ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินคดีหมายเลขดำ อม.51/2560 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีออกหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไปให้นายทักษิณ ชินวัตร มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐให้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
โดยศาลฯ วินิจฉัยว่า จำเลยตระเตรียมการเพื่อออกหนังสือเดินทาง ตั้งแต่ชั้นรับคำร้อง พิจารณาเสนอความเห็น และสั่งการเพื่อปลดรายชื่อออกจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่ต้องตรวจสอบก่อนออกหนังสือเดินทาง และปลดล็อกในระบบคอมพิวเตอร์โดยปกปิดซ่อนเร้นเรื่อยมา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศโดยอ้างนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีอยู่จริง และคณะรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามารู้เห็นเรื่องนี้ ทั้งยังอ้างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ข้อ 23/7 เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และหลบหนีหมายจับให้ในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศสามารถเดินทางในต่างประเทศได้โดยสะดวก และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นส่งผู้ร้ายข้ามแดนอันเนื่องมาจากไม่มีหนังสือเดินทางได้
การกระทำดังกล่าวส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยอ่อนแอและไม่มีสภาพบังคับ นอกจากนี้ยังส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับนายทักษิณ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี โดยพฤติการณ์ ศาลเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวกและเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ
ส่วนคำร้องที่จำเลยอ้างถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้แก่ กฎหมาย ป.ป.ช., พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส, และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนคดี และสถานะของกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้พิพากษาลงความเห็นให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนประเด็นคำถามว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นด้วยตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่มีความมั่นคงน่าเชื่อถือคือ จำเลยผู้อยู่แล้วว่านายทักษิณ ต้องคำพิพากษาของศาล และการกล่าวอ้างของจำเลยว่าการมีอยู่ของนายทักษิณ ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และขัดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล
ล่าสุด นายปรีชา ศรีเจริญ ทนายความของนายสุรพงษ์เปิดเผยว่า ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท เนื่องจากทีมทนายความกล่าวว่านายสุรพงษ์สุขภาพไม่ดี ต้องฉีดยาทุกวัน อย่างไรก็ตามศาลห้ามนายสุรพงษ์ เดินทางออกนอกประเทศ และทางทีมทนายความเองจะยื่นอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 60 ภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีคำตัดสินของศาล