×

‘เมื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องของกลยุทธ์’ กลั่นแนวคิดสร้าง ‘Sustainability Framework ปั้นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน’ จาก THE SME HANDBOOK by UOB Season 6 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2023
  • LOADING...

นับจากนี้ ธุรกิจจะอยู่รอดและเติบโตได้ดีในระยะยาว เรื่องความยั่งยืนคือประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป แม้จะถูกมองว่าการบรรลุเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจไม่ได้มีทรัพยากรเหลือเฟือ มีเงินทุนไม่มากนัก จะสามารถทำเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่ และจะเริ่มต้นอย่างไร 

 

Sustainability Framework

 

ไม่ง่าย แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ พนอจันทร์ จารุรังสีพงศ์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนองค์กร และ GRI Certified Sustainability Professional ชวนมองความยั่งยืนในมุมใหม่ เมื่อ ‘ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นเรื่องของกลยุทธ์’ ดังนั้นการเริ่มต้นทำเรื่องความยั่งยืนจึงต้องเริ่มที่ ‘มายด์เซ็ต’ 

 

แต่จะเริ่มอย่างไร คิดแบบไหน นี่คือบทสรุปที่ได้จากการแชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับบริษัทที่ต้องการปั้นธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ ‘Sustainability Framework ปั้นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน’ กลยุทธ์สุดท้ายจาก THE SME HANDBOOK by UOB: Growth Hack in Recession ตำรา SMEs ปรับกระบวนทัพ รับมือเศรษฐกิจถดถอย 

 

ในฐานะที่คลุกคลีและให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนขององค์กรมาแล้วหลายขนาดและหลายรูปแบบ พนอจันทร์ให้นิยาม ‘ความยั่งยืน’ ในมุมมองส่วนตัวออกเป็น 2 ระดับคือ ความยั่งยืนระดับโลก และความยั่งยืนในระดับองค์กร (Corporate Sustainability)

 

“ความยั่งยืนระดับโลก ก็จะเป็นไปตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ คือการส่งมอบความสามารถในการใช้ชีวิตของเราในวันนี้ไปสู่เจเนอเรชันถัดไป พูดง่ายๆ คือ ส่งมอบสังคมที่ดีหรือทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อให้เขาไปใช้ในอนาคตได้เหมือนกับที่เราใช้ ดังนั้นธุรกิจหรือภาคเอกชนที่มีการจ้างงาน ใช้ทรัพยากร และสร้างมลพิษเยอะมากๆ จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ 

 

“ในขณะที่ ความยั่งยืนในระดับองค์กร (Corporate Sustainability) ถ้าถามว่าทำไมองค์กรของคุณถึงต้องยั่งยืน ก็เพราะคุณต้องซัพพอร์ตโลกใบนี้ ความยั่งยืนของธุรกิจจะช่วยสนับสนุนความยั่งยืนของโลกโดยรวม” พนอจันทร์กล่าว 

 

เมื่อถามถึงโอกาสของ SMEs ที่ต้องการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน พนอจันทร์ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ดีกว่าบริษัทใหญ่นั่นก็คือ ‘ความคล่องตัว’ 

 

“เพราะขนาดที่เล็กจึงคล่องตัว ตัดสินใจได้ง่าย และปรับตัวเองได้ง่ายกว่าบริษัทใหญ่ และหากมองเรื่องของการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในเรื่องของกฎหมายและความสนใจของผู้บริโภค จึงมีช่องทาง Niche Market ที่ SMEs สามารถแทรกตัวเข้าไปหาโอกาสทางธุรกิจได้จากตรงนั้น” 

 


Sustainability Framework

 

วิธีสร้างสมดุลให้อยู่รอดในระยะสั้น และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว 


“ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกทำ แต่เป็นเรื่องของมายด์เซ็ตที่เราต้องทำเพื่อความยั่งยืนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องของกลยุทธ์ ถ้าเราสามารถผนวกความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในธุรกิจได้ เราก็จะอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจถดถอย” 

 

พนอจันทร์อธิบายต่อว่า เนื่องจากความสนใจของผู้บริโภคหรือกฎหมายต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปแม้เศรษฐกิจจะถดถอย ดังนั้นหากเราสามารถจัดการทรัพยากรปัจจุบันและมองไปถึงอนาคตด้วย เมื่อวันที่เศรษฐกิจกลับมาอยู่จุดเดิม จะสร้างความยั่งยืนได้ในระยะยาว 

 

“จะเลือกใช้ทรัพยากรอะไร คุณต้องรู้ก่อนว่าประเด็นไหนสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนั้นที่จะทำให้คุณอยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ต้องมองให้เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย อย่ามองแค่ระยะสั้น ต้องมองภาพรวม” 

 

 

เฟรมเวิร์กสำหรับ SMEs ในการจัดลำดับประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนภายในองค์กร 

 

ต้องเข้าใจก่อนว่า การจะหาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของแต่ละธุรกิจมันไม่เหมือนกัน เช่น ธนาคาร แกนหลักคือการบริการ ดังนั้น คน คือประเด็นสำคัญสำหรับธุรกิจ แต่สามารถดูภาพรวมเบื้องต้นได้จาก GRI (Global Reporting Initiative) ที่บอกว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีประเด็นอะไรบ้างที่สำคัญ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องของ ESG 

 

“ESG ถ้าองค์กรจัดการไม่ดีจะกลายเป็นความเสี่ยง แต่ถ้าบริหารจัดการได้ดีจะช่วยส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนขององค์กรและความยั่งยืนของโลก” 

 

ดังนั้นแต่ละธุรกิจจะต้องมาวิเคราะห์อีกทีว่าอะไรที่เหมาะกับธุรกิจของเราจริงๆ โดยดูจากเช็กลิสต์นี้ 

 

  1. วัตถุประสงค์ของธุรกิจ ธุรกิจมีวิสัยทัศน์อย่างไร กำลังส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับสังคม สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่ง 
  2. ปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบอะไรกับธุรกิจ เช่น เทรนด์ของโลก การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค หรือกฎหมายต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป 
  3. ธุรกิจเราสร้างผลกระทบอะไรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยดูจากห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง ในแต่ละกิจกรรมเราสร้างอะไร แล้วเราจะสามารถเพิ่มคุณค่าลงไปในแต่ละห่วงโซ่ได้อย่างไร 

 

“เมื่อรู้ 3 ประเด็นสำคัญแล้ว ให้นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อหาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของธุรกิจ เพื่อนำไปวางกลยุทธ์และวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและโฟกัสได้ถูกจุด” พนอจันทร์กล่าว 

 

คำแนะนำสำหรับ SMEs ที่มีทรัพยากรจำกัด 

 

พนอจันทร์แนะให้เริ่มจากความรับผิดชอบต่อผลกระทบของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร สิ่งที่ทำได้ทันที เช่น ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม อย่างการรับกลุ่มคนพิการเข้ามาทำงาน หรือจ้างงานผู้สูงอายุที่เขาอยากมีรายได้ ขณะเดียวกันยังสามารถลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธุรกิจควบคู่กัน เช่น จัดการขยะจากกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 

 

“หากเริ่มต้นได้ดี ขั้นต่อมาคือ ทำให้ดีขึ้น เช่น กฎหมายกำหนดให้ปล่อยน้ำเสียได้เท่านี้ แต่เราจะทำให้ดีกว่านั้น โดยเอาน้ำไปรีไซเคิลในกระบวนการให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราลดค่าน้ำประปาได้อีก ในขณะที่เราก็ช่วยโลกได้มากขึ้นด้วย นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนในมิติทางสังคมก็ทำได้ เช่น ดูแลพนักงานดี พนักงานก็รักองค์กร อยากทำงานให้ดีขึ้น ผลผลิตก็ดีตามมา ไม่มีความล่าช้า ลูกค้าพอใจ สุดท้ายผลกระทบเชิงบวกก็จะกลับมาที่ธุรกิจของเราเช่นเดียวกัน” 

 

วัดผลสำเร็จด้านความยั่งยืนอย่างไร 


โดยทั่วไปจะมี GRI หรือกรอบการรายงานความยั่งยืนเป็นตัวชี้วัด และยังสามารถนำมาตั้งเป็นเป้าหมายให้เชื่อมโยงกับธุรกิจได้ เช่น วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องเปิดเผยในรายงานหรือบนเว็บไซต์ในเรื่องอะไรบ้าง หรือมีการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติเท่าไร ปล่อยน้ำทิ้งเท่าไร รวมถึงจำนวนน้ำที่รีไซเคิลในธุรกิจ 

 

“ถ้าคุณอยากรู้ว่าประสบความสำเร็จในการทำเรื่องความยั่งยืนหรือไม่ ให้ย้อนกลับไปดูที่วัตถุประสงค์ของธุรกิจ วิสัยทัศน์คืออะไร และเป้าหมายระยะยาว 5-10 ปี เราอยากอยู่ที่จุดไหน แล้วกลับมาดูว่าตอนนี้ยังมีช่องว่างอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง เพื่อตั้งเป้าหมายเป็นช่วงๆ และขยับไปจนกว่าจะถึงจุดสูงสุดที่เราต้องการ” พนอจันทร์ยังแนะวิธีวัดผลความสำเร็จด้านความยั่งยืนด้วยการตั้งเป้าแบบ SMART Goals

  • S = Specific เป้าหมายต้องชัดเจน 
  • M = Measurable วัดผลได้
  • A = Achievable มีความเป็นไปได้ สามารถไปถึงได้จริง
  • R = Relevant เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราทำอยู่
  • T = Time-Bound มีระยะเวลาที่กำหนดชัดเจนในการติดตามผล เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี

 

Sustainability Framework

 

อย่าติดกับดัก ‘Green Washing’ 


หนึ่งในประเด็นที่หลายคนกำลังพูดถึงเมื่อพูดถึงเรื่องความยั่งยืนคือ Green Washing หรือ ‘การฟอกเขียว’ วิธีการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทที่ผลิตสินค้าต่างๆ ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจริง พนอจันทร์ยกตัวอย่างกรณีของบริษัทแห่งหนึ่งขายถุงชาและเคลมว่าสามารถย่อยสลายได้ สามารถนำไปฝังกลบใต้ดินได้ แต่ปรากฏว่าผ่านไป 1 ปีไม่ย่อยสลาย เกิดเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างนักวิจัยและผู้ใช้งานว่าในสภาพแบบไหนถึงควรจะใช้คำว่า ‘Biodegradable’ ถึงขนาดที่ว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานใหม่ ‘Product Environmental Footprint’ (PEF) เป็นมาตรฐานวัดค่าทางสิ่งแวดล้อม (Green claims) หรือการวัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบจนถึงสิ้นวงจรอายุของผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อขจัดปัญหา Green Washing 

 

“ตอนนี้มีไปถึง Rainbow Washing แล้ว คือการที่เราเฉลิมฉลอง Pride Month โดยที่องค์กรของคุณไม่ได้ส่งเสริมเรื่องนี้ แต่เฉลิมฉลองเพื่อเกาะกระแสเท่านั้น ในขณะที่ภายในองค์กรยังไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงทัดเทียมผู้ชายหรือไม่ต้อนรับเพศทางเลือก ยังมีอีกหลายคำเช่น SDG Washing คือนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปประกาศว่าธุรกิจส่งเสริม SDG แต่ในความเป็นจริงธุรกิจไปทำลาย SDG ข้ออื่นและไม่พูดถึงมัน ส่วน Cherry Picking คือเลือกทำเรื่องง่ายๆ และเคลมว่าทำแล้ว 

 

“อย่ามองการทำสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทางลัดในการสร้างภาพหรือสร้างกระแส เพราะเมื่อมีข้อบังคับให้เปิดเผยข้อมูลจะส่งผลเสียให้กับองค์กรในระยะยาว” พนอจันทร์กล่าว 

 

 

กรณีศึกษาขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืน

 

พนอจันทร์ยกตัวอย่างร้าน ‘เป็นลาว’ ร้านอาหารที่เขาใหญ่ เริ่มต้นธุรกิจเพียงเพราะต้องการช่วยเหลือลูกน้องเก่าที่สูงอายุและตกงานให้มีรายได้ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ เป็นร้านอาหารของคนตัวเล็กที่มี Big Inspiration ซึ่งคนตัวเล็กหมายถึงคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลัง หรือเด็กๆ ที่อยู่ในละแวกนั้นที่ต้องการทำงานแบ่งเบาภาระทางบ้าน ก็จะให้มาทำงานที่นี่ อีกทั้งร้านนี้ยังใช้วัตถุดิบออร์แกนิกจากชาวบ้านในท้องถิ่น และไม่ใส่ผงชูรสเลย ซึ่งตรงนี้คือการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ทำให้จากร้านเพิงเล็กๆ ที่ขายได้วันละ 30 บาท ผ่านมา 15 ปี ขยายธุรกิจสามารถเปิดสาขาที่สิงคโปร์ และได้ Michelin Bib Gourmand ถึง 2 ปีซ้อน และยังเป็นร้านอาหารไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้เปิดบูธใน Formula 1

 

หรือแบรนด์ Levi’s® ที่เคยทำ Life Cycle Assessment (LCA) หรือการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ พบว่าการผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัว ใช้น้ำประมาณ 4,000 ลิตร และทำวิจัยว่าน้ำอยู่ส่วนไหนของกระบวนการผลิต ผลที่ได้คือ ขั้นตอนการปลูกฝ้ายและการฟอกย้อมใช้น้ำเยอะที่สุด รวมถึงเวลาที่ผู้บริโภคซักกางเกงยีนส์ จึงทำแคมเปญต่างๆ เช่น ที่สิงคโปร์ มีการรณรงค์ให้ลูกค้าใส่นานๆ ซักน้อยๆ เพื่อประหยัดน้ำ และถ้าค่าน้ำลดลงจากเดือนที่แล้ว สามารถนำส่วนต่างมาใช้เป็นส่วนลดการซื้อกางเกงยีนส์ตัวต่อไป 

 

คำแนะนำทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการ SMEs 

 

“สิ่งที่ควรจะเพิ่มเติมเข้าไปในการทำธุรกิจนับจากนี้คือเรื่องของ ‘Sustainability Mindset’ เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เราสามารถเบลนด์มันเข้าไปในแนวคิดตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ถ้าทำได้ดีมันจะช่วยส่งเสริมเรา จะดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดโอกาสใหม่ๆ เข้ามา

 

“อย่ากลัวว่าลงทุนไปแล้วจะเสียเปล่า ถ้าไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยบริษัทของคุณก็ยั่งยืนแน่นอน”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising