×

สุริยะรับปาก รถไฟฟ้า 20 บาททุกสายได้ภายใน ก.ย. 68 แจงค่าส่วนต่างไม่ต้องใช้เงินภาษี

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2024
  • LOADING...
โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท

วันนี้ (13 กันยายน) เวลา 19.05 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยระบุว่า หลักคิดของผู้บริหารองค์กรที่ดีคือทุกปัญหามีคำตอบ ต่างจากผู้บริหารองค์กรที่ล้มเหลว ซึ่งมักคิดว่าทุกคำตอบมีปัญหา

 

“โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีปัญหา อุปสรรค แต่ผมก็ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถหาคำตอบเพื่อทำให้สำเร็จได้” สุริยะกล่าว

 

สุริยะยืนยันว่านโยบายดังกล่าวรัฐบาลทำแน่ และทำไปแล้ว ทันทีที่ตนเองเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นวันแรก ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายได้โดยเร็ว แบ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลดำเนินการเอง คือสายสีแดงและสายสีม่วง จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน แต่ส่วนที่รัฐสัญญาให้สัมปทานกับเอกชน จะต้องใช้เวลาดำเนินการภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีความสงสัยว่าจะทำได้หรือ

 

สุริยะกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่รับตำแหน่งเพียงไม่ถึง 2 เดือน กระทรวงคมนาคมสามารถทำตามนโยบายของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงได้ทันที สำหรับสายอื่นที่เหลือจำเป็นต้องมีการใช้อำนาจทางกฎหมาย และได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่าต้องใช้เวลาอีก 2 ปี คือภายในเดือนกันยายน 2568

 

“การเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็น 20 บาทตลอดสายนั้น รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างแน่นอนภายในเดือนกันยายน 2568 จะเป็นคนละส่วนกับการซื้อคืนสัมปทานให้บริการเดินรถจากเอกชน เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียด ในประเด็นนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ ด้วยการสนับสนุนและร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม” สุริยะกล่าว

 

ค่าส่วนต่างไม่ต้องใช้ภาษีโดยตรง

 

ส่วนข้อสงสัยว่ารัฐจะนำเงินส่วนใดมาอุดหนุนส่วนต่างให้ผู้ประกอบการหลังลดค่าโดยสารแล้ว สุริยะชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมมีหลักคิดว่าเงินอุดหนุนส่วนต่างหลังลดค่าโดยสารจะเป็นเงินจากกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พร้อมชี้แจงว่า ยังมีเงินอีกหลายส่วนที่ไม่จำเป็นต้องนำมาจากภาษีประชาชนโดยตรง แต่สามารถขอเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นการนำเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาลดการใช้น้ำมัน ให้เกิดการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

“ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลทำได้ ทำจริง ทำเร็ว ทำให้เห็นมาแล้ว และจะทำต่อไป ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติโดยรวม” สุริยะกล่าวทิ้งท้าย

 

ต่อมา มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีข้อสงสัยว่าให้ควรจัดเก็บเช่นเดียวกันกับรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ในปัจจุบันนี้รถเมล์มีอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-45 บาท ซึ่ง 8 บาทแรกถือเป็นค่าแรกเข้า และกิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 1 บาท แต่สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า ซึ่งมีสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน มีการจัดเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท ซึ่งเป็นค่าแรกเข้า 15 บาท ระยะทางต่อไปกิโลเมตรละ 2 บาท

 

โดยจะเห็นได้ว่าทั้งสองส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากสามารถจัดเก็บสูงสุดได้ไม่เกิน 45 บาท และเป็นการเก็บค่าแรกเข้าและเก็บตามระยะทาง

 

มนพรย้ำว่า นโยบายนี้เป้าหมายสูงสุดคือการช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพ และค่าเดินทางของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพี่น้องประชาชนมีความพึงพอใจกับนโยบายนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X