×

สุรเชษฐ์ชวนจับตามติ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง วันพุธนี้ หลังรัฐบาลยอมถอยไม่ใช้ร่างของเพื่อไทย มองอาจมีการยัดไส้เอื้อประโยชน์

โดย THE STANDARD TEAM
28.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (28 ตุลาคม) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าว Policy Watch หัวข้อ ‘จับตาศึกชิงร่าง พ.ร.บ.ราง ร่างไหนได้ไปต่อ?’ ซึ่งเป็นความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่จะมีการลงมติรับหลักการในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 30 ตุลาคมนี้ โดยพิจารณาจาก 3 ร่างที่มีอยู่คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน

 

สุรเชษฐ์ระบุว่า พ.ร.บ.การขนส่งทางราง เป็น พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อนำมาจัดสรรอำนาจให้กับกรมการขนส่งทางรางที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่มีอำนาจรองรับทางกฎหมาย ดังนั้นโครงสร้างอำนาจจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้

 

ทั้ง 3 ร่างที่เป็นตัวเลือกประกอบด้วย

 

  1. ร่างของคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นร่างดั้งเดิมที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผ่านวาระแรกจนมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา นำความเห็นของภาคการเมือง ภาคประชาชน และฝ่ายราชการ มาพิจารณาจนถูกแปลงร่างเป็น ‘ร่างประนีประนอม’

 

“ซึ่งวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านในเวลานั้นต่างเห็นตรงกันและเตรียมผ่านเป็น พ.ร.บ. แล้ว แต่ดันเกิดศึกกัญชาขึ้น จึงทำให้เสียเวลาสภาจนร่างดังกล่าวพิจารณาไม่ทันและตกไป ซึ่งตอนนี้คณะรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ยื่นร่างที่มีเนื้อหาเดียวกันกับร่างของคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ ที่ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ เข้ามาเหมือนเดิม จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไปทำไม” สุรเชษฐ์กล่าว

 

  1. ร่างของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอโดย มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการนำร่างประนีประนอมไปยัดไส้นอกรอบ โดยร่างทรงของใครก็ไม่ทราบที่นำมาใส่มือให้มนพรเป็นคนยื่นเข้าสภาในฐานะร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งร่างนี้มีความอันตรายเป็นอย่างยิ่งหากนำมาใช้เป็นร่างหลัก

 

  1. ร่างของพรรคประชาชนที่มีที่มาจากร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เพียงแต่มีการแก้ไขใน 3 ประเด็น ตามรายงานการสงวนความเห็นที่มีการนำเสนออย่างเปิดเผยบนโต๊ะกรรมาธิการมาผนวกกัน

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากให้จับตาดูกันคือ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนวิปรัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้และมีมติให้ใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก ทำให้เกิดคำถามว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยไว้ใจได้หรือไม่ ตนจึงไปศึกษาเทียบกับร่างของคณะรัฐมนตรี และของพรรคประชาชน จนพบว่ามีความน่ากังวลหลายประการ ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ทั้ง 3 ร่างถูกนำเสนอและมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

 

สุรเชษฐ์ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนขอความกระจ่างว่าใครเป็นคนยัดไส้ให้ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคเพื่อไทยที่มนพรเสนอ เพราะร่างของพรรคเพื่อไทยลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ และลดอำนาจรัฐในการเข้าตรวจสอบ มีเงื่อนงำที่น่าสนใจหลายประการซึ่งนำไปสู่การตัด 25 มาตราและยัดเพิ่ม 6 มาตรา รวมทั้งแอบแก้ไขเนื้อความในหลายมาตราที่ส่อไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการมากขึ้น เมื่อเทียบกับร่างประนีประนอมจากสภาชุดที่แล้ว เช่น

 

  • ลดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้ใช้บริการโดยแอบตัดมาตรา 121 ให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายให้ผู้โดยสาร หากเดินรถล่าช้าหรือยกเลิกการเดินรถ

 

  • เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยแก้มาตรา 31 ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจสามารถเป็นเจ้าของรางได้ ทั้งที่กรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านรางควรต้องเป็นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56

 

  • เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยแก้ไขมาตรา 53 จากร่างประนีประนอม โดยแอบตัดข้อความใน (4) ที่เขียนไว้ว่า ผู้ประกอบการต้อง ‘จัดส่งรายงานการประกอบกิจการและงบกระแสเงินสดทุก 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มประกอบกิจการ’ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแสดงผลประกอบการ

 

  • แอบยัดวรรค 2 ลงไปในมาตรา 53 ว่า ‘ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการกำหนดข้อกำหนดตามวรรค 1 (6) และการกำหนดหน้าที่อื่นตามวรรค 1 (7) ก่อให้เกิดภาระและผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาต ให้กรมการขนส่งทางรางกำหนดการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นธรรมด้วย’ ส่งผลให้รัฐขยับยากขึ้นในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต้องระแวงกับเรื่องของการชดเชยนายทุนให้มากขึ้น

 

  • แอบตัดมาตรา 58 ทิ้งจากร่างประนีประนอมที่เขียนไว้ว่า ‘ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องส่งบัญชีแสดงฐานะทางการเงินและงบการเงินให้กับอธิบดีทราบ’ เห็นได้ชัดว่าเป็นความอยากซ่อนตัวเลขผลประกอบการ และเห็นได้ชัดว่าร่างทรงนี้ต้องมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแน่นอน ที่ต้องการซ่อนตัวเลขผลประกอบการซึ่งเป็นตัวเลขในรายละเอียดอย่างต้นทุนการเดินรถต่อผู้โดยสาร 1 คน และเป็นข้อมูลทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับรัฐในการพิจารณา โดยเฉพาะในการพิจารณาสัมปทาน

 

  • ลดอำนาจรัฐในการเข้าไปตรวจสอบโดยตัดมาตรา 87 จากร่างประนีประนอม ทำให้รัฐไปตรวจสอบเชิงเทคนิค (Accident Investigation) ได้ยากขึ้น เช่น กรณีรถไฟชนกัน หากไม่มีมาตรานี้เอกชนสามารถแอบปกปิดทำลายหลักฐานบางอย่างก่อนรัฐเข้าไปตรวจสอบได้ง่าย

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า แม้ร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรีแพทองธารที่เหมือนกับร่างดั้งเดิมของคณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จะไม่เลวร้ายแบบร่างของพรรคเพื่อไทย แต่หากเริ่มจากร่างของพรรคประชาชนจะเป็นการเร็วกว่าและดีกว่า เพราะหากกลับไปใช้ร่างดั้งเดิมก็จะเท่ากับประเทศเสียเวลาไปฟรี 3 ปี เป็นการกลับไปเริ่มใหม่ที่จุดเดิม

 

“คำถามคือ แล้วทำไมไม่ใช้ร่างประนีประนอมที่ผ่านการพิจารณาจากตัวแทนของทุกพรรคการเมืองมาแล้ว อีกทั้งการกลับไปเริ่มต้นใหม่จากจุดเดิมมีความเสี่ยงที่จะถูกแปลงร่างให้ไปคล้ายกับร่างของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นร่างทรงของใครก็ไม่ทราบ” สุรเชษฐ์กล่าว

 

นอกจากนี้ร่างของพรรคประชาชนยังเหมาะสมกว่าที่จะเป็นร่างหลัก เพราะเป็นร่างที่มีพื้นฐานมาจากร่างที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญจากสภาชุดที่แล้วมาแล้ว เป็นร่างประนีประนอมที่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าควรให้อำนาจไปสู่กรมการขนส่งทางรางเท่าไร, รักษาสิทธิของประชาชน, ไม่เอาเปรียบผู้ประกอบการเกินไป, รัฐมีอำนาจพอที่จะตรวจสอบ และยังมีการแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาตามรายงานการสงวนความเห็นใน 3 ประเด็น ได้แก่

 

  1. แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวในมาตรา 5 โดยยืนยันว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องเป็นประธาน ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะไปทำให้โครงสร้างอำนาจทางรางบิดเบี้ยวแตกต่างไปจากทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

 

  1. การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในมาตรา 14 วรรค 2 ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมจัดทำแผนในเขตภูมิภาค

 

  1. มาตรา 64 เพิ่มเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารว่าต้องคำนึงถึงค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพด้วย

 

สุรเชษฐ์ยังชวนให้จับตามติในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ โดยคาดว่าวิปรัฐบาลน่าจะกลับลำ พลิกมติจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นหลักในการพิจารณา เปลี่ยนมาใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีแทน ส่วนตัวเห็นด้วยที่ไม่ใช้ร่างของพรรคเพื่อไทยเป็นร่างหลัก เพราะมีการยัดไส้นอกรอบและเอื้อประโยชน์อย่างชัดเจน แต่คำถามคือทำไมไม่ใช้ร่างของพรรคประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising