ถือเป็นปีที่ท้าทายของธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือ เอ็มซี (Money Changer) ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งมากกว่า 2 พันรายทั่วประเทศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีใหม่ ทำให้บรรดาเอ็มซีต่างต้องปรับตัวกันโดยด่วน
ธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาองค์กร บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศปี 2560 ที่ผ่านมาคิดเป็น 1.12 แสนล้านบาท โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศประมาณ 60% โดยสกุลเงินที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับคือ ดอลลาร์สหรัฐ เยน และยูโร ส่วนอีก 40% เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวและต้องการแลกเงินบาทไทย โดยลูกค้ามีทั้งประเภทบุคคลและผู้ประกอบธุรกิจเอ็มซีด้วยกันเอง
ส่ิงที่เป็นแรงกดดันทางธุรกิจคือจำนวนคู่แข่งในตลาดมีมากกว่า 2 พันรายกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดย 50% ของจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่อีก 40% จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสูงที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นขณะนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์ที่กำลังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจขนานใหญ่ก็หันมาเล่นตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนี้เข้มข้นขึ้นด้วย จึงถือเป็นปัจจัยกดดันสำคัญให้ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) ต้องปรับตัว
ธณัทร์ษรินกล่าวกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า ความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ในขณะนี้คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าโดยการันตีเรตเดียวกันทุกสาขา ขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณภาพด้านการบริการเพิ่มเข้าไปผ่าน 12 สาขาที่มีอยู่ในขณะนี้ และเป้าหมายปี 2561 คือดันปริมาณการซื้อขายเงินต่างประเทศโต 20% หรือกว่า 1.34 แสนล้านบาท โดยที่กำไร (Profit) ยังอยู่ที่ 15-20% แม้จะไม่มากนักแต่ก็ยังดำเนินธุรกิจต่อไปข้างหน้าได้
ส่วนการขยับไปในตลาดดิจิทัล ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้เอ็มซีทำธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ซึ่งขณะนี้อยูระหว่างศึกษาความเป็นไปได้กับทางแบงก์ชาติในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้จะมีแอปพลิเคชัน SuperRichTH เท่านั้นที่ใช้อัปเดตอัตราแลกเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาธุรกิจร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน รวมถึงแพลตฟอร์มขนาดใหญ่จากต่างชาติเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจด้วย
แม้แบรนด์ซุปเปอร์ริชจะถือว่าแข็งแรงในสายตาผู้บริโภค แต่ก็ยังหนีเรื่องการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจไปไม่ได้ ในวันที่ข้อมูลข่าวสารทั่วถึง รวดเร็ว และข้อได้เปรียบเดิมอาจไม่ใช่จุดแข็งที่มีอยู่คนเดียวหรือใช้ไปได้ตลอดอีกต่อไป
อ้างอิง:
- บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด