไฟจากโซลาร์ควบคู่กับระบบไฟฟ้า เหมาะกับกิจการที่ใช้ไฟในช่วงกลางวันสูง เช่น ร้านกาแฟ ร้านทำผม เป็นระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ติดตั้งง่ายและคืนทุนไว
- ระบบ Hybrid: ใช้ไฟจากทั้งโซลาร์ แบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้า ควบคู่กันไป เหมาะกับบ้านหรือธุรกิจที่ใช้ไฟตลอดเวลา มีต้นทุนสูง
“ผู้หญิงอาจมีลิปสติกหลายสี แต่เมื่อเลือกโซลาร์ควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องติดตั้งเกินความต้องการ”
จันทร์นภาอธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางการติดตั้งโซลาร์ให้ประสบความสำเร็จ โดยชี้ให้เห็นว่า กุญแจสำคัญคือการลงทุนกับโซลาร์จะช่วยลดต้นทุนการผลิตมากน้อยเพียงใด การติดตั้งควรพิจารณาปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป และที่สำคัญต้องติดตั้งกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด
PEA SOLAR บริการติดตั้งโซลาร์แบบครบวงจร เริ่มต้นด้วยการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อประเมินว่าธุรกิจของคุณเหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์รูปแบบใด จากนั้นจะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจสถานที่จริง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการติดตั้ง เช่น ความร่มเงาที่อาจบังแสงแดด หรือความแข็งแรงและโครงสร้างของหลังคา ขั้นตอนต่อมาคือการออกแบบระบบและจำนวนแผงโซลาร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน พร้อมติดตั้งและให้บริการบำรุงรักษาครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี
ความโดดเด่นของ PEA SOLAR คือการมีจุดบริการครอบคลุมทั้ง 74 จังหวัด พร้อมอุปกรณ์และทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า ให้คุณมั่นใจได้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลตลอดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ PEA ยังมีพันธมิตรทางธุรกิจที่พร้อมช่วยเหลือธุรกิจของคุณ และการติดตั้งแผงโซลาร์ที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 25 ปี จะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว ทั้งยังอาจได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีตามหลักเกณฑ์ของ BOI ซึ่งเป็นประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจของคุณ
REC: โอกาสใหม่ในการเพิ่มรายได้ผ่านการผลิตพลังงานสะอาด
ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) เป็นเอกสารที่ยืนยันว่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล
ในระดับสากลหลายประเทศเริ่มออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่มีมาตรการควบคุมการปล่อยคาร์บอนอย่างเข้มงวด อีกหนึ่งมาตรการสำคัญคือ RE100 ซึ่งเป็นความริเริ่มระดับโลกที่ส่งเสริมให้บริษัทชั้นนำใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินธุรกิจ การเป็นส่วนหนึ่งของ RE100 ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความไว้วางใจจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปิยวรรณอธิบายเพิ่มเติมว่า
“ในบริบทของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งคิดเป็น 40% ของการผลิตยานยนต์โลก การให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นความจำเป็น ธุรกิจในไทยที่ต้องการส่งออกไปยังยุโรปและประเทศอื่นๆ จึงต้องคำนึงถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สินค้าของตนไม่ถูกกีดกันจากตลาดสากล การใช้ REC จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยธุรกิจไทย สามารถแสดงให้เห็นว่าการผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติตามมาตรฐานระดับโลก”
การใช้ REC ยังมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านต่อภาคธุรกิจ ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและพันธมิตรทางธุรกิจที่ต้องการ สนับสนุนบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งโอกาสที่สำคัญคือ ธุรกิจที่มี REC สามารถสร้างรายได้เสริมจากการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทที่มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเกินความต้องการสามารถขายใบรับรองนี้ให้กับบริษัทอื่นที่ต้องการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม
PEA มีบริการ REC One Stop Service โดยจัดหาใบรับรอง REC ตามประเภทเชื้อเพลิง รวมถึงการให้บริการไถ่ถอนและส่งมอบ REC นอกจากนั้นยังมีการรับบริการขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตไฟฟ้า และจัดหา REC ของผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ที่ต้องการใบรับรอง REC อีกด้วย
carbonform : ตัวช่วยเตรียมพร้อมสู่ยุคโลกเดือด
ในการประชุม COP27 ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาหลายประการเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 จากระดับปี 2020 ซึ่งวรินคกรณ์เห็นว่า “การเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรการในอนาคตควรเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน การเตรียมตัวจึงควรเริ่มจากการวัดปริมาณคาร์บอนผ่าน carbonform เพื่อทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แท้จริง ก่อนที่จะตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero Emission
carbonform โดย PEA เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการและประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เครื่องมือนี้ช่วยในการจัดเก็บข้อมูลให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือกับการปฏิบัติตามมาตรการหรือกฎระเบียบในอนาคต นอกจากนี้ยังสร้างความได้เปรียบในด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้สามารถวางแผนการลดต้นทุนในการเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรที่คุ้มค่า เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
ในช่วงท้ายของ Expertise Room ในหัวข้อนี้ วรินคกรณ์เน้นย้ำว่า
“SMEs ควรเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้ เปรียบเสมือนการเตรียมตัวก่อนที่ไฟจะมาถึง หากไฟมาจริงแต่ไม่ได้เตรียมการไว้ก็ยากที่จะรับมือได้ทัน”
นอกจากนี้ การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน carbonform ถือเป็นแกนกลางที่สำคัญของธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบแนวทางในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emissions อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจะนำไปสู่การใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การติดตั้งโซลาร์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเสริมสร้างความยั่งยืน หรือมองหาทางเลือกอื่นๆ เช่น การซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อสร้างมาตรฐานธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น