×

ผู้นำโลกระบุ การปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนจำเป็นต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้า

17.11.2022
  • LOADING...

บนเวทีเสวนาหัวข้อ ‘Building Sustainable Economies, Businesses and Societies’ ในการประชุม APEC CEO Summit 2022 ผู้นำประเทศและผู้บริหารสถาบันการเงิน ระบุว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนจำเป็นต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปสังคม ขณะที่การแก้ใขปัญหาด้านภูมิอากาศของโลกต้องคำนึงถึงมาตรการในระยะยาวมากกว่ามาตรการเฉพาะหน้า โดยการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล ความยั่งยืน และวัฒนธรรม เป็นสามประเด็นสำคัญที่ซีอีโอต้องให้ความสำคัญในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

กาบริเอล โบริก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐชิลี กล่าวว่า ชิลีไม่ต่างจากประเทศเศรษฐกิจใหม่อื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการระบาดของโควิด สิ่งที่ท้าทายก็คือ การตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้ากับการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพราะเราไม่อาจทำอะไรสำเร็จได้หากปราศจากความเชื่อมั่น    


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โบริกกล่าวว่า ชิลีได้ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายเขตเศรษฐกิจใน APEC และมุ่งหวังจะพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และความร่วมมือกันไม่ควรจำกัดเพียงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น แต่ควรเกิดขึ้นระหว่างภาคธุรกิจและชุมชนด้วย 

 

ประธานาธิบดีชิลีได้ย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเสมอภาค โดยยกตัวอย่างประเทศชิลีที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีเทคโนโลยี และแหล่งพลังงานหมุนเวียน แต่หากสังคมไร้ความเสมอภาค ปัจจัยบวกเหล่านี้ก็จะไม่มีความหมาย ดังนั้นการปฏิรูปสังคมควบคู่ไปด้วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

“เราต้องปฏิรูปทางสังคม เราจำเป็นต้องกระจายความร่ำรวย ปัจจุบันเรายังมีปัญหาความไม่เท่าเทียม แต่เราสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนว่ามันจะดีขึ้น เรามี FTA เพื่อเข้าถึงโลก แต่โลกก็ต้องการเราเช่นกัน เพราะเรามีแร่ธาตุสำคัญอย่างทองแดง เราอยากเห็นนักลงทุนต่างชาติกับชุมชนท้องถิ่นมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” โบริกกล่าว

 

ดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา รองประธานาธิบดีคนที่ 1 สาธารณรัฐเปรู กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนมี 3 ด้าน คือด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการในปัจจุบันได้โดยไม่ทำให้เกิดความสูญเสียในอนาคต

 

รองประธานาธิบดีเปรูกล่าวว่า การทำงานร่วมกับภาคเอกชนและนักลงทุนต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเปรู นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม

 

“เปรูเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้เป็น 2 เท่าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่เรายังมีความยากจนสูง เรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงให้มันดีขึ้น เราอยากให้ความหิวโหยหมดไป เราอยากสร้างความร่ำรวยที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” เซการ์รากล่าว

 

ซูซาน กาบูรี ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า ADB คือธนาคารด้านภูมิอากาศของเอเชียที่ช่วยระดมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศของโลกและส่งเสริมนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ มีความสามารถในการปรับตัวได้มากขึ้น 

 

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำและอาหาร เป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน และมีความจำเป็นที่ภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมระดมความคิดในการแก้ปัญหา

 

การสนับสนุนการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ ADB มุ่งมั่นที่จะหามาตรการในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ADB ใช้มาตรการหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเจรจาระดับนโยบาย การลงทุน การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และมาตรการอื่นๆ จนครบวงจร

 

“หัวใจอยู่ที่การลงทุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และขยายผลได้” กาบูรีกล่าว 

 

ฮิโรโนริ คาเมซาวะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล ความยั่งยืน และวัฒนธรรม เป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ซีอีโอต้องให้ความสำคัญในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ และการดำเนินธุรกิจควรมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

คาเมซาวะกล่าวว่า ธนาคารเอกชนมีพันธกิจในการสนับสนุนกลไกการเงินเพื่อสร้างความยั่งยืน และการคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปด้วยกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising