กลยุทธ์ที่บริษัทแฟชั่นหลายแห่งนิยมใช้เพื่อขยายการเติบโตคือ ‘การผลิตเพิ่ม’ อย่างไรก็ตาม การใช้ทรัพยากรแบบไม่จำกัด และกระบวนการผลิตต่างๆ กลับทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และกลายเป็นช่องโหว่ในการผลักดันนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกในวงการแฟชั่นได้ประกาศมาตรการด้านความยั่งยืนออกมามากมาย โดยแทบทุกบริษัทล้วนมีแผนการหรือวางแผนเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- Apple จะอุทธรณ์คำสั่งของบราซิลที่สั่งปรับเงิน 88 ล้านบาท และห้ามขาย iPhone ที่ไม่มี ‘อะแดปเตอร์ชาร์จ’ มาในกล่อง
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- Brand & Marketing Trend 2022: เปิดเทรนด์ยุคใหม่ของโลกหลังโควิด แบรนด์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่
โดยความคิดริเริ่มเหล่านี้ทำให้คำศัพท์ ‘การหมุนเวียน’ (Circularity) ได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้เกิดการคำนวนคาร์บอนฟุตพรินต์ครั้งใหญ่
ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก 2-8%
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ การหารือเกี่ยวกับจำนวนสินค้าที่บริษัทต่างๆ ควรผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยังเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ในทางกลับกัน การหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์เพื่อทำให้ธุรกิจแฟชั่นขยายตัวกลับมีอยู่มากมาย
H&M บริษัทค้าปลีกแฟชั่นจากสวีเดนได้ให้คำมั่นว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 56% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับปี 2019 และได้รับ ‘B’ จากการเปิดเผยข้อมูลสภาพอากาศในปี 2564 จาก CDP ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร
นอกจากนี้ H&M ยังพยายามลดการใช้น้ำและพลาสติก รวมถึงพึ่งพาวัสดุรีไซเคิลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่แน่ว่าจะช่วยโลกได้จริงไหม เนื่องจาก H&M ผลิตเสื้อผ้าประมาณ 3 พันล้านชิ้นต่อปี ท่ามกลางความคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องการให้ H&M เอาชนะคู่แข่งบริษัทอื่นๆ ได้
ขณะที่ Elisa Niemtzow รองประธานฝ่ายผู้บริโภคและสมาชิกระดับโลกของ BSR ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์มักกล่าวว่า ‘เป้าหมายด้านสภาพอากาศ’ และ ‘กลยุทธ์การขยายธุรกิจ’ เป็นเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ การดำเนินกลยุทธ์ทั้งสองอย่างควบคู่กันอาจทำให้เป้าหมายไม่ประสบความสำเร็จได้ หรืออาจเป็นไปได้สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียว แต่ไม่ใช่สำหรับการลดใช้ทรัพยากร และถึงแม้จะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอย่างเช่น Gucci สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 15% เมื่อเทียบกับระดับปี 2019 แม้ว่าบริษัทกำลังพยายามกระตุ้นยอดขายไปด้วย ตามรายงานของ Business of Fashion
สำหรับตัวอย่างทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดการขยายตัวสูงสุด การผลิตสินค้าน้อยลงแต่มีคุณภาพสูงขึ้น และการทำให้สินค้าคงคลังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ผุดขึ้นมา เช่น การขายต่อทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องนุ่งห่มไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ หรือการเช่าสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตใหม่ทั้งหมด การเพิ่มขึ้นของธุรกิจขายต่อ ให้เช่า ซ่อมแซม และสร้างใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘ธุรกิจหมุนเวียน’ เหล่านี้สามารถทำให้คาร์บอนฟุตพรินต์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นลงได้ประมาณ 1 ใน 3 ของสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามรายงานของมูลนิธิ Ellen MacArthur
Niemtzow กล่าวอีกว่า คนที่ทำงานด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังทำเป็นไม่เห็นปัญหา ในเรื่องที่มีการผลิตและการบริโภคที่เกินขนาดมาหลายปีแล้ว แต่เรายังคงค้นหาโมเดลที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางให้กับเรา
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-17/big-fashion-s-sustainability-push-has-a-huge-hole
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP