×

สุรชาติ บำรุงสุข วิเคราะห์วิกฤตยูเครน ชี้รัสเซียอาจเดินเกมไกลกว่าการผนวกดอนบาส หากเกิดสงครามจะกระทบทุกฝ่าย

23.02.2022
  • LOADING...
สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดขึ้นในชายแดนยูเครน หลังรัสเซียรับรองเอกราชแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ปัจจุบันอยู่ในความควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

 

และนี่คือบทสรุปสำคัญ

 

  • ดร.สุรชาติมองว่าความเคลื่อนไหวของรัสเซียมีนัยของการขยายดินแดน และหากมีการผนวกดินแดนทั้งโดเนตสก์และลูฮันสก์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว จะทำให้รัสเซียสามารถส่งทหารเข้าไป ซึ่งเท่ากับว่ากองกำลังรบรัสเซียยิ่งประชิดยูเครนมากขึ้น โดยคาดว่าทหารรัสเซียบวกกับนักรบฝ่ายกบฏในพื้นที่อาจมีมากถึง 190,000 คนในเวลานี้ ตามข้อมูลตัวเลขล่าสุด ขณะที่ตัวเลขทหารกองทัพบกยูเครนอยู่ที่ 140,000 คน ซึ่งจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงปริมาณ

 

  • ปี 1962 เคยเกิดวิกฤตการณ์จรวดคิวบาที่สร้างความตึงเครียด แต่การซ้อมรบของรัสเซียที่มีการทดลองยิงอาวุธนิวเคลียร์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลมากขึ้น ต่างจากการทดสอบอาวุธของเกาหลีเหนือครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะเมื่อรัฐมหาอำนาจใหญ่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ถือว่ามีนัยสำคัญ

 

  • ส่วนคำถามที่ว่ามีโอกาสเกิดสงครามใหญ่หรือไม่นั้น ดร.สุรชาติมองว่า แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นต่ำสุด คือการใช้มาตรการทางการทูต แต่ไม่ใช่การทูตในแบบที่เราเข้าใจ หากแต่เป็นการทูตที่ใช้กำลังบังคับ หรือการทูตที่มากับรถถัง มากับทหารราบ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าภูมิภาคดอนบาสของยูเครนถูกเฉือนออกอย่างแน่นอน และมีโอกาสสูงที่จะถูกรัสเซียผนวกเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งการผนวกดินแดนเพิ่มถือเป็นการเปิดเกมโดยตรง 

 

  • แต่การผนวกดอนบาสอาจยังไม่เพียงพอสำหรับรัสเซีย โดยรัสเซียจะรุกคืบเข้าพื้นที่ตอนในอีก โดยใช้ดอนบาสเป็นที่ตั้งฐานทัพ คำถามที่ตามมาคือ รัสเซียจะหยุดแค่นี้ หรือจะยกระดับขึ้นไปอีก ซึ่งเราอาจได้เห็นรัสเซียใช้มาตรการทางทหารมากขึ้น โดย ดร.สุรชาติกล่าวว่า ทางเลือกที่สองจะเป็น Limited Offensive หรือ ‘ปฏิบัติการเชิงรุกแบบจำกัด’ ซึ่งในบริบทเช่นนี้ รัสเซียอาจใช้กำลังทางบกเป็นหลัก บวกกำลังทางอากาศบางส่วน โดยเป็นสงครามที่ไม่ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ กล่าวคือยูเครนถูกเฉือนดินแดนดอนบาส ทำให้อ่อนแอลง แต่ไม่ได้ถูกรัสเซียยึดครองทั้งประเทศ แต่คำถามที่สำคัญคือสงครามจะจำกัดขอบเขตแค่ไหน เพราะยังไม่มีใครเดาใจวลาดิเมียร์ ปูตินได้ 

 

  • ระดับที่ 3 คือรัสเซียตัดสินใจเปิดเกมใหญ่ หรือการรุกทางทหารเต็มรูปแบบ (Full Offensive) โดยใช้กองกำลังรบทางบก ทางอากาศ และทางเรือ ซึ่งจะมีกองทัพเรือเข้าร่วมด้วย ดร.สุรชาติชวนให้จับตากองทัพเรือของรัสเซียในทะเลดำ เพราะหลังจากรัสเซียได้ไครเมีย เท่ากับเปิดพื้นที่ให้รัสเซียสามารถมีทหารทางทะเลที่จะกดดันยูเครนได้

 

  • แต่ในความเป็นสงครามใหญ่ แน่นอนว่ามีการสูญเสีย มีการรบอย่างเต็มที่ คำถามสำคัญคือสหรัฐฯ และ NATO จะเข้ามามีบทบาทแค่ไหน ทั้งในออปชันที่ 2 และ 3 ซึ่งหากรัสเซียเลือกทางเลือกที่ 3 นี้ ยูเครนอาจถูกยึดครอง และตามมาด้วยสงครามต่อต้านรัสเซียในยูเครน และนำไปสู่อีกโจทย์หนึ่ง คือเราจะเห็นคลื่นผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้าสู่ยุโรป ซึ่งจะกระทบตลาดหุ้นเป็นอันดับแรก และส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก

 

  • ดร.สุรชาติฉายภาพว่า ถ้าปัญหายูเครนจบลงด้วยการที่ยูเครนถูกยึด จะถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัสเซียตัดสินใจที่จะขึ้นมามีบทบาท และอาจขอทวงสิทธิ์คืน คือกลับเข้าไปยึดดินแดนที่ตนเองเคยครอบครอง หรือเป็นพื้นที่ที่เคยอยู่ในความควบคุม ตามมาด้วยสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียกำลังหวนกลับไปสู่ความเป็นสหภาพโซเวียต

 

  • ในทางจิตวิทยาการเมืองระหว่างประเทศ รัสเซียกลัวการรุกคืบของฝ่ายตะวันตก เมื่อกางแผนที่ดูจะเห็นว่า หากยูเครนสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก NATO ได้สำเร็จ จะทำให้กองกำลังหรืออิทธิพลของตะวันตกเข้าประชิดชายแดนรัสเซียทันที หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าสงครามใหญ่ที่รัสเซียเคยเผชิญนั้น ครั้งแรกมาจากนโปเลียน ครั้งที่สองมาจากฮิตเลอร์ ซึ่งล้วนมาจากยุโรปทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือรัสเซียต้องการมีแนวเขตรัฐกันชน ซึ่งหมายถึงการที่ชาติตะวันตกไม่เข้าไปยุ่งกับประเทศที่เคยเป็นอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตเดิม

 

  • กับคำถามว่า คนยูเครนอยากไปอยู่กับยุโรปหรือรัสเซียมากกว่ากัน ดร.สุรชาติ ตอบว่าข้อนี้ตอบยาก เรื่องนี้ต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ เนื่องจากหลังปฏิวัติบอลเชวิคที่มีการดึงยูเครนเข้าไปส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตนั้น คนรัสเซียจำนวนมากได้เข้าไปอยู่ในยูเครน ดังนั้นจึงทำให้มีคนสองส่วน คือคนที่มีเชื้อสายยูเครนเดิมกับคนรุ่นหลังที่เป็นรัสเซีย ซึ่งคนรุ่นหลังส่วนนี้เองที่เป็นปีกที่โปรรัสเซียในยูเครน และอาจผันตัวไปเป็นพวกขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเช่นในดอนบาสที่เห็นได้เด่นชัด

 

  • ส่วนประเด็นที่ว่า NATO มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องรับยูเครนเป็นสมาชิก และถ้าหาก NATO พักเรื่องนี้ไว้ก่อน จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายหรือไม่ ดร.สุรชาติมองว่ารอบนี้เป็นประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนที่แสดงเจตจำนงต้องการสมัครเอง เมื่อมองในมุมตะวันตกแล้ว หลังสิ้นสุดสงครามเย็น หากอิทธิพลของ NATO ขยายออกไปจะเป็นผลดีกับฝ่ายตะวันตก แต่สำหรับรัสเซียแล้ว พวกเขายอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้พื้นที่ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียตปลีกตัวไปอยู่กับตะวันตก ดังนั้นความหวังในการเจรจาโดยที่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอยจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย เราจะเห็นว่าประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส หรือนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนี พยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยหรือกาวใจ แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า   

 

  • ท้ายสุด ดร.สุรชาติเชื่อว่า ทั้งประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึงผู้นำยุโรปต่างรู้แก่ใจว่า หากเกิดสงครามขึ้นรอบนี้ย่อมส่งผลเสียกับทุกฝ่าย แม้แต่รัสเซียเองก็บอบช้ำ เพราะก่อนหน้านี้ไบเดนได้ลงนามคำสั่งพิเศษห้ามการลงทุนและการค้าในรัสเซียและพื้นที่ดอนบาส ซึ่งในมิติของเศรษฐกิจระหว่างประเทศหมายถึงการตัดรัสเซียออกจากเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลกตะวันตก ซึ่งแม้รัสเซียไม่กลัวผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรเพราะเคยเจอมาหลายครั้งนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ในจอร์เจียเมื่อปี 2008 ไปจนถึงการผนวกไครเมียในปี 2014 แต่ต้องยอมรับว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมมีแน่นอน

 

  • กับคำถามสุดท้ายว่าไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรกับวิกฤตความขัดแย้งนี้ ดร.สุรชาติมองว่า อันดับแรกเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วน เนื่องจากเกิดวิกฤตคู่ขนานทั้งโควิดระบาดและปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่วนอีกผลกระทบเป็นเรื่องของระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งหากยูเครนถูกยึดหรือถูกบุกโดยนัยใดนัยหนึ่ง จะกระทบกับการจัดระเบียบยุโรปหลังสงครามเย็น ซึ่งในมิติการเมืองต้องดูต่อว่าโจทย์นี้จะขยายต่ออย่างไร ซึ่งดูเหมือนอาจไกลไทย แต่ ดร.สุรชาติเชื่อว่าผลกระทบอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน

 

ภาพ: Pierre Crom / Getty Images  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X