×

‘โลกรวน’ ทำปากีสถานจมบาดาล ประชาชนทุกข์ยาก ถึงขั้นดื่มน้ำท่วมประทังชีพ

01.09.2022
  • LOADING...

“วันนี้มันคือปากีสถาน แต่พรุ่งนี้อาจเป็นประเทศคุณ” สารจากอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่อาจเตือนสติให้ใครหลายคนตระหนักถึง ‘วิกฤตโลกรวน’ (Climate Change) ที่นับวันจะยิ่งคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราทุกขณะ 

 

ปากีสถานคือตัวอย่างล่าสุดของประเทศที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Events) โดยฝนที่ตกหนักผิดปกติทำให้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศตอนนี้กำลังจมอยู่ใต้บาดาล นับเป็นอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่มีประชาชนกว่า 230 ล้านคนต้องรับกรรมร่วมกัน

 

  • ทำไมจึงท่วมสาหัส

 

– ผู้เชี่ยวชาญพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาวะโลกรวนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปากีสถานเผชิญกับฝนที่ตกหนักผิดปกติ เฉพาะเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนทั้งปากีสถานสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5 เท่า ขณะบางพื้นที่เลวร้ายยิ่งกว่า เช่น ในแคว้นสินธ์ ซึ่งมีน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9 เท่า 

 

– ด้วยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากภาวะโลกรวน ทำให้อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้น้ำบนผิวโลกระเหยกลายเป็นไอน้ำและจับตัวเป็นก้อนเมฆมากขึ้น จนถึงจุดหนึ่งก็เกิดเป็นฝนที่ตกหนักลงมา โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1 องศา จะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นถึง 5%

 

– แม้ที่ผ่านมาทุกๆ ปี ปากีสถานจะเผชิญกับฝนตกหนักเป็นประจำในช่วงฤดูมรสุม แต่ฝนที่ตกหนักรุนแรงในปีนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งมรสุมในรอบนี้ยังอยู่ยาวนานผิดปกติ เนื่องจากโดยทั่วไปนั้นช่วงฤดูมรสุมจะคงอยู่ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หรือในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แต่ฝนในปีนี้มาเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน

 

– รายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกปี 2021 โดย Germanwatch ระบุว่า ปากีสถานรั้งอันดับ 8 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสี่ยงด้านภาวะโลกรวน โดยภูมิภาคเอเชียใต้ถือเป็นจุดเสี่ยงสูงสุด ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีสิทธิ์ตายเพราะผลกระทบจากโลกรวนสูงกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกถึง 15 เท่า

 

– แต่น่าเศร้าว่าหากมาดูตัวเลขกันจริงๆ แล้ว ปากีสถานกลับเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก แต่กลับต้องมารับเคราะห์กรรมที่น่าเศร้าเช่นนี้ จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า ปากีสถานคือเหยื่อจากการกระทำอันไร้ความผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

  

– เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของปากีสถาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นปากีสถานเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากปัญหาภาวะโลกรวน ทั้งคลื่นความร้อน เหตุน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำท่วมทะลักจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง และล่าสุดคือมรสุมที่รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ จนหลายพื้นที่ของปากีสถานในตอนนี้มีสภาพเหมือนกับเป็นทะเลไปแล้ว

 

– “เราส่งเครื่องสูบน้ำให้กับประชาชน พวกเขาถามกลับมาว่าจะให้สูบน้ำไปที่ไหน ตอนนี้ทั้งประเทศกลายเป็นทะเลแล้ว ไม่มีที่แห้งให้เราสูบน้ำออกแล้ว ฉะนั้นนี่คือวิกฤตที่ใหญ่มากจนจินตนาการไม่ออกเลย” เรห์มานกล่าวถึงความทุกข์ยากของประชาชน

 

– เมื่อปี 2010 ปากีสถานเคยเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 2,000 ราย ถือเป็นฝันร้ายที่ยังติดอยู่ในใจของพวกเขา แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ในปีนี้คาดว่าจะเลวร้ายกว่าปี 2010 มาก ขณะยอดผู้เสียชีวิตยังจ่อเพิ่มสูงขึ้นอีก

 

– สาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน หนึ่งคือการที่เขื่อนหรือคันกั้นน้ำพังทลายลงมา และสองคือเหตุน้ำท่วมฉับพลัน โดยสภาพภูมิศาสตร์ของปากีสถานมีหลายพื้นที่เป็นภูเขาลาดชันสูง ส่งผลให้น้ำไหลเร็วและแรงขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ การตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำยิ่งไหลทะลักรุนแรง

 

  • เสียหายหนักแค่ไหน

 

– ปัจจุบันพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานจมอยู่ใต้บาดาล มีบ้านเรือนที่พังเสียหายทะลุ 1 ล้านหลัง ขณะยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกือบแตะ 1,200 คน ส่วนผู้บาดเจ็บอยู่ที่ราว 1,600 คน โดยคาดว่ามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 33 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศกว่า 230 ล้านคนทั่วประเทศ

 

– เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน กล่าวว่า เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นถือว่าเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เม็ดเงินอย่างน้อย 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

– สำหรับภาพรวมความเสียหายทั่วประเทศนั้น มีสะพานพังไปแล้วเกิน 100 แห่ง ถนนพังไปกว่า 3,000 กิโลเมตร สัตว์ที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกือบ 8 แสนตัวตายหมด ส่วนพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 2 ล้านเอเคอร์

 

– พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะแคว้นสินธ์และแคว้นบาลูจิสถาน ซึ่งแคว้นสินธ์นั้นนับว่าเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชที่มีอาณาเขตกว้างขวาง เปรียบเสมือนครัวของปากีสถาน โดยมียอดการผลิตอาหารคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของทั้งประเทศ

 

– สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พืชผลเสียหายหนัก อีกทั้งยังไม่สามารถเพาะปลูกใหม่ได้จนกว่าจะถึงฤดูกาลถัดไป ซึ่งทำให้ปากีสถานสูญเสียรายได้มหาศาลจากการส่งออก แถมยังกดดันให้รัฐบาลจำต้องนำเข้าธัญพืช ผัก และอาหารจากต่างชาติ รวมถึงประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วในประเทศ

 

– ข้อมูลเศรษฐกิจเผยให้เห็นว่า ปัจจุบันปากีสถานเหลือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศพอที่จะใช้สำหรับนำเข้าสินค้าจำเป็นได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งเกือบแตะ 25%

 

– อีกหนึ่งปัญหาที่ตามมาคือประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยตอนนี้ราคาผักในปากีสถานพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ ถึงกับที่พ่อค้าขายผักเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีลูกค้าหลายคนเข้ามาถามราคาแต่ก็กลับไปมือเปล่า เพราะของแพงจนซื้อไม่ไหว

 

  • ประชาชนทุกข์ยาก ถึงขั้นต้องดื่มน้ำท่วมประทังชีพ

 

– ภาพความทุกข์ยากของประชาชนมีให้เห็นทุกหย่อมหญ้า ผู้คนมากมายที่ตอนนี้ไร้บ้าน ไร้น้ำดื่ม ไร้อาหารประทังชีวิต ต้องออกเดินทางเพื่อหาที่แห้งอาศัยอยู่ชั่วคราว หลายครอบครัวที่เป็นคนยากจนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า พวกเขาเดินเท้าอยู่หลายวันกว่าที่จะเจอพื้นที่แห้งและได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตอนนี้แม้จะต้องอาศัยด้วยการปลูกเพิงอยู่ริมถนนก็ยอม

 

– วิดีโอจากสื่อต่างประเทศเผยให้เห็นภาพที่น่าเศร้า เมื่อชาวปากีสถานต่างกรูกันเข้าไปยื้อแย่งอาหารและอุปกรณ์ยังชีพจากหน่วยงานช่วยเหลือ เพราะหมดหนทางที่จะดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง

 

– ด้านสุขอนามัยนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะลำพังแค่จะเอาชีวิตรอดยังยากลำบาก หลายคนทุกข์ทรมานด้วยโรคผิวหนังที่เกิดจากน้ำท่วมขังที่ไม่สะอาด

 

– โดยล่าสุดนั้นแพทย์ได้ออกมาเตือนว่าปากีสถานมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ที่มากับน้ำ เพราะตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยโรคท้องร่วงและมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงทำให้ประชาชนหลายคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ หลายครอบครัวต้องใช้น้ำที่ท่วมขังเพื่อมาดื่มประทังชีพ จนร่างกายติดเชื้อและป่วยในที่สุด

 

– นอกจากนี้ กลุ่มคนที่น่าห่วงอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มสตรีมีครรภ์ และผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประมาณการว่า มีสตรีมีครรภ์ราว 650,000 คนในพื้นที่น้ำท่วม โดยมี 73,000 คนที่มีกำหนดคลอดในเดือนหน้า 

 

– ขณะหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือสตรีได้พยายามจัดหาผ้าอนามัยให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพราะตอนนี้สภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงนับได้ว่ายากลำบากอย่างยิ่ง หลายครอบครัวสูญเสียบ้านไป ทำให้พวกเขาต้องปลูกเพิงอาศัยอยู่ริมถนน ผู้หญิงจึงต้องรอจนกว่าฟ้าจะมืดจึงจะกล้าหาที่ขับถ่าย ส่วนผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนต้องสวมกางเกงสีเข้ม เพื่อไม่ให้คนอื่นมองเห็นคราบเปรอะเปื้อน เพราะไม่มีแม้แต่ผ้าอนามัยใช้ 

 

– สำหรับการฟื้นฟูนั้นคาดว่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าที่ประเทศจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ขณะที่ชาวปากีสถานหลายคนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างกล่าวโทษรัฐบาลที่เพิกเฉยต่อการรับมือกับภัยพิบัติ และไม่ยอมออกมาตรการป้องกันที่ดีพอ แม้เคยได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์เมื่อปี 2010 มาแล้ว

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โลกจะได้เห็นภัยพิบัติรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากขึ้นอีกในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นในปากีสถานจึงอาจเป็นเพียงฉากโหมโรงของหายนะที่ใหญ่กว่าที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายภาคหน้า

 

คงถึงเวลาแล้วที่บรรดาผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกจะต้องทบทวนนโยบายของตัวเอง รวมถึงประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเราที่ต้องคิดลงมือทำเพื่อโลกให้มากขึ้น เพราะปัญหาโลกรวนได้ข้ามไปสู่จุดที่เกินกว่าจะหวนคืนกลับแล้ว 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X