ซูซี ไวลส์ ถือได้ว่าเป็นสตรีที่มีอิทธิพลสูงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคทรัมป์ 2.0 ด้วยความที่เธอดำรงตำแหน่งเป็น White House Chief of Staff หรือหัวหน้าข้าราชการการเมืองของทำเนียบขาวที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากตัวของทรัมป์เอง
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการดำรงตำแหน่ง Chief of Staff ของเธอจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ทรัมป์สามารถผลักดันนโยบายของเขาได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักสตรีเหล็กคนนี้กันให้มากขึ้น
White House Chief of Staff
ตำแหน่งหัวหน้าข้าราชการการเมืองของทำเนียบขาวถือเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก เพราะเขาหรือเธอผู้นี้จะเป็นผู้กำหนด agenda ในแต่ละวันของประธานาธิบดี เป็นผู้คัดกรองว่าเรื่องใดควรจะถูกเสนอขึ้นไปให้ประธานาธิบดีรับทราบหรือตัดสินใจ รวมทั้งกำหนดว่าใครควรหรือไม่ควรจะได้พบกับประธานาธิบดีผู้มีเวลาอันจำกัด นอกจากนี้ Chief of Staff ก็มักจะเป็นผู้ที่ประธานาธิบดีให้ความไว้วางใจและมักจะถามความเห็นเมื่อจะต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ
ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของทรัมป์นั้น เขาได้เลือกประธานพรรครีพับลิกัน อย่าง รินซ์ พรีบัส ขึ้นมาเป็น Chief of Staff ทั้งๆ ที่เขาและพรีบัสไม่ได้สนิทสนมหรือไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นการส่วนตัว แต่ทรัมป์ก็ยอมเลือกพรีบัสขึ้นมาดำรงตำแหน่งที่แทบจะสำคัญที่สุดในทำเนียบขาว เพราะทรัมป์ต้องการที่จะประนีประนอมกับนักการเมืองในพรรครีพับลิกันที่ตอนนั้นยังมองว่าทรัมป์เป็นคนนอก เขาจึงต้องนำคนในพรรคมาไว้ข้างตัวเพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับพรรค
แต่อย่างไรก็ดี การทำงานของพรีบัสและทรัมป์เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะทรัมป์ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับพรีบัสแต่แรก พรีบัสไม่มีบารมีมากพอจะกำหนด agenda ของทรัมป์หรือแม้แต่ควบคุมการทำงานของข้าราชการในทำเนียบขาวที่เป็นสายตรงของทรัมป์ ในเวลาต่อมาทรัมป์ยังสงสัยอีกว่าพรีบัสน่าจะเป็นผู้ที่นำความลับหลายๆ อย่างของทำเนียบขาวไปหลุดให้นักข่าวนำไปเสนอข่าว ทำให้ในที่สุดแล้วพรีบัสก็ถูกกดดันให้ลาออกภายหลังจากการดำรงตำแหน่งได้แค่ 6 เดือน
ซูซี ไวลส์
การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในสมัยที่สองนั้นแตกต่างไปจากสมัยแรกอย่างมาก เพราะในตอนนี้นั้น พรรครีพับลิกันได้กลายเป็นพรรคของทรัมป์อย่างเต็มตัว ทำให้เขาไม่จำเป็นจะต้องไปเลือกคนจากในพรรคขึ้นมาเป็น Chief of Staff เหมือนคราวที่เขาเลือกพรีบัส และในสมัยที่สองนี้ทรัมป์ก็ได้เลือกคนที่เขาสนิทและไว้ใจอย่างพรีบัสมาดำรงตำแหน่งแทน
ไวลส์เป็นสตรีที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน เธอทำงานในฐานะทีมงานการเมืองของนักการเมืองชื่อดังของพรรครีพับลิกันมาหลายคนไม่ว่าจะเป็น แจ็ค เคมป์ (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้แทนพรรคลงเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี), ริค สกอตต์ (สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐฟลอริดา) และ รอน ดิแซนทิส (ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา)
ไวลส์เริ่มงานให้ทรัมป์ในฐานะทีมงานหาเสียงในรัฐฟลอริดาในการเลือกตั้งในปี 2016 (ด้วยความที่เธอมีประสบการณ์ในการหาเสียงในฟลอริดามาหลายสมัย) ก่อนที่ทรัมป์จะเห็นผลงานของเธอและโปรโมตให้เธอได้ขึ้นเป็นหัวหน้าทีมหาเสียงในระดับชาติในการเลือกตั้งในปี 2024 (ร่วมกับ คริส ลาซิวิตา)
White House Chief of Staff
ทรัมป์พึงพอใจผลงานและสไตล์การทำงานของไวลส์ในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2024 เป็นอย่างมาก ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเธอขึ้นมาเป็น Chief of Staff ทันทีที่เขาชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน
คนรอบตัวของไวลส์พูดตรงกันว่าเธอเป็นคนที่ใจเย็นและแทบจะไม่เคยแสดงความเกรี้ยวกราดออกมาให้ใครเห็นเลย แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็เป็นคนที่เฮี้ยบและเจ้าระเบียบเป็นอย่างมาก ซึ่งจุดนี้เองเป็นสิ่งที่ทรัมป์ได้จาก Chief of Staff คนใหม่ของเขา เพราะทำเนียบขาวของเขาในยุคทรัมป์ 1.0 นั้นขึ้นชื่อในเรื่องความโกลาหล และเต็มไปด้วยการหลุดข่าวลับไปยังสื่อมวลชน ทรัมป์คาดหวังว่าไวลส์จะมาอุดรูรั่วในตรงนี้ ทำให้การดำเนินนโยบายของเขานั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เธอก็ยังเป็นคนที่ชอบทำตัวโลว์โปรไฟล์ บริหารจัดการอยู่หลังฉากเงียบๆ ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งก็เข้ากันได้กับสไตล์การทำงานของทรัมป์ที่ต้องการให้สปอตไลต์ส่องมาที่เขาคนเดียวตลอดเวลา
ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของทรัมป์ 2.0 ดูเหมือนว่าความเฮี้ยบของไวลส์จะได้ผล เพราะทำเนียบขาวของทรัมป์ไม่ได้มีเรื่องโกลาหลด้วยการต่อสู้กันภายในเหมือนในยุคทรัมป์ 1.0 และเราก็ไม่ได้เห็นข่าวความลับอะไรหลุดออกมามากมาย
ภาพ: Evelyn Hockstein / Reuters