×

เปิด 4 เงื่อนไขมาตรการหนุนผลิต ‘รถยนต์ไฮบริด’ หลังบอร์ด EV ไฟเขียวลดภาษี 5 ปี คาดดึงค่ายรถลงทุนไทยไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

26.07.2024
  • LOADING...

บอร์ด EV เคาะมาตรการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไฟเขียวปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) ตั้งแต่ปี 2571-2575 หรือช่วง 5 ปี ภายใต้ 4 เงื่อนไข โดยบีโอไอมั่นใจว่าจะมีค่ายรถสนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 5 ราย เงินลงทุน 4 ปีไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด EV ที่มี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เห็นชอบ ‘มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า’

 

 

โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คนแบบไฮบริด (HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในและระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาว ผ่านการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ

 

  1. การลดการปล่อยคาร์บอน 
  2. การลงทุนเพิ่มเติม 
  3. การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ 
  4. การติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์ 

 

เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก’

 

ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2% ทุก 2 ปี (ซึ่งปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 8% สำหรับรถที่ปล่อยคาร์บอน เท่ากับหรือน้อยกว่า 100 g/km หากถ้าปล่อย 101-120 g/km จะเก็บอยู่ที่ 16%)

 

โดยหลังจากนี้จะกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่จะขอรับสิทธิ์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้าน ดังนี้ 

 

  1. ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
  • การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 6%
  • การปล่อย CO2 101-120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิต 9%

 

  1. ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และ/หรือ บริษัทในเครือในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2570 ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท

 

  1. ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ์ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป 

 

โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง

 

  • กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5 พันล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง

 

  • กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3 พันล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่ถึง 5 พันล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น 

 

  1. ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิ์อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้
  • ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB)
  • ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW)
  • ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) 
  • ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร (LDW) 
  • ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD)
  • ระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ที่ประชุมบอร์ด EV ได้มอบหมายให้บีโอไอร่วมกับกระทรวงการคลัง นำมาตรการนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศต่อไป 

 

“รถยนต์ HEV เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มรถยนต์ HEV จึงได้ออกมาตรการนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 ราย”

 

นฤตม์กล่าวอีกว่า มั่นใจว่ามาตรการนี้จะสร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องในช่วง 4 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรระดับโลกด้วย 

 

ปีนี้ 24 แบรนด์ลงทุน EV ในไทยแล้ว 8 หมื่นล้าน

 

นฤตม์ระบุอีกว่า บอร์ด EV ได้สรุปผลของมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งบีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์ BEV ประเภทต่างๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท 

 

ผ่านมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 โดยกรมสรรพสามิตระบุว่า มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 24 แบรนด์ คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 118,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวน 37,679 คัน เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียน 13,634 คัน เพิ่มขึ้น 38% โดยขณะนี้มียานยนต์ BEV ทุกประเภทจดทะเบียนสะสมในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 183,236 คัน

 

ด้าน ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่นผ่านนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต’ โดยได้หารือผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ถึงความร่วมมือส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุน ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยจะเน้นผลักดันอุตสาหกรรมศักยภาพสูง เช่น อุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมยา และการแพทย์

 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฮบริดอีวี (Hybrid EV: HEV) เพื่อเดินหน้าต่อยอดขยายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) กับรัฐบาลญี่ปุ่นระดับท้องถิ่น (Local to Local) เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจระหว่างกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X