รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมไต้หวันระบุว่า ไต้หวันอาจเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน นับว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังห่างจากระดับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่ามีประสิทธิภาพในรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
วันนี้ (6 ตุลาคม) Chang Tzi-chin รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมไต้หวัน ระบุว่า รัฐบาลอาจจะเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งในไต้หวันเรียกว่า ‘ค่าธรรมเนียมคาร์บอน’ อยู่ที่ 300 ดอลลาร์ไต้หวัน (หรือราว 10 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตัน สำหรับการปล่อยมลพิษ โดยราคาขั้นสุดท้ายจะถูกกำหนดอย่างเป็นทางการหลังจากการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการหารือกับอุตสาหกรรมหลักๆ ลุล่วง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สภาอุตฯ จับมือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตั้งแพลตฟอร์ม FTIX สำหรับซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตแห่งแรกของไทย
- ระยองเตรียมสร้างโลก ‘Metaverse’ เปลี่ยนพื้นที่ป่าโกงกาง 500 ไร่ มาซื้อขายคาร์บอนเครดิต
- จีน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเกือบ 8% หลังเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ภัยแล้งอาจทำให้จีนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากขึ้น
ปัจจุบันไต้หวันกำลังผลักดันกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ให้ผ่านสภานิติบัญญัติ สะท้อนว่าไต้หวันพร้อมที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาลอื่นๆ ในการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ภาษีคาร์บอนของไต้หวันยังต่ำกว่าเกาหลีใต้ แต่สูงกว่าภาษีในญี่ปุ่นและสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะนี้เกือบ 50 ประเทศทั่วโลกกำลังเร่งกำหนดราคาคาร์บอนผ่านโครงการซื้อขายคาร์บอน (Trading Schemes) หรือการเรียกเก็บภาษี โดยตามรายงานจาก IMF ระบุว่า ราคาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 1 ตันจะต้องอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 2,792 บาทต่อตัน) ภายในปี 2030 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ จากราคาเฉลี่ยปัจจุบันที่ 6 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 223 บาท) ต่อตัน
ตามข้อมูลจาก Germanwatch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพอากาศทั่วโลก ระบุว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในดินแดนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในเอเชียตามเกณฑ์ต่อหัว โดยส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมกลั่น พลาสติก และซีเมนต์จำนวนมาก และไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนและภาษีคาร์บอนของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่เรียกเก็บภาษีคาร์บอนในปี 2012 กำหนดให้เก็บภาษีไว้ที่ 289 เยน (ราว 2 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 1 ตัน, ภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์อยู่ที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือราว 3.52 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อตัน ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ 25,400 วอน (ราว 18.11 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือประมาณ 1 ใน 4 ของระดับในสหภาพยุโรป
ไทยกำลังศึกษาแนวทางเก็บภาษีคาร์บอน คาดชัดเจนปีหน้า
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในกลุ่มสินค้าและบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง โดยตั้งเป้าหมายศึกษาให้แล้วเสร็จและสร้างความชัดเจนในแนวทางและอัตราภาษีภายในปี 2023
ขณะที่ตามข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิจจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VERs) ซึ่ง TGO เริ่มให้การรับรองในปี 2014 อยู่ที่ 76.98 บาทต่อตันในปีนี้ ขณะที่ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 1,958 ล้านตัน
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-06/taiwan-s-proposed-carbon-tax-looks-too-low-to-curb-emissions?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-08-07/asian-carbon-pricing-not-enough-to-change-polluter-behavior?sref=CVqPBMVg
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP