Bloomberg ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่บ่งชี้ว่า พันธบัตรไทยมีความอ่อนไหวและความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย
โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า ผลตอบแทนรวมของพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทลดลง 6.1% นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นอัตราที่มากที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน
Bloomberg ประเมินว่า แรงกดดันดังกล่าวยังไม่น่าจะคลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อีก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.66% ในสัปดาห์นี้หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศแผนลดงบดุล และผู้ว่าการ Lael Brainard ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าการลดงบดุลอาจเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม
บทวิเคราห์ของ Bloomberg ยังระบุอีกว่า พันธบัตรไทยมีกันชนอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield Buffer) ที่ตึงตัวที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการปรับตัวของพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุด โดย Deutsche Bank AG คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.3% ในปีนี้
“อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยมีความอ่อนไหวต่อการพุ่งขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงจาก Fed รวมทั้งการที่นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในพันธบัตรตลาดเกิดใหม่จากผลของสงครามในยูเครนและเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว” พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ด้านตลาดเงินและตลาดทุนของธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ Bloomberg
ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนจริงพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยอยู่ที่ระดับติดลบ 3.4% หลังจากเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีในเดือนมีนาคม และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับสูงขึ้น
โดย Bloomberg ระบุว่า พันธบัตรของเกาหลีใต้ถือเป็นพันธบัตรมีความเสี่ยงสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP