“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว พุทธศาสนิกชนต่างทราบกันดีว่า ในดิถีเพ็ญเดือน 3 เช่นนี้ เป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระสาวก 1,250 รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุและเป็นพระอรหันต์
“การได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้นั้น มิได้อยู่ที่การขึ้นทะเบียนหรือการป่าวประกาศ หากอยู่ที่การศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ด้วยวิธีการฟังหรือการอ่าน เปรียบเสมือนการศึกษาแผนที่นำทางให้รอบคอบชัดเจน จะได้ไม่หลงทางและไม่เสียเวลา การศึกษาพระธรรมในระดับนี้เรียกว่า ‘ปริยัติธรรม’ ซึ่งจำเป็นยิ่งสำหรับพุทธบริษัท ในฐานะที่เป็น ‘สาวก’ ซึ่งแปลว่าผู้ฟัง ย่อมไม่ใช่ผู้คิดเองตรัสรู้เอง แต่ต้องวางตนเป็นผู้ฟังที่ดีของพระศาสดา
“การศึกษาที่ดีจักช่วยป้องกันไม่ให้หลงใหลไปเป็นมิจฉาทิฐิ ไม่นับถือหรือเชื่อสิ่งผิดๆ เพราะมีพระพุทธธรรมเป็นเครื่องสกัดกั้นความตกต่ำ และคอยชี้หนทางที่ถูกต้องให้อยู่ตลอดเวลา
“ครั้นศึกษาพระธรรมในระดับการฟังจนเจนจบแล้ว คุณภาพของจิตใจย่อมยกระดับไปสู่การปฏิบัติที่เรียกว่า ‘ปฏิบัติธรรม’ เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถเข้าถึงเฉพาะสภาพธรรมที่ปรากฏ จนปราศจากความยึดมั่นถือมั่นว่านั้นเป็นเรา นี้เป็นของเรา น้อมนำเข้าไปถึง ‘ปฏิเวธธรรม’ คือการบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด
“วันมาฆบูชาอันเป็นวันประกาศหัวใจพระศาสนา จึงเป็นโอกาสที่ชาวพุทธพึงปฏิญาณตนว่าจะหันมาศึกษาพระธรรมอย่างจริงจัง มิใช่เพียงในระดับพิธีกรรมหรือโดยผิวเผิน เพื่อให้เกิดสติปัญญา สามารถอำนวยความร่มเย็นมาสู่ชีวิตและสังคมส่วนรวมได้สมความมุ่งมาดปรารถนา
“ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า