×

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ประเมินผลงานการต่างประเทศไทยรอบ 6 เดือนแรก แนะคิดใหม่ ทำใหม่

02.04.2024
  • LOADING...

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวเกี่ยวกับภาพรวมผลงานด้านการต่างประเทศไทย และผลการเยือนต่างประเทศในรอบ 6 เดือน โดยชี้ว่า ไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์โลกแล้ว

 

ปานปรีย์ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะโลกในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับที่ผ่านมาดูเหมือนว่าไทยห่างหายไปจากจอเรดาร์โลก มีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศน้อยลง อีกทั้งบทบาทของไทยในอาเซียนก็ลดลงอย่างมาก ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ GDP ไทยขยายตัวต่ำลง เนื่องจากพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอยู่มาก และได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามและความขัดแย้ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตไทยต้องเน้น ‘นโยบายเชิงรุก’ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หากไทยไม่คำนึงถึงสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศก็จะดำเนินไปผิดทิศทาง

 

ไทยชู ‘นโยบายการทูตเชิงรุก’

 

รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า ‘การทูตเชิงรุก’ มีส่วนทำให้ไทย ‘ได้รับการยอมรับ’ และ ‘มีสถานะดีขึ้น’ จนทำให้กลับมาสู่จอเรดาร์โลกอีกครั้ง นอกจากนี้ยังจะเห็นได้จากการที่ผู้นำต่างประเทศเดินทางเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ประกอบกับการเข้าร่วมเวทีประชุมสำคัญต่างๆ และการเดินทางเยือนต่างประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปานปรีย์ชี้ว่า การเยือนแต่ละครั้งไม่ใช่แค่การไปจับมือ แต่ยังมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ อย่างน้อยที่สุดคือการสานต่อความร่วมมือที่มีมาก่อน และขยายความร่วมมือในอนาคต 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง มองว่าวันนี้ไทยเปิดตัวมากขึ้นกว่ารัฐบาลเดิม เห็นได้จากบทบาทและการเดินทางเยือนต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วันนี้เราพยายามกลับสู่จอเรดาร์อีกครั้ง

 

แต่คำถามสำคัญในทรรศนะของ ดร.สุรชาติคือ ‘อะไรคือทิศทางนโยบายการต่างประเทศของไทยขณะนี้’ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ แต่แนวทางหลายอย่างยังเป็นไปในทิศทางเดิมๆ พร้อมทั้งระบุว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ว่าไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์โลกแล้วคือ ‘พฤติกรรมหรือแนวนโยบายของไทย’ เอง

 

‘อะไรคือการทูตเชิงรุก’ เป็นสิ่งที่จะต้องตอบให้ได้ชัด ดร.สุรชาติอธิบายเสริมว่า การดำเนินนโยบายเชิงรุกของไทยเด่นชัดอย่างมากในสมัยของชาติชาย ชุณหะวัณ และทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเห็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินนโยบายนั่นคือ การมีกลุ่มคนหรือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็น ‘Thinktank’ หรือผู้คิด-ผู้ผลักดันนโยบายให้กับรัฐบาล โดยในยุคชาติชาย บ้านพิษณุโลกถือว่ามีบทบาทอย่างมาก ขณะที่ในยุคทักษิณก็มีบ้านพิษณุโลกในอีกเวอร์ชันหนึ่งเป็นกำลังสำคัญ โดยเฉพาะ อ.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ศ.พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แต่นโยบายเชิงรุกในปัจจุบันกลับดูเลื่อนลอย อีกทั้งการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเดียวไม่ใช่การรุก แต่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเปิดภาพลักษณ์ใหม่ของไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าในยุคเศรษฐาได้ทำและประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับรัฐบาลเดิม แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้าง

 

ดร.สุรชาติชี้ว่า นโยบายเชิงรุกอาจฟังดูเท่ แต่ไม่มีความหมาย หากไม่สามารถตอบได้ว่า ‘อะไรคือองค์ประกอบที่จะทำให้นโยบายเชิงรุกที่ว่านี้เกิดขึ้นได้จริง’ พร้อมทั้งเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องไม่พานโยบายการต่างประเทศไทยไป ‘ติดกับดักภาษา’ ที่ฟังดูสวยหรู แต่ไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรม โดยสิ่งที่จะตอบรัฐบาลเพื่อไทยในยุครัฐบาลเศรษฐาได้ดีที่สุดคือคำขวัญเก่าของพรรคไทยรักไทย นั่นคือ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ อาจถึงเวลาที่ไทยต้องปรับนโยบายต่างประเทศใหม่อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ปรับด้วยมิติของภาษาและวาทกรรม

 

การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของไทย

 

ปานปรีย์ชี้ว่า การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเป็นแนวนโยบายด้านการทูตเพื่อผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเศรษฐาและปานปรีย์ได้พบกับ CEO และผู้แทนของบริษัทชั้นนำของโลก เพื่อมองหาโอกาสและดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเดินหน้าผลักดันนโยบายฟรีวีซ่าให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อกระตุ้นตัวเลขทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

ในขณะที่ ดร.สุรชาติมองว่า ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ‘เป็นส่วนประกอบ’ ของนโยบายต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ส่วนหลัก โดย ดร.สุรชาติยังเชื่อว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังอาจต้องฝากไว้กับกระทรวงพาณิชย์ โดยไทยจะต้องส่งเสริมศักยภาพของกระทรวงพาณิชย์ให้มีบทบาทเหมือนกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (METI) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเอเชีย

 

ในยุคปัจจุบันสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศมีความเข้มข้นอย่างมาก และเป็น ‘ยุคสงครามเย็นใหม่’ ดร.สุรชาติชี้ว่า นโยบายการต่างประเทศไทยยังจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่ประเด็นปัญหาการเมืองมากกว่าที่จะวางน้ำหนักไว้ที่เศรษฐกิจ ไม่ได้กำลังจะปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไม่เป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก โดยบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศต้องตอบโจทย์ในข้อนี้ว่า ‘ไทยจะวางจุดยืนของตัวเองอย่างไร’ ในยุคสงครามเย็นใหม่ในศตวรรษที่ 21

 

บทบาทไทยในอาเซียน กรณีวิกฤตเมียนมา 

 

ปานปรีย์กล่าวว่า ไทยมี ‘การวางจุดยืนที่สมดุล’ และ ‘มีบทบาทแข็งขัน’ อีกครั้งในอาเซียน หลังจากที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งในเมียนมา ทำให้ไทยกลับมามีบทบาทนำอีกครั้งในอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมสันติภาพในเมียนมา อีกทั้งไทยยังมี ‘การทูตที่ทันท่วงทีในยามวิกฤต’ ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนไทยกว่า 700 คน ออกจากเมืองเล่าก์ก่าย ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์

 

โดย ดร.สุรชาติกล่าวว่า ไทยควรเสนอกับอาเซียนว่าไทยจะขอรับบทบาทส่วนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ไทยเปิดพื้นที่ส่งมอบความช่วยเหลือมาโดยตลอด แต่บทบาทไทยหลังรัฐประหารเมียนมากลับมีลักษณะเป็น ‘เด็กดื้อของอาเซียน’ เนื่องจากรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังพยายามสร้างเวทีประชุมเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับไทยและอาเซียน

 

ดร.สุรชาติยังแสดงความเห็นว่า ภาพการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ‘ได้ภาพที่ดี แต่ตามมาด้วยเสียงนินทาตามแนวชายแดน’ ทั้งยังเกิดความหวาดระแวงไทย ด้วยทรรศนะที่มองว่า ‘ไทยยังยืนอยู่กับรัฐบาลทหารเมียนมา’ เนื่องจากไทยปฏิเสธแผนการส่งมอบความช่วยเหลือที่กลุ่มกะเหรี่ยง KNU เสนอมา และหันไปหากลุ่มกะเหรี่ยง BGF ซึ่งเคยใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมามาก่อน ประกอบกับกลุ่ม BGF ได้ประสานงานกับกาชาดเมียนมา ซึ่งในสายตาของทุกฝ่ายที่ทำงานชายแดนจะทราบดีว่านี่คือคนของกองทัพเมียนมา คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ความช่วยเหลือที่ไทยส่งมอบให้นี้เป็นการส่งความช่วยเหลือให้กับฝ่ายรัฐบาลทหารหรือไม่ และความช่วยเหลือนี้จะส่งถึงมือผู้ประสบภัยชาวเมียนมามากน้อยแค่ไหน

 

“วิกฤตเมียนมาเป็นโจทย์ท้าทายที่กำลังวัดทั้งปัญญาและความสามารถของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศและกองทัพไทย”

 

ดร.สุรชาติเสนอแนะแนวทางของไทยในวิกฤตเมียนมาว่า ไทยอาจต้องรักษาระยะห่างจากรัฐบาลทหารเมียนมามากยิ่งขึ้น, เปิดพื้นที่ติดต่อกับรัฐบาลพลัดถิ่นฝ่ายประชาธิปไตย (NUG) และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ, ใช้พื้นที่ชายแดนบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดกาญจนบุรี เป็นสถานีส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, เริ่มต้นทำ ‘ความริเริ่มกรุงเทพฯ’ (Bangkok Initiative) เพื่อผลักดันการประชุมสันติภาพ Myanmar Peace Forum และดึงทุกกลุ่มในความขัดแย้ง รวมถึงตัวแสดงภายนอก เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, อินเดีย และญี่ปุ่น เข้าร่วมวงเจรจาหาทางออกให้วิกฤตเมียนมา และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้พื้นที่ตามแนวรอยต่อชายแดนไทยจะมีสภาวะเป็น Safe Zone เนื่องจากสงครามเริ่มเคลื่อนลงใต้ ซึ่งเข้าใกล้แนวชายแดนไทยมากยิ่งขึ้น

 

คิดใหม่ ทำใหม่ 

 

ดร.สุรชาติเน้นย้ำว่า โจทย์ที่สำคัญที่สุดของกระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของปานปรีย์คือ ต้องตอบให้ได้ว่า ‘อะไรคือยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย’ ที่ต้องไม่อิงกับภาษาที่เลื่อนลอยอย่าง ‘การทูตเชิงรุก’ รวมถึงวาทกรรมที่ได้ยินจนชินหูว่า ‘ไทยจะวางตัวเป็นกลาง’ เพราะปัจจุบันไม่มีใครเชื่อว่าไทยเป็นกลาง 

 

ถ้าหากมีญัตติเกี่ยวกับยูเครนในเวทีสหประชาชาติอีกในอนาคต และไทยยังยืนที่จะวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียง สิ่งนี้อาจสะท้อนว่าทิศทางการดำเนินนโยบายการต่างประเทศไทยยังไม่ได้ต่างไปจากเดิม และยิ่งตอกย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ใช่นโยบายเชิงรุก

 

“การคิดใหม่ ทำใหม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่ถ้าไม่คิดใหม่ ทำใหม่ สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือมีโอกาสเป็นวิกฤตอย่างแน่นอน”

 

แฟ้มภาพ: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X