×

แค่ทุนหนาอย่างเดียว ก็รอดจากโควิดได้จริงหรือ? ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ เผยมุมมอง ธุรกิจในเครือ CP เอาตัวรอดจากโควิดได้อย่างไร

30.09.2021
  • LOADING...
ศุภชัย เจียรวนนท์

วิกฤตโควิดทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจทั้งใหญ่และเล็กรอดจากวิกฤตนี้ได้คือ ‘การปรับตัว’ มาดูกันว่าธุรกิจในเครือบริษัท CP ทำอย่างไรจึงรอดอยู่ในวิกฤตนี้ได้ จากงานสัมมนา ‘ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด’ ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 

ก่อนอื่นหลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า ‘ในวิกฤตแบบนี้ ธุรกิจที่ตายจริงๆ คือ SMEs ขนาดเล็กและกลาง แต่ธุรกิจที่มีทุนใหญ่ก็รอดสิ’ สำหรับคำถามนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ตอบว่า “ธุรกิจทุนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตนี้จริงๆ คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี อย่าง E-Commerce ซึ่งธุรกิจใหญ่เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของต่างประเทศ เช่น Lazada, Shopee ส่วนธุรกิจของไทยจริงๆ ก็ได้รับผลกระทบกันหมดเช่นเดียวกัน หากสมมติว่าประเทศเป็นองค์กรที่ทุนใหญ่ที่สุด ในขณะนี้ยังลำบากเลย”

 

ศุภชัยเล่าว่า ธุรกิจในเครือ CP ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือธุรกิจค้าปลีกหลายๆ แห่ง (เซเว่น-อีเลฟเว่น, โลตัส, แม็คโคร เป็นต้น) เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวและคนเดินทางออกจากบ้าน 

 

ทางด้านของธุรกิจโทรคมนาคม (True) รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็หายไปราวๆ 7-8% แต่ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่คนต้องทำงานจากบ้านหรือเรียนออนไลน์ และส่วนของธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากคนก็ยังต้องรับประทานอาหารอยู่

 

สิ่งสำคัญที่จะทำให้รอดจากวิกฤตนี้ได้คือ ‘การปรับตัว’ โดยทั้งธุรกิจ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ก็มีจุดแข็ง จุดอ่อนที่แตกต่างกัน คือ ธุรกิจ SMEs จะสามารถปรับตัวได้เร็ว ไม่เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ ที่กว่าจะเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งหมดได้ต้องใช้เงินและเวลามหาศาล 

 

เพราะฉะนั้น จุดแข็งของธุรกิจ SMEs ที่มีและต้องใช้ประโยชน์จากมันเลยคือ ‘ความเร็ว’ ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีความซับซ้อนในการดำเนินงานมากกว่าก็จะปรับตัวได้ยากกว่า แต่สุดท้ายไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน

 

ทีนี้การปรับตัวของ CP อยู่ในแนวคิดที่ว่า ‘จะทำอย่างไรจึงจะรักษาลูกค้าและพนักงานให้อยู่กับเราได้มากที่สุด’ การที่จะรักษาคนกลุ่มนี้ให้อยู่กับเราได้ ก่อนอื่นต้องคำนึงถึงเรื่องการป้องกันเชื้อโรคก่อน ต้องทำให้พื้นที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน การขนส่งต่างๆ มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำทันที 

 

ขั้นตอนต่อมาคือ วิเคราะห์ตลาดว่าตลาดไหนเป็นโอกาส และตลาดไหนกำลังเป็นขาลง อย่างธุรกิจค้าปลีกของ CP ในบางพื้นที่ก็มีการปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีลูกค้าและนักท่องเที่ยว โดยพยายามรักษาพนักงานเหล่านี้ไว้ โยกย้ายพนักงานในพื้นที่เหล่านี้ไปทำในส่วนอื่นที่กำลังดำเนินการอยู่แทน หรือย้ายไปทำเรื่องใหม่ไปเลย นอกจากนั้นยังเพิ่มพนักงานในช่องทางที่เป็นโอกาสอย่าง E-Commerce และเดลิเวอรีด้วย 

 

และอีกภาคธุรกิจอย่างโทรคมนาคม ก็มีการทำแพ็กเกจสำหรับคนทำงานที่บ้านและนักเรียนออนไลน์อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรภาพรวมของ CP ส่วนใหญ่จะเป็นการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรมากขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ตลาดใหม่ ไม่รอวิกฤตให้หายไปเอง 

 

ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ‘ความเร็ว’ ถึงแม้องค์กรขนาดใหญ่จะปรับตัวได้ยากและใช้เงินมหาศาล แต่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising