×

เลือกตั้งสหรัฐ 2024 : Super Tuesday กับสัญญาณการเมืองสหรัฐฯ มีอะไรน่าจับตา

05.03.2024
  • LOADING...
Super Tuesday 2024

เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับ ‘Super Tuesday 2024’ ซึ่งเป็นวันที่ 15 มลรัฐ และ 1 ดินแดนของสหรัฐอเมริกาได้จัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นในวันนี้ (5 มีนาคม) เพื่อค้นหาผู้ที่จะเป็นตัวแทนสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างเดโมแครตและรีพับลิกันสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ถึงมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Super Tuesday และสัญญาณทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในปีนี้

 

Super Tuesday 2024 ตื่นเต้นน้อยกว่าครั้งก่อนๆ 

 

ผศ.ดร.ประพีร์ อธิบายว่า ตอนนี้คนเริ่มจะมองเห็นแล้วว่าใครน่าจะเป็นตัวแทนสองพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งต่างจากปีก่อนๆ ที่ยังพอมีผู้สมัครหน้าใหม่ที่ค่อนข้างขับเคี่ยวและสูสีกัน จึงทำให้ Super Tuesday ครั้งที่ผ่านๆ มาตื่นเต้นและน่าติดตามไม่น้อย 

 

ถ้าพูดถึงเดโมแครต ผศ.ดร.ประพีร์ ชี้ว่านี่คือการลงชิงเก้าอี้สมัยที่สองของโจ ไบเดน ซึ่งหากดูตามธรรมเนียมแล้วส่วนใหญ่มักอยากจะให้คนเดิมได้เป็นผู้นำต่ออีกสมัย เพื่อความต่อเนื่องของนโยบายและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคการเมือง ถ้าเปรียบเทียบคู่แข่งของไบเดนตอนนี้กับ Super Tuesday 2020 ก็ถือว่าต่างกันมากพอสมควร เพราะขณะนั้นไบเดนยังไม่มีประสบการณ์การเป็นผู้นำรัฐบาล และผู้สมัครหลายคนก็ได้รับความนิยมไม่น้อย โดยเฉพาะ เบอร์นี แซนเดอร์ส จึงทำให้ Super Tuesday ปีนี้อาจไม่มีอะไรให้น่าลุ้นมากนัก เพราะไบเดนมีแนวโน้มสูงมากที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ปลายปี 2024

 

ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์เองก็เช่นเดียวกัน ทรัมป์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้เหลือเพียง นิกกี เฮลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ที่เป็นคู่แข่งในพรรคเพียงคนเดียวของเขา ซึ่งมีแนวโน้มว่าเธออาจถอนตัวหากแพ้ทรัมป์อย่างขาดลอยใน Super Tuesday ครั้งนี้

 

สัญญาณทางการเมืองที่ไม่ควรมองข้าม

 

ผศ.ดร.ประพีร์ ยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้เราจะคาดเดาได้ว่าผู้แทนสองพรรคการเมืองใหญ่สหรัฐฯ ในปีนี้จะเป็นใคร แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งทรัมป์และไบเดนเองต่างก็เผชิญกับกระแสต่อต้านไม่น้อย โดยผลโพลชี้ว่าทรัมป์เผชิญแรงต้านจากบรรดานักศึกษาในสหรัฐฯ ขณะที่ไบเดนเองก็เผชิญกระแสความไม่พอใจที่เขาสนับสนุนอิสราเอลในกรณีความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส โดยเฉพาะชุมชนมุสลิมในรัฐมิชิแกน 

 

คำถามสำคัญคือ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กระแสต่อต้านเหล่านี้อาจทำให้ทั้งสองคนต้องปรับจุดยืนและท่าทีของตนเองใหม่เพื่อเรียกคะแนนนิยมและเสียงสนับสนุน นี่จึงเป็นเหมือนสัญญาณทางการเมืองที่ต้องติดตามดูกันต่อไป

 

วิกฤตการเมืองของทรัมป์กับ Super Tuesday และเลือกตั้งใหญ่ปลายปี

 

หลายคนอาจกำลังตั้งคำถามว่า วิกฤตการเมืองที่ทรัมป์กำลังเผชิญคดีความอยู่ในขณะนี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในวัน Super Tuesday และเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในปลายปีนี้หรือไม่ 

 

ผศ.ดร.ประพีร์ ระบุว่า หลายๆ คนลุ้นและคาดเดาว่านี่อาจเป็น ‘จุดจบของทรัมป์’ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ซึ่งเราไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ จะแล้วเสร็จเมื่อใด และศาลจะมีคำพิพากษาที่อาจทำให้ทรัมป์ต้องยุติเส้นทางทางการเมืองลงเลยหรือไม่ เพราะในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีเคสลักษณะนี้มาก่อน แม้เราจะเห็นว่าศาลในรัฐต่างๆ อย่างโคโลราโด เมน และอิลลินอย ออกมาประกาศแบนหรือตัดสิทธิทรัมป์จากการเลือกตั้งขั้นต้นแล้วก็ตาม

 

ล่าสุดศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีคำพิพากษาว่ารัฐโคโลราโดและรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจแบนทรัมป์จากการลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง มีเพียงสภาคองเกรสเท่านั้นที่สามารถตัดสิทธิทรัมป์ จึงทำให้เขายังคงสามารถชิงชัยในการเลือกตั้งขั้นต้นในรัฐโคโลราโดซึ่งจัดขึ้นในวัน Super Tuesday ปีนี้ได้

 

‘ยุคทรัมป์’ อาจกลับมา?

 

ผศ.ดร.ประพีร์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อย่างเช่นเรื่องคำตัดสินของศาลสูงสุด มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทรัมป์อาจกลับมากุมอำนาจนำในเกมการเมืองสหรัฐฯ อีกครั้ง ถึงกับมีคนกล่าวว่า “ถ้าไม่ใช่เพราะโควิด ทรัมป์อาจได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สองสมัยแล้วก็ได้”

 

ในปีที่มีการเลือกตั้งใหญ่ ผศ.ดร.ประพีร์ ชี้ว่าถึงแม้ว่าผู้สมัครจะหาเสียงอย่างเหน็ดเหนื่อยมานานหลายปี แต่ก็จะมาวัดและตัดสินกันในช่วงนาทีสุดท้ายเสมอ อย่างกรณีของ ฮิลลารี คลินตัน ที่ถูกโจมตีจากประเด็นเรื่องอีเมลส่วนตัว และความเหมาะสมในการจัดการกับเอกสารลับของทางการสหรัฐฯ ในช่วงโค้งสุดท้าย 

 

และในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่ไบเดนจะถูกโจมตีจากประเด็นปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสงครามและความขัดแย้งทั้งในยูเครนและฉนวนกาซา รวมถึงการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงถอนทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน จนทำให้กลุ่มตาลีบันกลับมาเรืองอำนาจได้อีกครั้ง ยังไม่นับรวมเรื่องอายุและปัญหาสุขภาพที่นับว่าเป็นจุดอ่อนของไบเดนอีก เพราะแม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนไบเดนและพรรคเดโมแครตเองยังตั้งคำถามถึงความกระตือรือร้นของไบเดนในการบริหารประเทศ ถ้าหากเขาได้รับเลือกและอยู่ครบสองสมัย เขาจะมีอายุมากถึง 86 ปี ซึ่งจะทำสถิติ ‘ผู้นำอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน’ อีกครั้ง

 

ปีนี้ Super Tuesday อาจไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก และไม่น่าจะมีอะไรพลิกโผไปมากกว่านี้ แต่เราก็ไม่สามารถละเลยสัญญาณอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันขณะนี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

 

แฟ้มภาพ: Below the Sky / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising