×

ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ภรรยา-ลูก ‘สมัคร สุนทรเวช’ ชดใช้ 587 ล้านบาท ปมรถและเรือดับเพลิง แต่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอด

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2022
  • LOADING...
สมัคร สุนทรเวช

วานนี้ (16 มิถุนายน) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนสั่งให้ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยา สมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ กาญจนากร ไชยลาโภ, กาญจนาภา มุ่งถิ่น บุตรสาว ในฐานะทายาทของสมัคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 – 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

 

ทั้งนี้ หากคดีที่กรุงเทพมหานครฟ้องบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายเรียกทรัพย์คืน ตามคดีหมายเลขดำที่ กค.155/2552 โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดี ทำให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ทายาททั้ง 3 รับผิดตามอัตราส่วนตามที่ศาลกำหนดให้สมัครรับผิดชอบเพียงนั้น ทั้งนี้ ทายาททั้ง 3 ต้องรับผิดต่อกรุงเทพมหานครเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของสมัครที่ตกทอดแก่ตน

 

สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 3 ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่สมัครต้องรับผิดชอบจากกรณีการทุจริตในโครงการจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานครกับบริษัทสไตเออร์ฯ เมื่อปี 2547-2548 ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้สมัครซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของผู้ร่วมกระทำผิด ต้องรับผิดชดใช้เป็นเงิน 956,931,442 บาท

 

ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ทายาททั้ง 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสมัครกระทำละเมิด ระบุว่า การที่สมัครในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 49 (1) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 และเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อตามข้อ 5 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ 2538 ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อตามที่ พล.ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอเรื่องผ่าน คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานครขณะนั้น เพื่อให้พิจารณามาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือทักท้วงถึงการกระทำดังกล่าว และยังคงอนุมัติให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อ

 

การกระทำของสมัครจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นการกระทำละเมิดต่อกรุงเทพมหานครตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเมื่อความเสียหายที่กรุงเทพมหานครได้รับเกิดจากการจัดซื้อที่ไม่เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุ ปี 2538 ทำให้ราคาที่ซื้อสูงเกินจริงเป็นเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท และการจัดซื้อยังมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย จึงสมควรกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของสมัคร โดยเทียบเคียงแนวทางการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ตามหนังสือกระทรวงการทางด่วนที่สุดที่ กค.0406.2/ว.66 ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาขั้นสูงหรือผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อรับผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากกำหนดราคาสูงกว่าความเป็นจริง โดยให้รับผิดในอัตราร้อยละ 30 ของมูลค่าความเสียหาย

 

เมื่อสมัครเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อ จึงสมควรต้องรับผิดต่อกรุงเทพฯ ในอัตราร้อยละ 30 ของความเสียหายจากเงินจำนวน 1,958,600,000 บาท คิดเป็นเงินที่ต้องรับผิด 587,580,000 บาท

 

เมื่อความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของสมัครต่อกรุงเทพมหานครเป็นความรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นเงิน มิใช่ความรับผิดซึ่งตามกฎหมายถือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของสมัครผู้ตายโดยแท้ ดังนั้นบุคคลทั้ง 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของสมัครจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 587,580,000 บาท ให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดให้แก่ตน ทั้งนี้ ตามมาตรา 1600 และมาตรา 1601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising