×

วิกฤตร้านซูชิที่ ‘ล้มละลาย’ มากขึ้นในญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากเงินเฟ้อ จนร้านขนาดเล็กแบกต้นทุนไม่ไหว

22.02.2024
  • LOADING...
ร้านซูชิ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ซูชิ’ คือหนึ่งในอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นซึ่งมีแฟนๆ อยู่ทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศบ้านเกิด ร้านอาหารเหล่านี้กำลังปิดกิจการด้วยอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิดในปี 2020

 

การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ การขาดแคลนพนักงาน และการลดลงของมาตรการสนับสนุนในยุคโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อร้านซูชิในญี่ปุ่น มีร้านล้มละลาย 5 ร้านในเดือนมกราคม 2024 (เพิ่มขึ้น 400% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในหนึ่งเดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ตามการวิจัยที่บริษัท TOKYO SHOKO RESEARCH ระบุ

 

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้ร้านขนาดเล็กมีความท้าทายที่จะส่งต่อต้นทุนไปยังลูกค้า หลายร้านต้องยอมแพ้และยุติการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่สามารถมองเห็นอนาคตได้ ท่ามกลางการแข่งขันกับร้านเชนใหญ่และไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด ทำให้ร้านเล็กๆ เลือกที่จะล้มละลายมากกว่าที่จะปรับธุรกิจเพื่อฟื้นฟูกิจการของตัวเอง 

 

ความล้มเหลวของร้านซูชิในญี่ปุ่นในปีนี้อาจเกิน 30 ร้าน มากกว่าที่บันทึกไว้ในปี 2020 รวมถึงปี 2023 ที่มีการล้มละลาย 23 ร้าน เนื่องจากร้านเล็กๆ พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปิดร้านต่อไปในช่วงที่เงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ค่าอาหารและค่าสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น ความจำเป็นในการชำระคืนเงินกู้ยืมในยุคโควิดที่เคยให้ดอกเบี้ย 0% กลายเป็นภาระใหญ่ที่ร้านขนาดเล็กซึ่งมีสายป่านไม่ยาวไม่สามารถแบกรับไว้ได้อีกแล้ว 

 

หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากราคาที่ตกต่ำมานานหลายทศวรรษในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคานำเข้าที่สูงขึ้นและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพของครัวเรือนญี่ปุ่นที่ไม่คุ้นเคยกับภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น

 

เงินเฟ้อด้านอาหารกระโดดขึ้นสู่ระดับสูงสุดในหลายทศวรรษเมื่อปีที่ผ่านมา โดยราคาปลาเพิ่มขึ้น 14.8% จากปีก่อนในเดือนพฤษภาคม ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักสถิติของญี่ปุ่น

 

ซูชิมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพร่กระจายไปยังจีน และในที่สุดก็ถึงญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาไปสู่ซูชิที่เรารู้จักในปัจจุบัน

 

ในช่วงยุคเอโดะ (1603-1868) ซูชิรูปแบบแรกของยุคสมัยใหม่ได้ปรากฏขึ้นในโตเกียวอย่าง ‘กิริซูชิ’ ประกอบด้วยปลาสดบนข้าวที่ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของซูชิในฐานะอาหารที่บริโภคได้อย่างรวดเร็ว คล้ายกับอาหารฟาสต์ฟู้ดในยุคนั้น

 

ซูชิไม่เพียงแต่เป็นหลักของอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญในแง่ของวัฒนธรรมและสังคมของประเทศ ในญี่ปุ่น ศิลปะการทำซูชิได้รับการยกย่องและถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลาหลายปี หรือแม้กระทั่งหลายทศวรรษ ในการเรียนรู้และพัฒนาให้สมบูรณ์ 

 

อย่างไรก็ตาม การล้มละลายของบริษัทในญี่ปุ่นในภาพรวมมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แต่ภาคบริการรวมถึงร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีจำนวนการล้มละลายมากที่สุดในปีที่ผ่านมา มีร้านราเมนล้มละลาย 45 ร้าน เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าของปีก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลจาก TOKYO SHOKO RESEARCH

 

ภาพ: Buddhika Weerasinghe / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X