วันนี้ (28 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการของบกลาง 140 ล้านบาท เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเงินไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากมาตรการให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีว่า หลังจากเปิดให้บริการฟรี 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม มีประชาชนใช้บริการในมาตรการดังกล่าวประมาณ 500,000 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเดิม 45-60% โดยเฉพาะใน 2 วันที่ผ่านมา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีหลายฝ่ายท้วงติงว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากผู้ใช้รถยนต์นั้น สุริยะกล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ประเมินตัวเลขจากกล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใน กทม. มีการใช้รถใช้ถนนประมาณวันละ 10 ล้านคัน เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลครึ่งหนึ่ง และพบว่าจากมาตรการดังกล่าวมีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลง 10% หรือประมาณ 5 แสนคัน
ส่วนงบกลางที่กระทรวงคมนาคมจะขออนุมัติจากที่ประชุม ครม. จากเดิมที่ระบุไว้ 140 ล้านบาท แต่ต้องเพิ่มเป็น 329.82 ล้านบาท เนื่องจากเดิมการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ของบประมาณไว้ แต่ภายหลัง รฟม. แจ้งว่าจะขอกันงบประมาณไว้เพื่อใช้ในโครงการอื่นๆ เป็นจำนวน 144 ล้านบาท เช่นเดียวกันกับ ขสมก. ที่ขอเพิ่ม 51 ล้านบาท และเมื่อนำไปรวมกับเงินที่ต้องจ่ายชดเชยให้กับบริษัท BTS จำนวน 133 ล้านบาท ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องยื่นของบกลางเพิ่มขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS ระบุว่า ในส่วนของบริษัทมีการประเมินเงินชดเชยจากมาตรการของรัฐบาลอยู่ที่ 200 ล้านบาทนั้น สุริยะกล่าวว่า นี่เป็นตัวเลขที่ BTS คิดย้อนหลังไป 7 วัน แต่รัฐบาลจะชดเชย 7 วันที่ออกมาตรการ คือ 25-31 มกราคม 2568
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัท BTS ได้วางบิลที่กระทรวงคมนาคมแล้วหรือยัง สุริยะกล่าวว่า ยังไม่ได้วางบิล เพราะต้องรอให้ครบกำหนด 7 วัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มจะขยายมาตรการดังกล่าวอีกหรือไม่ สุริยะกล่าวว่า ขอประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลหรือไม่ จากที่เคยขอ 140 ล้านบาทก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้ว แต่ตัวเลขจริงพุ่งสูงถึง 329 ล้านบาท สุริยะกล่าวว่า ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อประชาชน เพราะตัวเลข 140 ล้านบาทยังไม่รวมกับรถเมล์ ขสมก. แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นเงินของ ขสมก. หรืองบกลางของรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นงบประมาณของรัฐบาลอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่า รัฐบาลมีเพดานในการจ่ายเงินชดเชยไม่ให้เกิน 329 ล้านบาท
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการครั้งหน้าหากมีการดำเนินการอีกจะมีการขอความร่วมมือภาคเอกชนให้บริการฟรีหรือไม่ สุริยะกล่าวว่า รัฐบาลสามารถขอความร่วมมือจากภาคเอกชนได้ แต่ภาคเอกชนก็มีการลงทุน พร้อมกล่าวอีกว่า ตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ถ้าคิดแบบจำนวนเต็มรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยเยอะกว่านี้อีก ซึ่งรัฐบาลขอแค่ 7 วัน เยอะกว่านี้จะไม่เพิ่มให้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุม ครม. จะเห็นชอบงบกลางหรือไม่ หลังจากของบเพิ่มขึ้น สุริยะระบุว่า ต้องอธิบายว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นของ รฟม. จากเดิมที่จะให้ รฟม. รับผิดชอบ ซึ่งขอย้ำว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นเงินของรัฐบาลอยู่ดี