×

เปิด 6 ข้อเสนอของ ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานสภาดิจิทัลฯ ให้รัฐใช้มาตรการ ‘พิเศษ-รวดเร็ว’ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้หลังวิกฤตโควิด-19

21.04.2020
  • LOADING...

โควิด-19 ได้เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจ ส่งผลกระทบให้มูลค่าภาคธุรกิจทั่วโลกลดลงอย่างมาก โดยเฉลี่ยที่ 20-30% ทำให้ต้องมีมาตรการที่ ‘พิเศษ’ และ ‘รวดเร็ว’ ตามความหนักเบาของผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม

 

เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ทั้งในยามนี้และหลังวิกฤตโควิด-19 ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เสนอ 6 ยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล หรือ Digital Solution ซึ่งจะนำไปสู่ New Economy ในที่สุด

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ควบคุม ป้องกัน และรักษา ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ของประชากรทุกคนและทุกนิติบุคคลในประเทศให้สำเร็จ รวมถึงการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของประชากรและผู้ติดเชื้อ ตลอดจนการจัดทำระบบแสดงผลตามพื้นที่ Heatmap รวมไปถึง Digital Donation Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริจาคสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งรวบรวมสิ่งที่โรงพยาบาลต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือไว้ในที่เดียว

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ความต่อเนื่องของธุรกิจ ได้แก่ การแก้กฎหมายเพื่อรองรับการจัด E-Gov, Digital ID, Online KYC, E-Signature, Smart Contract ให้ทดแทนกระดาษได้ เพราะปัจจุบันกฎระเบียบและกฎหมายหลายเรื่องยังไม่สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ ในจังหวะที่เกิดวิกฤตนี้ควรใช้เป็นโอกาสทำให้เกิดขึ้น รวมไปถึงระบบสื่อสารและโซลูชันที่รองรับการทำงานแบบ Work from Home ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรองรับ New Normal ของการทำธุรกิจและการกลับมาเปิดตัวใหม่

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3: การจ้างงานและพัฒนาคนถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีมาตรการสนับสนุนผู้จบการศึกษาใหม่ปีละกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่า 80-90% อาจจะไม่มีงานทำ ทางออกคือการสร้าง ICT Talent หรือนำกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถด้าน ICT ไปช่วยพัฒนาการศึกษาออนไลน์ได้ รวมไปถึงการให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยและอาชีวะทั่วประเทศในการสร้าง New Skill ด้านดิจิทัล ด้านข้อมูล (Data) และด้าน Automation เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 เร็วขึ้น

 

ในส่วนของคนว่างงาน หรือ Unemployed เสนอรัฐให้เงินเลี้ยงชีพในช่วงว่างงานและให้เงินสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้งานแห่งอนาคต รวมไปถึงการจัดทำแพลตฟอร์มในการหางานและบริษัทที่ต้องการจ้างงานที่ใช้ทักษะใหม่ ด้านการจ้างงาน เสนอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย 80% เพื่อรักษาสถานภาพพนักงาน พร้อมกับการ Re-skill พนักงาน ไม่ปลดออก และสร้างทักษะใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4: ความมั่นใจในตลาดทุน คือการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ตลาดการค้า และการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจโดยการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านดิจิทัล มีการจัดตั้งและ Reactivate กองทุนต่างๆ เพื่อสนับสนุนรายได้ที่ขาดช่วง การขาดกระแสเงินสด การลดต้นทุน และการรักษาพนักงาน เนื่องจากการระดมทุนในภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบันเต็มไปด้วยความยากลำบาก 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 5: เศรษฐกิจใหม่ หรือ Economic Reform เตรียมรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤต ได้แก่ Smart Farming และ E-Commerce รวมไปถึงการวางแผนพื้นที่การเพาะปลูก (Agrimap/Zoning) การพัฒนาระบบชลประทาน Digital Irrigation การป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมี Smart City การออกแบบเมืองที่มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ การป้องกันด้านสาธารณสุข หรือ Preventive Healthcare การท่องเที่ยวแนวใหม่ ไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล

 

ยุทธศาสตร์ที่ 6: โครงสร้างขับเคลื่อนยามวิกฤต (Intelligence Center / Unlock Regulation) ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างขับเคลื่อนพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินภายใต้วิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วย

1. การปรับปรุงโครงสร้างการขับเคลื่อนพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้สภาฯ ต่างๆ เป็นตัวแทนภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 

2. การแก้ไขกฎระเบียบด้านดิจิทัลเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การผลักดัน Digital ID ที่เกี่ยวข้องกับ E-Signature, E-Voting, Smart Contract และ Digital KYC รวมถึงการทำให้ E-Document สามารถทดแทนกระดาษได้ 

3. พิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจสร้างภาระแก่เอกชนบางส่วนที่ยังไม่พร้อม นอกจากนี้เสนอให้ใช้สภาดิจิทัลฯ เป็น Certification Training Center สำหรับ Data Protection Officer เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X