×

สุรเกียรติ์ แนะกรรมการสมานฉันท์ต้องออกแบบกระบวนการ ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการ เริ่มคุยประเด็นย่อยก่อนขยับประเด็นใหญ่

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2021
  • LOADING...
สุรเกียรติ์ แนะกรรมการสมานฉันท์ต้องออกแบบกระบวนการ ไม่ใช่แค่ตั้งกรรมการ เริ่มคุยประเด็นย่อยก่อนขยับประเด็นใหญ่

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) ยกตัวอย่างบทเรียนการสร้างกระบวนการสันติภาพในหลายประเทศทั่วโลก ว่าเกิดจากการ ‘ออกแบบกระบวนการ’ ก่อน ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งคณะกรรมการปรองดองหรือคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาแล้วจะสามารถทำได้สำเร็จ เพราะปัจจัยที่กระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้ ‘คู่ขัดแย้ง’ มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนกลางที่เข้ามาเปิดเวทีการพูดคุย และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายสบายใจที่จะพูดคุยด้วย 

 

ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ยกตัวอย่างว่า เกาหลีเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้กลายเป็นศัตรูกับนานาชาติจากประเด็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ โดยชี้ให้เห็นว่า ในสมัยอดีตประธานาธิบดี คิมจองอิล (บิดาของ คิมจองอึน) เวทีโลกได้หารือกันอย่างมากในการเลือกผู้แทนเข้าไปสร้างกระบวนการสันติภาพกับเกาหลีเหนือ และเลือกอดีตผู้นำของ 4 ประเทศ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือเข้าไปพูดคุยได้สำเร็จ แต่เมื่อเกาหลีเหนือเปลี่ยนผู้นำมาเป็นประธานาธิบดี คิมจองอึน ก็ไม่สามารถใช้ผู้แทนจาก 4 ชาติเดิมได้แล้ว ชี้ให้เห็นว่าคนกลางเดิมที่เคยทำสำเร็จอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จนมาทราบภายหลังว่า ประเทศที่อยู่เบื้องหลังภาพที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จับมือกับคิมจองอึน ก็คือสวีเดน และการเลือกประเทศสิงคโปร์เป็นสถานที่ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยกันที่นั่น

 

แม้แต่ประเทศไทย ก็เคยถูกใช้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม 

 

สุรเกียรติ์กล่าวว่า ในครั้งนั้น ประเทศนอร์เวย์ได้รับความไว้ใจจากทั้ง 2 ฝ่าย ให้เป็นผู้ที่มีบทบาทเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย และมาขอใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่พบปะพูดคุย ซึ่งไทยเองก็ได้รับเงื่อนไขต่างๆ ที่ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายต้องการมากำหนดพื้นที่ปลอดภัย ครั้งแรกใช้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ และครั้งที่ 2 ใช้สวนสามพรานเป็นสถานที่หารือ เพราะทั้ง 2 พื้นที่ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ จึงสบายใจที่จะพูดคุยกัน 

 

“ดังนั้น การออกแบบกระบวนการเพื่อสันติภาพ จึงไม่ใช่แค่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน ประชุม และลงมติในแต่ละครั้ง แต่ต้องออกแบบกระบวนการตั้งแต่การเลือกบุคคลที่คู่ขัดแย้งยอมรับมาเป็นคนกลาง ซึ่งในแต่ละประเด็นความขัดแย้งก็อาจต้องใช้บุคคลที่ต่างกันออกไปตามความเหมาะสม จากนั้นจะต้องมีเวทีหรือพื้นที่ที่ความเห็นต่างสามารถถูกพูดถึงได้อย่างปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย จึงจะถือว่าสามารถเริ่มนับ 1 ในกระบวนการสันติภาพได้ แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาเจรจาอีกนานก็ตาม” ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

 

สิ่งที่อดีตรองนายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรจะเริ่มทำในเวลานี้คือ ใช้กลไกของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ประธานรัฐสภาตั้งขึ้นมาเป็นผู้ออกแบบกระบวนการสันติภาพในรูปแบบที่กล่าวมา ซึ่งมีคนที่เข้าใจกระบวนการนี้อยู่ในคณะกรรมการอยู่แล้ว และหากยังไม่สามารถเริ่มคุยที่ปัญหาใหญ่ได้ ก็อาจแยกคุยประเด็นย่อยๆ ไปก่อน เช่น ประเด็นการมีอยู่และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าอย่างไร, ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การจัดสรรทรัพยากร หรือประเด็นความขัดแย้งในสถาบันครอบครัว ในเวลานี้ก็เป็นรื่องที่น่าสนใจที่จะนำมาคุย ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่คู่ขัดแย้งจะมีความเห็นตรงกันในบางเรื่อง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับไปคุยในเรื่องที่ยากขึ้น 

 

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสมานฉันท์ของประธานรัฐสภา กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา ว่าการตั้งคณะกรรมการจากฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ยังเห็นความพยายามจากฝ่ายนิติบัญญัติที่เห็นความจำเป็นต้องขยับตัวเพื่อนำสถานการณ์ออกจากวิกฤต เพราะในเวลานั้นฝ่ายบริหารกำลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งยิ่งทำให้โอกาสในการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัยของความเห็นต่าง’ มีน้อยลงไปเรื่อยๆ 

 

ดังนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้มีเดิมพันที่ท้าทายมาก เพราะอำนาจนิติบัญญัติจะถูกพิสูจน์ว่ายังสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมได้หรือไม่ ถ้าทำไม่สำเร็จก็อาจจะเกิดวิกฤตศรัทธาทั้งต่ออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในช่วงแรกต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจะต้องสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการแสดงความคิดเห็นขึ้นมาให้ได้ เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงความเห็นต่าง ก็คงจะหมดหวังที่จะสร้างสันติภาพ 

 

ศ.กิตติคุณ สุริชัยแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในขณะนี้ เพราะคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย อาจยังไม่ต้องการที่จะพูดคุยกัน เนื่องจากยังไม่เกิดความสูญเสียร้ายแรงขึ้น ต่างจากเหตุการณ์ในต่างประเทศที่ยกมา และต่างจากเหตุการณ์ในปี 2553 แต่ก็ไม่สามารถที่จะรอให้เกิดความสูญเสียก่อนได้ ดังนั้นจึงมีความคิดว่า การเริ่มต้นคุยในประเด็นที่เป็น ‘การเมืองมากๆ’ อาจจะทำได้ยาก แต่มีประเด็นอื่นที่น่าจะนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการคุยได้ เช่น ความเดือดร้อนจากการจัดสรรทรัพยากร และการถูกใช้อำนาจกดทับเพื่อไล่ออกจากชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งประเด็นที่มีความเห็นใจต่อความเดือดร้อนเช่นนี้ อาจนำไปสู่การพูดคุยในประเด็นอื่นต่อไปได้ 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising