×

EXCLUSIVE: ศุภวุฒิ สายเชื้อ เตือน หาก GDP โตต่ำกว่าคาด ปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้อาจลุกลามได้

16.01.2024
  • LOADING...
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แสดงความกังวลว่า หากเศรษฐกิจโตต่ำผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้ปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้ ‘แย่ลง’ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อาจกระทบต่อรายได้และกระแสเงินสดของบริษัทต่างๆ

 

แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะถูกมองว่าเป็นใจกลางของวิกฤตหุ้นกู้ผิดนัดชำระระลอกใหม่ หลังจากเกิดกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ บจก.สยามนุวัตร (SNW) เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอพิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนออกไป รวมไปถึงการผิดชำระหุ้นกู้ของบริษัท พี พี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) มูลค่า 392 ล้านบาทเมื่อต้นปี

 

อย่างไรก็ตาม ศุภวุฒิกล่าวเตือนว่า ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้ (Roll Over) ระลอกนี้อาจจะไม่จำกัดอยู่แค่ในภาคอสังหาเท่านั้น แต่ต้องไปดูเป็นรายบริษัทไป โดยเฉพาะบริษัทที่มีภาระหนี้ที่ต้อง Roll Over มาก เมื่อเทียบกับรายได้หรือกระแสเงินสด (Cash Flow) ของบริษัท

 

พร้อมทั้งเตือนว่า หากเศรษฐกิจโตต่ำผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้ปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้ ‘แย่ลง’

 

“ถ้าปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจริงอย่างที่แบงก์ชาติประมาณการว่าจะอยู่ที่ 3.2% เทียบกับปี 2023 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4% ท่ามกลางเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-2% กระแสเงินสดของบริษัทก็คาดว่าจะดีขึ้น แต่หากเศรษฐกิจโตไม่เป็นตามคาดก็อาจเป็นปัญหา” ศุภวุฒิกล่าว

 

ปัญหาหุ้นกู้ Roll Over รอบนี้เกิดจากอะไร

 

ศุภวุฒิอธิบายว่า การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รอบนี้ส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงปีที่ผ่านมา 2022-2023 เพื่อคุมเงินเฟ้อ

 

รวมไปถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจากระดับ 1.25% ไปสู่ 2.5% ที่ทำให้ต้นทุนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งระบบสูงขึ้น ทำให้การออกบอนด์ใหม่และ Roll Over ‘ยากขึ้น’ เนื่องจากบริษัทผู้ออกบอนด์ (Issuers) ต้องเสนอดอกเบี้ยที่แพงขึ้น ประจวบเหมาะกับภาวะที่หุ้นกู้หลายตัวใกล้ครบกำหนด Roll Over จึงนำมาสู่วิกฤตระลอกใหม่

 

ศุภวุฒิยังชี้ให้เห็นว่า ในปี 2566 เริ่มพบปัญหาว่า บางบริษัทออกบอนด์มาขายไม่หมด โดยมีสัดส่วนบอนด์ที่ขายไม่ครบ คิดเป็นเพียง 1.3% ของการขายทั้งหมดเทียบกับ 0.9% ในปี 2565 (ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

 

“ผมมีความเป็นห่วงว่าในปีนี้ผู้ออกตราสารหนี้จะขายหุ้นกู้หมดหรือไม่ ถ้าขายไม่หมดจะทำอย่างไร ถ้าต้องไปกู้แบงก์ แบงก์ก็ไม่ค่อยยอมปล่อยกู้ เพราะระมัดระวังมากขึ้น ต้องสำรองหนี้เสียมากขึ้น” ศุภวุฒิกล่าว

 

หุ้นกู้ปี 2567 ส่อเบี้ยวหนี้พุ่ง

 

สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ เปิดเผยว่า ประเมินว่าแนวโน้มความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทไทยในปี 2567 มีความเสี่ยงจะเห็นการผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในปี 2566 มีมูลค่ารวมทั้งหมด 1.64 หมื่นล้านบาท 

 

เนื่องจากในปี 2566 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและ Roll Over ครบกำหนดชำระจำนวนมากรวมทั้งสิ้นประมาณ 8.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นหุ้นกู้คุณภาพดีที่มีเครดิตเรตติ้งในระดับสูงกว่า A ขึ้นไปมูลค่ารวม 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 77% จึงมีความกังวลว่าจะมีความเสี่ยงจะผิดชำระหนี้ในระดับสูง 

 

โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงและไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นที่มีมูลค่าครบกำหนดชำระในปีนี้มูลค่าประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 6% ของหุ้นกู้ในระบบทั้งหมดที่กำลังจะครบกำหนดในปีนี้ 

 

ขณะที่กลุ่มบริษัทหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงผิดชำระสูงสุดคือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงงบดุลที่มีความเสี่ยงสูง

 

เนื่องจากมี 3 ปัจจัยกดดันภาพรวมตลาดหุ้นกู้ ได้แก่ 

 

  1. ความเสี่ยงของผลกระทบของดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น
  2. ผลกระทบจากความเสี่ยงของดอกเบี้ยที่ชะลอตัว
  3. นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ทำให้การ Roll Over ทำได้ยากขึ้น

 

ด้าน สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้เชื่อว่ายังเป็นปีที่ผันผวนสูง เนื่องจากสถานการณ์ตลาดหุ้นคาดว่าผู้ลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น และปัจจุบันก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ จึงทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนลง สะท้อนได้จากวอลุ่มการซื้อ-ขายต่อวันของตลาดที่ปรับตัวลดลง รวมถึงทำให้หุ้นไม่ปรับตัวขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งถือว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นวิกฤตแห่งศรัทธา

 

ขณะที่มองว่าตอนนี้สภาพคล่องส่วนใหญ่ไปกองกันอยู่ที่สหรัฐฯ เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่อยู่ระดับสูงถึง 5% จึงทำให้การโยกเงินมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องทำผลตอบแทนแข่งกับดอกเบี้ยที่มากกว่าระดับ 5% จนกว่าทิศทางดอกเบี้ยปรับลดตามภาวะที่น่าจะเป็น ประกอบกับยังมีเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศที่เคยทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเริ่มโตได้น้อยลง โดยทั้งสองเรื่องถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายในการลงทุนของปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าหุ้นไทยยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าอยู่เป็นจำนวนมาก (Undervalue) โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ที่พบว่า ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว 

 

ทั้งนี้ สรุปมองว่าปี 2567 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกและไทยยังคงมีความผันผวน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย ดังนี้

 

  1. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเกิดภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะลดลงเร็วตามที่ตลาดการเงินกำลังคาดหรือไม่ โดยหากเป็นไปตามคาดจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่และตลาดหุ้นไทย ด้านเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การเติบโตชะลอตัวลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา และกำลังสูญเสียความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับอินเดีย 

 

นอกจากนี้ยังต้องติดตามนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นว่าจะเริ่มหยุดผ่อนคลายเมื่อไร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลหรือไม่

 

  1. เรื่อง Geopolitics นั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินเพิ่มขึ้นบางช่วงเวลา เนื่องจากมีโอกาสกระทบต่อเศรษฐกิจโดยผ่านทั้งทางเงินเฟ้อหากความขัดแย้งกระทบต่อราคาพลังงานและอาหาร รวมถึงการขนส่งสินค้าหรือก่อให้เกิดสงครามด้านเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้างขึ้น เช่น กรณีสหรัฐฯ-จีน โดยในปี 2567 ต้องติดตามท่าทีของจีนกับไต้หวันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสมบูรณ์ (ผลกระทบต่อธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์) และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีกด้วย

 

  1. ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดการณ์ยากแต่ไม่ควรมองข้าม

 

ด้าน ปิยศักดิ์ มานะสันต์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า ประเมินเป้าหมาย SET Index ปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,650-1,700 จุด โดยจุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ที่ 1,400-1,450 จุด พร้อมแนะนำหุ้นเด่นปี 2567 เน้นโฟกัสที่คุณภาพและการฟื้นตัวของผลประกอบการ ได้แก่ AMATA, BBL, BEM, BDMS, CPALL, CRC, GULF, OR, SCC และ SCGP

 

ขณะที่ประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ยุโรปและสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และจะทำให้ Fed ลดดอกเบี้ย 1% ในครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยแรงหนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่ยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเงินฝืด ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มองว่า มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 หากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตผ่านตามที่นายกฯ ประกาศจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 4.1% แต่หากมาตรการไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 3.2% โดยคาดว่า ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ยในปี 2667 โดยมี 2 ปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ 1. เงินเฟ้อที่หดตัวต่อเนื่อง และ 2. การทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising