×

ฟังจากปาก ดร.ศุภวุฒิ ทำไมไทยไม่รีบไปขอทรัมป์ลดภาษี พร้อมเปิดแผนรับมือก่อนถามกลับมีใครทำสำเร็จบ้าง?

07.04.2025
  • LOADING...

การค้าโลกปั่นป่วนไปกับนโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สะเทือนไปทั่วโลกกว่า 180 ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ประชาชนและผู้ประกอบการต่างจับตามองว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ จะมีการไปขอเจรจาลดภาษีเหมือนกับประเทศอื่นๆ หรือไม่

 

ฟังจากปาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงยุทธศาสตร์ที่ไทยเตรียมไว้เพื่อสู้ศึกทรัมป์ โดยเริ่มต้นสนทนาว่า ผมขอถามว่าประเทศต่างๆ ที่รีบไปเจรจากับสหรัฐฯ มีประเทศไหนทำสำเร็จบ้างแล้วหรือยัง? เท่าที่เห็นยังไม่สำเร็จสักประเทศเดียว และหากสังเกตจะเห็นว่าประเทศที่เข้าไปเจรจานั้น เหมือนไปให้ของฟรีเขาหมด โดยไม่ได้อะไรตอบแทนเลย

 

ยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ประเทศไทยก็คิดคล้ายกับประเทศอื่นเหมือนกัน แต่ต้องเข้าใจบริบทของอเมริกา ทรัมป์ต้องการจะเปลี่ยนโลก หลังจากประกาศเก็บภาษี 180 ประเทศช่วงที่ผ่านมา รวมถึงหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ใกล้แอนตาร์กติกา เกาะที่มีแต่เพนกวินอาศัยอยู่ก็ไม่เว้น รวมถึงประเทศอังกฤษที่เป็นพันธมิตรกับทรัมป์มายาวนานยังโดนภาษี 10%

 

ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อให้ติดตามสถานการณ์ หัวใจสำคัญที่จะสู้ศึกได้จะต้องรู้เขาและรู้เรา และมุ่งไปที่การปกป้องผลประโยชน์ของ ประเทศไทยให้เป็นเหมือนสมัยก่อนทรัมป์จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้ารีบไปเจรจาก็เปรียบเสมือนเอาของไปให้เขาฟรีๆ ไทยต้องเก็บกระสุนไว้ 

 

ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า นโยบายภาษีทรัมป์เกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. สหรัฐฯ มองว่าดุลการค้าไทยเอาเปรียบสหรัฐฯ ฉะนั้นสูตรของการเก็บภาษีของสหรัฐฯ คือการเกินดุลการค้า หารด้วยการนำเข้าจากประเทศนั้นๆ ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วหารด้วยสอง ส่วนประเทศไทยเกินดุลการค้าประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ เราส่งออกไปมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ตั้งใจจะเก็บภาษีเพิ่มอยู่แล้ว 

 

2. สหรัฐฯ จะนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีไปจ่ายในส่วนของการขาดดุลงบประมาณที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ นำไปต่ออายุการลดภาษีให้กลุ่มคนรวย และ 3. สหรัฐฯ ต้องการให้สินค้าเปลี่ยนมาผลิตในสหรัฐฯ โดยทรัมป์คิดไปถึงการผลิตเอง ใช้เอง และรวยเอง

 

ต่อคำถามที่ว่า ‘แล้วไทยจะมีแนวทางเจรจาเพื่อผลประโยชน์ของประเทศได้อย่างไร?’

 

ศักยภาพของไทยนั้นเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องการแปรรูปอาหารส่งออกไปทั่วโลก และเป็นที่ทราบกันดีว่าอเมริกามีจุดแข็งของภาคการเกษตรที่ดี แม้แต่จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐฯ 

 

ฉะนั้นไทยหวังว่าเราจะซื้อวัตถุดิบจากเกษตรในสหรัฐฯ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารขาย ถามต่อว่าแล้วทำไมเราต้องทำแบบนี้ ก็เพราะเกษตรกรเขามีความแข็งแกร่งและเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครีพับลิกัน อีกทั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังก็มีแพ็กเก็จจะลดภาษีให้เทียบเคียงกับสหรัฐฯ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

 

และหากมีสินค้าบางอย่างที่เราจะซื้อจากสหรัฐฯ ได้มากขึ้น หรือที่เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน ยกตัวอย่างที่สหรัฐฯ อยากจะทำท่อก๊าซธรรมชาติอลาสก้า เพื่อส่งออกไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ไทยก็เคยบอกไปว่าถ้าสหรัฐฯ ทำเราก็พร้อมที่นำเข้าเหมือนกัน 

 

ส่วนประเด็นการนำเข้าเนื้อหมูและเนื้อไก่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคุยกันหลายภาคส่วน แต่ถ้าจะเป็นไปได้คือเครื่องในหมูและไก่ที่สามารถนำไปเป็นเครื่องในสัตว์ได้ ก็จะสอดรับกับไทยที่เป็นประเทศส่งออกอาหารสัตว์ไปต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้มีแนวทางที่จะเจรจาได้ 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนสงสัยว่า ทำไมไทยไม่ไปขอเจรจาลดภาษีตอนนี้เลย ก็เพราะประเมินแล้วว่าทางทรัมป์ไม่ต้องการลดภาษี ทรัมป์บอกถ้าอยากให้ลดภาษีให้จะต้องมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์ ไม่ใช่ไปแค่ขอลดภาษี 

 

แล้วไทยจะไปมีอะไรมหัศจรรย์ให้สหรัฐฯ ขนาดจีนยังไม่มีและตอบโต้สหรัฐฯ กลับ คำตอบคือไทยเราจะเดินทางสายกลาง เราจะไม่วิ่งไปหา แต่จะพยายามหายุทธศาสตร์และทางออกว่าเราจะรับมือกับทรัมป์อย่างไร 

 

ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ฉายภาพให้เห็นอีกว่า หลังจากขึ้นภาษี หุ้นของสหรัฐฯ ร่วง สินค้าอุปโภคบริโภคจะแพงขึ้น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังปากแข็งอยู่ว่าไม่เป็นไร ต้องรอดูว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร 

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือจังหวะการเข้าไปเจรจาที่ต้องเหมาะสม ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับสหรัฐฯ ทำให้เห็นว่ามันมีระบบในการเจรจา เบื้องต้นของการเข้าไปเจรจาจะต้องคุยกับระดับอธิบดีก่อน และพอได้ข้อสรุปแล้วหลังจากนั้นค่อยแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าไปเจรจา ซึ่งกระบวนการเป็นแบบนั้น แต่คนใจร้อนบอกให้ไปคุยกับทรัมป์เลย จริงๆ แล้วมันไม่ง่าย และเรามีอะไรมหัศจรรย์ไปให้ทรัมป์ 

 

“วันนี้ไทยได้พาดบันไดเอาไว้แล้ว เผื่อวันหน้าสหรัฐฯ จะถอยและพร้อมเจรจา ถ้าอยากจะลงเราก็มีบันไดให้ลงได้เลย“ ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ปลายสัปดาห์นี้หลังจากรัฐบาลมอบหมายให้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปยังสหรัฐฯ ซึ่ง ดร.ศุภวุฒิ ย้ำว่าไม่ได้ไปเจรจา แต่เป็นการไปพบปะหารือกับหลายภาคส่วน รวมถึงเกษตรกรเพื่อสร้างพันธมิตรกับสหรัฐฯ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising