×

ศาลฎีกายกฟ้อง คสช. ข้อหากบฏ กรณีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

โดย THE STANDARD TEAM
22.06.2018
  • LOADING...

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ ‘ยกฟ้อง’ คดีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวกรวม 15 คน เป็นโจทก์ฟ้องพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช., พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว และพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

นายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กล่าวว่าการกระทำของ คสช. ศาลชี้ว่าเป็นความผิดในข้อหากบฏจริง แต่มาตรา 48 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่ง คสช. เขียนขึ้นเองได้นิรโทษกรรมให้ คสช. แล้ว จึงเห็นว่าการกระทำของ คสช. มิใช่ความผิดและหลุดพ้นจากความผิดทั้งปวง

 

นายอานนท์ระบุว่าแม้ศาลจะยกฟ้อง แต่การฟ้องครั้งนี้ก็ทำให้สังคมเห็นว่าประชาชนสามารถฟ้องคณะรัฐประหารได้ นี่จึงถือเป็นชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของสังคมไทยที่ไม่สามารถเอาผิดคณะรัฐประหารได้ตามกฎหมาย เนื่องจากยังติดอยู่กับเงื่อนไขเดิมๆ และเป็นอุปสรรคในการเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

ส่วนการยกเลิกผลพวงรัฐประหารยังคงต้องเดินหน้าต่อไปอีก 10-20 ปี ทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็รอได้ แต่ต้องทำให้คนในสังคมไทยเห็นตรงกันก่อนว่า ‘รัฐประหาร’ สร้างความเสียหายให้ประเทศเหมือนกับหลายประเทศที่สามารถเอาผู้นำเผด็จการในอดีตมาลงโทษ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและสนับสนุนนักการเมืองที่ยึดมั่นประชาธิปไตยเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ รวมทั้งผลพวงอื่นๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน

 

ทั้งนี้ มาตรา 113 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising