ช่วงบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นวันสุดท้ายของชายที่ชื่อ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อสื่อหลายสำนักทยอยรายงานข่าวตรงกันว่าท่านถึงแก่อนิจกรรมแล้วในวัย 68 ปี ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลันที่โรงพยาบาลรามคำแหง เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.
ในกลุ่มไลน์ของสื่อมวลชน มีนักข่าวคนหนึ่งแสดงทัศนะต่อข่าวนี้โดยที่เขาไม่คาดคิดว่าดร.สุรินทร์ จะด่วนจากไปในเวลาอันใกล้ “เมื่อวานยังพบท่านอยู่เลย ท่านยังดูแข็งแรงปกติ ยังแซวอยู่ว่าขอให้ได้เป็นนายกฯ คนต่อไป” แต่อนิจลักษณะของความไม่เที่ยงแท้ตามกฎธรรมชาติ นักข่าวหรือมนุษย์ผู้ใดก็ไม่อาจหลีกพ้น และคงมีจุดหมายปลายทางเดียวกันในที่สุด
หากแต่ว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ บุคคลผู้นั้นได้กระทำสิ่งใดอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือประพฤติตนเป็นแบบอย่างอันน่าเชิดชูให้เป็นเยี่ยงอย่างที่จะสามารถใช้เป็นแรงส่งขับเคลื่อนชีวิต ดร.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในบุคคลจำนวนนั้นที่หลายคนหยิบยึดมาเป็นโมเดลชีวิต
และเมื่อขึ้นชื่อว่ามนุษย์ คงไม่มีใครดีหรือร้ายทั้งหมด ชีวิตของชายที่ชื่อ ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ ก็เช่นเดียวกัน
จากเด็กปอเนาะสู่นักศึกษาฮาวาร์ด
“He is a true believer in democracy. Don’t let anyone take it away.” คือถ้อยคำที่ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ บุตรชายของดร.สุรินทร์ ซึ่งได้กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อถอดความจะได้ความหมายว่า “เขา (ดร.สุรินทร์) เป็นผู้ที่ศรัทธาในประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และอย่าให้ใครมาพรากสิ่งนั้นไป”
หากจะมีใครกล่าวถึงดร.สุรินทร์ ได้อย่างเข้าใจตัวตนและยืนยันถึงบทบาทที่ผ่านมาได้ชัดเจนที่สุด แน่นอนว่าการให้นิยามจากทายาทหรือบุคคลในครอบครัวย่อมเป็นหลักฐานยืนยันที่หนักแน่น
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก หากมองความสำเร็จในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องห่างไกลจากชีวิตของเด็กชายมุสลิมชาวไทยคนหนึ่งที่เติบโตมาจากครอบครัวที่มีบรรพบุรษและบิดาเป็นครูสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดนครศรีธรรมราช
เริ่มต้นจากปอเนาะบ้านตาล ที่เวลากลางคืนต้องอยู่โรงเรียนสอนศาสนาซึ่งค่อนข้างจะอนุรักษนิยม ส่วนกลางวันต้องไปเรียนหนังสืออยู่ในบริบทของโรงเรียนวัดที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แถมเป็นชีวิตที่เติบโตมาจากชนบท ต้องเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียน กินน้ำจากบ่อทรายที่ขุดขึ้นริมคลองหลังวัด
ดร.สุรินทร์ เคยเขียนเอาไว้ว่า ทุกชีวิตเกิดมาเพื่อหาความหมายให้ตัวเอง วันแรกที่เราเกิดมาต่างเท่าเทียมกันหมด เป็นทารกแบเบาะอยู่ในการอุปถัมภ์ของพ่อแม่ แต่ในความเป็นจริง ใครจะเป็นคนกำหนดความหมายในชีวิตของเรา ตลอดการดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดไปจนชั่วชีวิต เราจะใส่ความหมายอะไรลงไป เพราะฉะนั้นชีวิตของเราจึงเหมือนขวดที่ว่างเปล่าใบหนึ่ง เปรียบเสมือนผ้าใบว่างเปล่าสีขาวที่ศิลปินจะต้องระบายสีลงไปเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนที่เป็นความหมายชีวิต
ข้อคิดที่นำมาสู่การปฏิบัติทำให้เด็กชายชาวไทยมุสลิมคนนั้นสามารถนำพาชีวิตก้าวไปสู่การระดับอุดมศึกษาในรั้วรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เรียนได้เพียง 2 ปีก็ได้รับทุนให้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ และต่อมาสําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และตะวันออกกลางศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเช่นกัน เมื่อสําเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับตําแหน่งอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2518-2529
แม้จะเป็นเรื่องที่เขาคิดว่าไกลเกินเอื้อมสำหรับการได้ไปเรียนไกลถึงเมืองนอกและมหาวิทยาลัยระดับโลก แต่โอกาสนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา เมื่อเส้นทางนั้นต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ มันได้หล่อหลอมและแต่งแต้มให้เขาสามารถก้าวมายืนอยู่อย่างสง่างามในวันนี้
ดร.สุรินทร์ เคยบอกไว้ว่า “ทุกชีวิตล้วนมีข้อจำกัด แต่เราอย่าไปยอมจำนนกับข้อจำกัดนั้น พยายามดิ้นรนทุกวิถีทาง แม้ว่าท้ายที่สุดอาจจะไม่ชนะมันทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ อย่าให้ข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นเงื่อนไขที่มาขวางกั้นหนทางชีวิตเราเสียตั้งแต่เริ่มต้น”
และท้ายที่สุด มันทำให้เขามีโอกาสในชีวิตได้ก็เพราะการศึกษา
จากอาจารย์สู่การเมือง
‘อับดุลฮาลีม บินอิสมาแอล พิศสุวรรณ’ คือชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้กับเด็กชายคนหนึ่งที่ถือกำเนิดมาในวันที่ 28 ตุลาคม 2492 และเป็นชื่อลูกชายคนแรกของพ่อที่เป็นครูสอนศาสนาอิสลาม ต่อมาคุณยายของเขาเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ว่า ‘สุรินทร์’ และถูกใช้มาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
การเกิดมาในครอบครัวที่มีบรรพบุรุษและบิดาเป็นครูสอนศาสนา ทำให้ชีวิตของดร.สุรินทร์ ดูเหมือนจะมีคนรู้จักจำนวนมาก เพราะเมื่อตอนที่เขาตัดสินใจลงเล่นการเมือง ในปี 2529 สิ่งสำคัญก็คือฐานเสียงส่วนหนึ่งที่สนับสนุนเขามาจากลูกศิษย์ลูกหา ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนสืบเนื่องมาถึงรุ่นพ่อ และส่งต่อมาที่ลูกด้วยบารมีและความนับถือที่มีให้
แต่เมื่อตอนตัดสินใจลงรับสมัครเป็นผู้แทน ดูเหมือนครอบครัวจะไม่เห็นด้วย เพราะมองว่างานอาจารย์เป็นอาชีพที่มั่นคง และการสอนหนังสือเป็นสิ่งที่พ่อผู้ทำงานด้านสอนศาสนาเห็นดีด้วย แต่ท้ายที่สุดเมื่อดร.สุรินทร์ เดินเข้าสู่ถนนการเมือง ครอบครัว นั่นเองที่ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ “ให้กำเนิดลูกชายมาแล้ว ใครจะเอาไปใช้ก็ไม่ว่า แต่ขอให้เป็นประโยชน์ ช่วยสังคมได้ ช่วยโลกยิ่งดี เพราะเท่ากับได้รับใช้พระเจ้าเหมือนกัน” แม่ของเขาพูดในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรินทร์ ก็ต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเองด้วย มีบุคคลสองคนคือ สัมพันธ์ ทองสมัคร และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นผู้ชักชวนให้เข้ามาทำงานเพื่อประชาชน และในก็ที่สุดประสบความสำเร็จ ได้เป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช บ้านเกิด สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนั่งเก้าอี้นี้ติดต่อกัน 7 สมัย
ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างดร.สุรินทร์ กับคุณหญิงสุภัตราเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชด้วยกัน และยังคงเกื้อกูลกันมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อประตูบานแรกได้เปิดเข้าสู่เส้นทางการเมืองในการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนแล้ว คราวที่นายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2529 ก็ได้ชวนให้ดร.สุรินทร์ มาเป็นเลขานุการ ต่อมายังได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2535-2538 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2540-2544
เขาเคยบอกว่าการเติบโตมาจาก ส.ส. บ้านนอก แต่ต้องมานั่งเป็นเจ้ากระทรวงบัวแก้วเป็นเรื่องเสียเปรียบ เพราะต้องทำงานอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ในพื้นที่ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้ทำงานภาพรวมเพื่อประเทศ
ในทางการเมือง ดร.สุรินทร์ ยกให้นายชวนเป็นครูทางด้านการเมือง เป็นผู้สอนในเรื่องการเคารพหลักการ และต้องมีความ ‘สุกงอม’ ในสภา ต้องมีกลยุทธ์ มีพรรคพวก เอาตัวรอดได้ และเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ทั้งหมดนั้นทำให้เขาผ่านการหาเสียงในชีวิตมา 7 ครั้ง และผ่านเหตุการณ์การยุบสภามาถึง 6 ครั้ง
จากนักการเมืองสู่ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน
งานด้านการเมืองของดร.สุรินทร์ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2549 หลังรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นช่วงของรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อทำหน้าที่อยู่เกือบปีก็ใกล้ถึงวาระที่ประเทศไทยจะต้องหาตัวแทนขึ้นดำรงตำแหน่ง ‘เลขาธิการอาเซียน’
ดร.สุรินทร์ เล่าว่า พลเอกสุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้โทรศัพท์มาทาบทาม ขอให้สมัครเข้ารับตำแหน่งนี้ และอยากจะช่วยให้รับตำแหน่ง สัญญาว่าจะสนับสนุนทั้งทางส่วนตัวและในนามของรัฐบาล ขณะที่เมื่อครั้งทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองท่านเคยทำงานร่วมกันในการส่งทหารไทยเข้าไปช่วยติมอร์ตะวันออก
ในที่สุดดร.สุรินทร์ ก็ตัดสินใจรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ไปนั่งทำงานที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนครบ 5 ปี สิ้นสุดวาระเมื่อ 1 มกราคม 2556 การรับรองให้เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนครั้งนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่สิงคโปร์
ตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับอดีตเด็กปอเนาะคนหนึ่งที่มีโอกาสเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยคนไทยคนแรกคืออดีตเอกอัครราชทูต และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แผน วรรณเมธี (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2532-2536
ดร.สุรินทร์ มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติมากมาย เช่น การส่งเสริมผลักดันการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเร็วขึ้นกว่ากําหนดเดิม 5 ปี รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิทธิมนุษยชนแก่ประเทศในอาเซียน โดยยึดหลักสันติและไม่แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ อีกท้ังยังให้ความรู้เก่ียวกับการเป็นประชาคมอาเซียนแก่ทุกหน่วยงานท้ังภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะของการปาฐกถา การสัมมนา การอภิปราย เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย และเผยแพร่เกี่ยวกับความร่วมมือในการเป็นประชาคมอาเซียนแก่ประเทศต่างๆ
ก่อนสิ้นวาระเก้าอี้นี้ เขาเคยแสดงทัศนะไว้ว่า เมื่อมองอาเซียน เขามองออกไปอย่างมีความหวังว่าอาเซียนจะทำให้เอเชียตะวันออกยังคงเป็นแกนกลาง และเป็นหัวรถจักรที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลก
ฝันสุดท้ายของชายชื่อ ‘สุรินทร์’
เมื่อหมดวาระจากการทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ ทำงานในประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง เดินสายพบปะ ให้ความรู้ และช่วยเหลืองานต่างๆ ในหลายองค์กรอยู่เสมอ กระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นธรรมศาสตราภิชานของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สุรินทร์ เข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาหลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้
หากส่วนหนึ่งของบันไดชีวิตในการทำงานที่ผ่านมาคือการนำอาเซียนไปสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน เขายังมีบันไดขั้นอื่นๆ ที่อยากจะก้าวเดินไปเพื่อทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริง
เก้าอี้ ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ’ เป็นอีกหนึ่งงานที่มีกระแสข่าวว่าดร.สุรินทร์ ต้องการที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ แม้ว่าในห้วงที่รัฐบาล คสช. ยังไม่มีการปลดล็อกให้มีการเลือกตั้ง แต่กระแสข่าวนี้ก็แรงมากขึ้นถึงท่าทีของเขา เพราะเดินสายไปในหลายที่ นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปกรุงเทพฯ แสดงความมั่นใจที่จะสร้างกรุงเทพฯ ให้แข่งขันกับเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพื่อความเชื่อมั่นและการยอมรับจากนานาชาติ สะท้อนถึงแนวความคิดที่จะต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นหัวหอกของความเปลี่ยนแปลงระดับชาติและภูมิภาค
แม้ว่าจะยังมีกระแสในพรรคประชาธิปัตย์เองถึงตัวเต็งของผู้ที่จะลงท้าชิงตำแหน่งนี้ แต่หากว่านี่คืองานใหญ่ชิ้นสุดท้ายในชีวิตการเมืองของดร.สุรินทร์ ชื่อชั้นย่อมไม่เป็นสองรองใคร และกลไกของพรรคอาจไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่นั่นก็เป็นเพียงความตั้งใจสุดท้าย เมื่อเขาต้องกลับไปสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าชั่วนิรันดร์
ว่ากันว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีครอบครัวและทายาท ในแง่การเป็น ‘พ่อ’ ของเขาเองก็ได้สร้างชีวิตและจุดไฟฝันให้บุตรทั้งสามสามารถร่ำเรียนและมีโอกาสที่จะเลือกทางเดินของชีวิตตัวเองได้อย่างมีความสุข โดยบุตรชายทั้งสามคนสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
เขาเป็นคนเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ เพราะในอนาคตจะเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศนี้ ส่วนหนึ่งสังคมก็จะเป็นแรงกดดันให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
เมื่อต้องสูญเสียชายที่ชื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เราจึงเห็นบุคคลสำคัญและนานาชาติต่างร่วมไว้อาลัยเขาอย่างหนาแน่น คงจะไม่เกินไปนักหากจะบอกว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและเส้นทางชีวิตที่กอปรแต่จะทำงานเพื่อรับใช้สังคม ทำให้สังคมไม่ลืมชายคนที่ชื่อ ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’
หากยังปรากฏในร่องรอยความทรงจำที่ทวนให้นึกย้อนคิดอยู่ในหลายวาระว่าเป็นการสูญเสียที่น่าเสียดาย แต่สิ่งสำคัญที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในยามยากลำบากคือ เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมนี้พัฒนาไปได้ด้วยการลงมือทำ ก้าวให้พ้นข้อจำกัดแบบที่เด็กปอเนาะคนหนึ่งทำได้ และวันนี้เขาได้ออกเดินทางไกลไปล่วงหน้าแล้วอีกครั้ง
Photo: political sci TU/facebook, AFP
อ้างอิง:
- หนังสือ ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สำนักพิมพ์อมรินทร์
- www.pr.tu.ac.th/pr/journal/month/0256.pdf
- www.bbc.com/thai/thailand-4217922