เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การใส่ใจดูแลโลกใบนี้จากผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ที่อยู่ในวงจรต้องทำการค้าด้วยย่อมใส่ใจความเข้มข้นเรื่องนี้ไปด้วย ล่าสุดจากข้อมูล ESG Impacts and Business Showcases 2023 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่รวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของปี 2023 จากแหล่งข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยสู่สาธารณะ เช่น แบบ 56-1 One Report รายงานความยั่งยืน และ SET ESG Data Platform นอกจากจะเพิ่มให้มีการจัดอันดับ Rating 4 ระดับกับหุ้นยั่งยืน คือ AAA, AA, A และ BBB แล้ว ยังมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น SET ESG Raitngs จากเดิม SETTHSI อีกทั้งยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
SET ESG Ratings หรือหุ้นยั่งยืน ปีนี้มีทั้งหมด 193 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 170 บริษัท แบ่งเป็น 8 หมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 21 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 7 บริษัท, กลุ่มธุรกิจการเงิน 24 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 29 บริษัท, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 32 บริษัท, กลุ่มทรัพยากร 31 บริษัท, กลุ่มบริการ 39 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี 10 บริษัท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม? หุ้นยั่งยืน THSI ต้องเปลี่ยนเป็น ‘SET ESG Ratings’
- ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ข้อจำกัดทางการเงินกลายเป็นเรื่องท้าทาย แนะแบรนด์ต้องนำความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ESG ต้องเป็นกลยุทธ์องค์กร
สภาวการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้ถูกทำลายมากขึ้น และเสมือนเป็นกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต้องช่วยพยุงโลกที่กำลังเดือดให้ดีที่สุด ส่งผลให้เป็นปัจจัยหนึ่งที่บริษัทต่างๆ ต้องได้รื้อและปรับแผนงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยกำหนดนโยบายและทำให้เรื่อง ESG เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้บริษัทอยู่ได้อย่างยั่งยืน เช่น การตั้งคณะกรรมการบริหารด้านความเสี่ยงเพื่อรับมือกับปัจจัยใหม่ๆ ที่พร้อมจะปะทุมาได้ทุกเมื่อ ประกอบกับความเข้มข้นของหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท. ที่ขอความร่วมมืออย่างเคร่งครัดในการรายงานการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และการสร้างภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือทำให้โลกร้อนใน ‘One Report’ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้พบว่าการรายงานล่าสุดใน ESG Impacts มี บจ. ที่ทำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนชัดเจนถึง 169 บริษัท จากหุ้นยั่งยืนทั้งหมด 193 บริษัท พร้อมกันนั้นยังมีจำนวน บจ. ถึง 163 บริษัทที่มีการกำหนดตัวชี้วัด (Corporate KPI) ด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการวิเคราะห์และสรุปประเด็นสาระสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality) 147 บริษัท
สิ่งแวดล้อม (Environment)
- 93 หุ้นยั่งยืน ประกาศเป้าหมายเป็น Net Zero
- 193 บริษัท ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 26.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
- ลดค่าใช้จ่ายจากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม 2,600 ล้านบาท
- สนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและออกบอนด์ 3.33 แสนล้านบาท
จากรายงานพบว่า หุ้นยั่งยืนทั้ง 193 บริษัท มี บจ. ที่กำหนดเป้าหมายเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งหมดถึง 93 แห่ง โดยมี 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทกำหนด Net Zero สูงสุดที่อุตสาหกรรมละ 20 บริษัท คือ กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มบริการ อีกทั้งใน 193 บริษัทได้กำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 154 บริษัท ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปี 2565 ที่มี 138 แห่ง
จากการมีนโยบายและการดำเนินงานให้ใช้พลังงานหมุนเวียนถึง 224,951,382 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และมีปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ 649,931 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ส่งผลให้ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึง 26.87 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมากกว่าปีก่อน 13.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง 3 อันดับแรกที่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดคือ กลุ่มทรัพยากรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดถึง 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์, อันดับสองคือกลุ่มการเงิน 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และอันดับสามคือกลุ่มบริการ 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
ขณะเดียวกัน ทั้ง 193 บริษัทนี้ยังได้รับการสนับสนุนวงเงินการปล่อยสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันทั้งหมด 104,814 ล้านบาท รวมถึงการออกบอนด์เพื่อสนับสนุนด้าน ESG บจ. ตั้งแต่ Green Bonds 93,402 ล้านบาท, Social Bonds 27,819 ล้านบาท และ Sustainability Bonds 107,050 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บจ. ต่างให้น้ำหนักเรื่องความยั่งยืนทั้ง ESG โดยกำหนดและวางแผนการดำเนินงานบริษัทตั้งแต่เปลี่ยนอุปกรณ์ ซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรในกระบวนการผลิต รวมถึงการออกแบบโรงงาน คลังสินค้า พร้อมนำเทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตและการดำเนินงานบริษัท ควบคู่ไปกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการการใช้พลังงานและไฟฟ้า รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ จนสามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงได้ 7,976,374 ลิตร และมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลง 2,502,139,469 กิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดลงรวมกัน 2,422 ล้านบาท สำหรับบริหารจัดการน้ำสามารถลดปริมาณน้ำและนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ 4,288 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยประหยัดค่าน้ำได้ 141 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังปรับปรุงการผลิตเพื่อลดการสูญเสียวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าบริหารจัดการของเสียให้มีส่วนร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น นำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วไปผลิตไบโอดีเซล นำขยะอินทรีย์ไปเป็นพลังงานความร้อน สนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะเพื่อให้เกิดการรีไซเคิลได้ 100% โดยปรับกระบวนการผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 193 บริษัทสามารถลดปริมาณของเสียได้ถึง 908,000 ตัน และสามารถนำของเสียทั่วไปและที่ไม่เป็นอันตรายกลับเข้าสู่กระบวนการใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ 3,447,165 ตัน หรือแม้กระทั่งของเสียที่เป็นอันตรายสามารถกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ 193,364 ตัน ทำให้ช่วยลดการสร้างของเสีย และลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 37 ล้านบาท
สังคม (Social)
- 189 บริษัท กำหนดนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนจริงจัง
- ส่งเสริมการเพิ่มทักษะพัฒนาอาชีพหลากหลายกลุ่ม 1.51 แสนคน หรือช่วยสร้างรายได้ 2,779 ล้านบาท
สำหรับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน จาก 193 บริษัท มี บจ. มากถึง 189 บริษัทที่มีนโยบายกำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชนชัดเจน พร้อมกับได้เปิดเผยนโยบายด้านนี้สูงถึง 157 บริษัท ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปีก่อนที่ 148 แห่ง อีกทั้งยังมีมากถึง 130 บริษัทที่มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่มีเพียง 63 แห่ง โดยยังมีการประเมินและบริหารจัดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน 86 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุด
พร้อมกันนั้น ได้ดูแลเอาใจใส่พนักงานในองค์กรที่คอยเพิ่มและพัฒนาทักษะการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนและพัฒนาสถานประกอบการที่มีสิ่งแวดล้อมและเอื้อให้พนักงานทำงานอย่างปลอดภัยและมีความสุข
ขณะเดียวกันได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งมีถึง 170 บริษัท จากหุ้นยั่งยืนที่มีทั้งหมด 193 บริษัท ที่มีการกำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการให้คำแนะนำหรือความรู้แก่เกษตรกรจำนวน 33,028 คน หรือคิดเป็นรายได้รวมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้านการเกษตรถึง 2,333 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการส่งโอกาสด้วยการจ้างงานในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ทั้งหมด 102,267 คน คิดเป็นการช่วยสร้างรายได้ทั้งหมด 444 ล้านบาท นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการทั้งหมด 16,233 คน หรือช่วยสร้างรายได้ให้ทั้งหมด 1.84 ล้านบาท โดยยังรวมไปถึงโครงการพัฒนาความรู้ทางการเงินให้อีก 202,819 คน
บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance)
- ตั้งคณะกรรมการด้านบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน 159 บริษัท
- ตั้งประธานกรรมการเป็นคนละคนกับผู้นำองค์กรถึง 184 บริษัท
- มีกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารมากกว่า 66% ถึง 144 บริษัท
ด้าน Governance จะครอบคลุมด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจด้วย เริ่มจาก บจ. เริ่มเคร่งครัดเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทและจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) โดยให้ความสำคัญกับการตั้งประธานคณะกรรมการเป็นคนละคนกับผู้นำบริษัทถึง 184 บริษัท มากกว่าปีก่อนที่มี 157 บริษัท จากบริษัทที่เป็นหุ้นยั่งยืนทั้งหมด 193 บริษัท
โดยตั้งกรรมการอิสระที่มากกว่า 50% จำนวน 51 บริษัท และมีกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารมากกว่า 66% สูงถึง 144 บริษัท ทำให้เห็นว่า บจ. ต้องการให้บอร์ดมีความเป็นกลาง มีอิสระจากความคิดของคณะผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร เพื่อคำนึงหลักของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด พร้อมกับมีกรรมการที่เป็นผู้หญิงมากกว่า 1 คน จำนวน 136 คน ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่ 112 คน โดยมีเพียง 12 บริษัทที่ไม่มีกรรมการเป็นผู้หญิงเลย และที่สำคัญคือมีการตั้งคณะกรรมการด้านบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนขึ้นมาโดยเฉพาะถึง 159 บริษัท
นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญในการรับมือกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งมี บจ. ที่เปิดเผยความเสี่ยงและมีแนวทางจัดการด้านนี้สูงถึง 189 บริษัท จากที่เป็นหุ้นยั่งยืน 193 บริษัท ซึ่งขณะเดียวกันบริษัทก็แสดงความพร้อมที่จะประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้าถึง 134 บริษัท รวมถึงประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศถึง 173 บริษัท โดยพร้อมเปิดเผยแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกเมื่อท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วถึง 165 บริษัท
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการทำจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าให้ครอบคลุมด้าน ESG ทั้งหมด 143 บริษัท รวมถึงการขอความร่วมมือในการเข้าตรวจประเมินคู่ค้าด้าน ESG แบบ On-Site 87 บริษัท พร้อมควบคู่กับการพัฒนาด้านความยั่งยืนให้แก่คู่ค้าทั้งหมด 140,047 ราย
แต่การจะให้โลกใบนี้ยั่งยืนได้จริง การปล่อยให้บริษัทดำเนินการเรื่อง ESG ทั้งหมดก็คงไม่ใช่ ในฐานะของบุคคลธรรมดาที่อาจอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจด้านใดด้านหนึ่งอย่างเราทุกคน ก็มีส่วนช่วยในการจับตาดู ตรวจสอบ หรือให้ความร่วมมือด้านต่างๆ ได้ เพราะเราต่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่อยู่ในซับเซ็ตของโลกใบใหญ่นี้
อ้างอิง: