×

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ห่วงปัญหาช่องแคบไต้หวันบานปลาย ทำเสียหายหนักกว่ายูเครน แนะจับตาจีนจะ ‘กินร้อน’ หรือ ‘กินเย็น’

10.08.2022
  • LOADING...
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ เผยถึงความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน และจีนกับสหรัฐอเมริกา หลังการเดินทางเยือนไต้หวันล่าสุดของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้สร้างความหวั่นวิตกทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยมีความกังวลว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจลุกลามไปกระทบห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นเจ้าตลาดอยู่

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการ WEALTH IN DEPTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลกจะต้องจับตาดูในช่วงหลายปีจากนี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามบานปลายจนสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกได้มากกว่าสงครามในยูเครน

 

ศุภวุฒิระบุว่า หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และไต้หวันประเมินว่า จีนจะมีศักยภาพทางการทหารเพียงพอสำหรับการบุกไต้หวันได้ในปี 2025-2027 เมื่อพิจารณาจากการใช้จ่ายงบด้านกลาโหมของจีนในปัจจุบันที่สูงกว่าไต้หวันถึง 20 เท่า และในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา นับจากการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในครั้งก่อน จีนก็ได้จัดเตรียมกองทัพเพื่อวัตถุประสงค์นี้เรื่อยมา

 

อย่างไรก็ตาม ศุภวุฒิยังมองว่าโอกาสที่จีนจะตัดสินใจบุกไต้หวันในระยะสั้นยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากจีนเองยังไม่มีความพร้อมจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 

 

  1. ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ 

 

  1. ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีความเปราะบาง

 

  1. การที่จีนต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม National Party Congress ในช่วงปลายปี ซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะต้องให้ความสำคัญเพื่ออยู่ต่อในอำนาจ

 

“ในปี 2024 ไต้หวันและสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ต้องจับตาดูว่าหากสหรัฐฯ​ มีปัญหาทะเลาะกันในประเทศ จีนจะฉวยโอกาสนี้บุกไต้หวันหรือไม่ งานนี้คงต้องวัดใจจีนว่าจะกินร้อนหรือกินเย็น” ศุภวุฒิกล่าว 

 

ศุภวุฒิระบุว่า หากจีนเลือกกินเย็น คือ ค่อยๆ พัฒนาเศรษฐกิจตัวเองให้แซงหน้าสหรัฐฯ ไปในอีก 20 ปี ทำให้ตัวเองใหญ่จนประเทศอื่นๆ มองว่าต้องพึ่งพาจีน เมื่อถึงจุดนั้นจีนจะสามารถบอกสหรัฐฯ ให้ถอนทหารออกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้ ทำให้รู้ว่าภูมิภาคนี้เป็นของจีน เหมือนที่สหรัฐฯ บอกว่าลาตินอเมริกาเป็นของเขา ขณะที่ยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็จะต้องอยู่กับจีนและคบกับสหรัฐฯ ตามที่จีนเห็นควร เกิดเป็นระเบียบโลกใหม่ หรือ New World Order

 

แต่ในกรณีที่จีนเลือกกินร้อน คือ บุกไต้หวันเร็ว กรณีนี้จีนจะต้องยึดไต้หวันให้ได้ใน 3 วัน และทำให้สหรัฐฯ ไหวตัวไม่ทัน ซึ่งในกรณีนี้มีความเสี่ยงที่หากทำไม่สำเร็จสงครามจะบานปลายสร้างความเสียหายใหญ่ คล้ายกับที่รัสเซียบุกยูเครน เพราะสถานการณ์จะบีบให้จีนจะต้องบุกญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีฐานทัพของสหรัฐฯ ด้วย

 

ศุภวุฒิเชื่อว่า ในมิติเศรษฐกิจหากเกิดสงครามสู้รบขึ้นจริง ขนาดของความเสียหายจะสูงกว่ากรณีของรัสเซีย-ยูเครนมาก เพราะไต้หวันมี TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปใหญ่ที่สุดในโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 54% และเมื่อรวมเจ้าอื่นๆ ในไต้หวัน เช่น UMC เข้าไปด้วย จะรวมเป็น 63% และหากรวมเกาหลีใต้เข้าไปด้วยอีก 18% จะเท่ากับตลาดเซมิคอนดักเตอร์กว่า 80% ตกอยู่ในความเสี่ยง

 

“ปัจจุบันเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญกับเศรษฐกิจทั่วโลกมาก สินค้าไฮเทคต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด ถ้ามีปัญหาในไต้หวันและลุกลามไปถึงเกาหลีใต้ด้วยจริง ผมยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจโลกไม่มีทางรอดเลย ความเสียหายเรื่องยูเครนจะดูกระจอกไปเลย เทียบไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบต่อไทย เพราะทั้งโลกจะไม่มีใครรอดเลย” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรจับตาดูจากนี้คือไต้หวันจะปฏิรูปกองทัพตัวเองอย่างไรเพื่อให้การบุกของจีนทำได้ไม่ง่าย ขณะที่จีนเองก็ต้องจับตาดูว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเองได้แค่ไหน เนื่องจากปัจจุบันจีนยังไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดต่ำกว่า 10 นาโนเมตรซึ่งใช้ในการผลิตพวกสมาร์ทโฟนได้ เพราะสหรัฐฯ บีบไม่ให้บริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์ในเนเธอร์แลนด์อย่าง ASML ขายเครื่องจักรให้กับจีน ทำให้เทคโนโลยีจีนยังตามหลังอยู่ 5-10 ปี

 

เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับนักลงทุนในช่วงนี้ ศุภวุฒิระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนักลงทุนต้องคาดการณ์อนาคตให้ถูก โดยอาจต้องตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับตลาดที่มองว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อนๆ ในสหรัฐฯ ปีหน้า และทุกอย่างจะฟื้นตัวกลับมาเร็ว Fed จะกลับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง หรือไม่เห็นด้วย ซึ่งในกรณีที่เชื่อก็สามารถรอเพื่อเพิ่มเงินลงทุนในหุ้นได้

 

“อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวผมมองว่ามันจะไม่เป็นอย่างที่ตลาดคาดการณ์ ผมไม่คิดว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ 8-9% จะลงมาอยู่ที่ 2% ได้โดยขึ้นดอกเบี้ยเพียง 3-4% แต่การตัดสินใจก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคน” ศุภวุฒิกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising