×

‘ศุภมาส อิศรภักดี’ 30 ปี ปีนบันไดการเมือง สู่รัฐมนตรีหญิงคนแรกของ อว. ฝันปั้นโลกอนาคต ‘Futurium’

09.11.2023
  • LOADING...
ศุภมาส อิศรภักดี

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • “สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้เมืองไทยมี เพราะวันที่เราพาลูกมามิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ทำไมของไทยเป็นแบบนี้ จึงคิดว่าอยากให้เด็กไทยได้เห็นอย่างที่ลูกเราเห็น และอยากให้ลูกเราเติบโตมาในสังคมเหมือนที่ต่างประเทศ” คือแรงบันดาลใจที่ศุภมาสอยากลงมือทำในฐานะรัฐมนตรีหญิงคนแรกของ อว. 
  • ศุภมาสยืนยันว่า ทุกอย่าง อว. ทำได้หมด แต่เราเป็นกระทรวงที่เหมือนกระทรวงปิดทองหลังพระ เราคอยสนับสนุนกระทรวงอื่นๆ และแจกจ่ายองค์ความรู้ไปยังรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเอกชน

ผึ้ง-ศุภมาส อิศรภักดี เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในชุดรัฐบาลเศรษฐา 1 ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในพรรคภูมิใจไทยที่ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี 

 

แนวทางการทำงานของเธอในกระทรวง อว. เป็นที่น่าจับตา ทั้งนโยบายช่วยเหลือ รวมถึงแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษา นักเรียน มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ในอนาคตให้กับคนไทย ขณะที่มุมมองทางการเมืองของเธอก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะหากใครที่ติดตามการเมืองจะรู้ว่าศุภมาสโลดแล่นในวงการการเมืองมานานกว่า 20 ปี 

 

THE STANDARD นัดหมายพูดคุยกับศุภมาสหลังเข้ารับตำแหน่งได้ 2 เดือน ในฐานะรัฐมนตรีหญิงคนแรกของ อว. และในฐานะที่เธอไต่บันไดทางการเมืองขึ้นสู่ถึงเก้าอี้รัฐมนตรี เราพูดคุยกันในวันที่ประเทศไทยมีหลายฝันที่ อว. ต้องเป็นกระทรวงขับเคลื่อน

 

ศุภมาส อิศรภักดี

 

เส้นทางเข้าสู่ ‘การเมือง’

 

ศุภมาสทวนความทรงจำถึงก้าวแรกทางการเมืองว่า ตอนนั้นอายุประมาณ 25-26 ปี มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งรณรงค์ให้คนสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น ตนถือเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองในตอนนั้น จึงศึกษาการเมืองมาเรื่อยๆ มีคนบอกให้ลองไปสมัครเป็น สส. ตอนนั้นไม่เข้าใจว่า สส. คืออะไร เพราะสมัยเมื่อ 30 ปี ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรเลย คิดว่าเรื่องการเมืองคือเรื่องไกลตัวมาก แต่มีคนบอกให้ลองจึงตัดสินใจวอล์กอินไปที่สมัครที่พรรคไทยรักไทย 

 

ตอนนั้นทางทีม กทม. ต้องการผู้หญิงที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ การเรียนพอใช้ได้ ประวัติการศึกษา ประวัติครอบครัว และสำคัญคือยังไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน ตนผ่านด่านทดสอบหลายด่านจนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้สมัคร กทม. เขตหลักสี่ เป็นก้าวแรกในการทำงานการเมืองมาจนทุกวันนี้ 

 

 

เป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรก นั่งกระทรวง อว.

 

ศุภมาสเล่าอีกว่า ต้องบอกว่าตนอยู่ในวงการการเมืองมาตั้งแต่อายุ 26 ปี จนตอนนี้อายุ 51 ปีแล้ว ถือว่าอยู่มากว่า 25 ปี การเติบโตก็ขึ้นมาตามลำดับเหมือนกับพนักงาน ข้าราชการทั่วไปที่ไต่เต้ามาเรื่อยๆ คือเริ่มจากคนที่สนใจการเมือง มาเป็น สส. จากนั้นมาเป็นเลขารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี รองเลขานายกรัฐมนตรี และวันนี้ได้มาเป็นรัฐมนตรี ถือว่าใช้เวลากว่า 30 ปี เป็นเวลาไม่น้อยสำหรับคนทำงานทางการเมือง

 

ก่อนหน้านี้มีคนถามว่า ถ้าได้เป็นรัฐมนตรีอยากจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน จึงมานั่งทบทวนว่าสนใจที่จะไปอยู่กระทรวงไหน สมัยที่ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรีมีโอกาสพาลูกไปเที่ยวเมืองเล็กๆ ในต่างประเทศ และไปพิพิธภัณฑ์ รู้สึกว่าทำไมเมืองไทยถึงไม่มีแบบนี้ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็ก มีความทันสมัย ลูกเราสามารถเป็นคุณหมอได้ผ่าตัดสมองหุ่นยนต์จำลอง และเข้าไปปัสสาวะในยานอวกาศจำลองได้ เป็นต้น 

 

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้เมืองไทยมี เพราะวันที่เราพาลูกมามิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย ทำไมของไทยเป็นแบบนี้ จึงคิดว่าอยากให้เด็กไทยได้เห็นอย่างที่ลูกเราเห็น และอยากให้ลูกเราเติบโตมาในสังคมเหมือนที่ต่างประเทศ”

 

 

คำตอบคือรัฐมนตรีกระทรวง อว.

 

ศุภมาสเล่าอีกว่า เมื่อก่อนไม่รู้จักกระทรวงนี้ คิดว่าเป็นกระทรวงที่ดูแลมหาวิทยาลัยและระบบการศึกษา แต่ได้ทราบว่าเป็นกระทรวงที่ดูทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาศาสตร์ จึงอยากเป็นรัฐมนตรี อว. สุดท้ายด้วยแรงอธิษฐาน ความตั้งใจ หรืออะไรก็ตาม ทำให้ได้มาอยู่กระทรวง อว. 

 

“ดีใจมากที่ได้มาอยู่กระทรวงนี้จริงๆ ตั้งแต่เข้ามาทำงานในกระทรวงนี้ได้บอกข้าราชการทุกคนว่าไม่ได้มาทำงานในฐานะหมวกรัฐมนตรีแค่ใบเดียว ซึ่งแน่นอนว่าการใส่หมวกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่ต้องดูแลนโยบายและการขับเคลื่อน ส่วนหมวกอีกใบคือความเป็นแม่ อีก 4 ปี หากถอดหมวกรัฐมนตรีออกยังอยากเห็นระบบการศึกษาที่ดี สังคมที่ดี และศูนย์การเรียนรู้ที่ดี”

 

 

โครงการที่อยากเข้ามาดำเนินการในตำแหน่ง รมว.อว.  

 

ศุภมาสยังพูดถึงโครงการที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมในกระทรวง อว. ว่า ต้องเข้าใจว่ากระทรวงนี้มี 2 ขา คือส่วนของอุดมศึกษาในฝั่งมหาวิทยาลัย นโยบายคือเรียนดี มีความสุข และมีรายได้ โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา นอกจากเรียนหนังสือดีแล้วต้องมีความสุขด้วย สมัยที่ตนเรียนต้องเรียนหนังสือเก่ง ใครสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เราต้องส่งเสริมการเรียนควบคู่ไปกับส่งเสริมในส่วนของความเป็นเลิศ ขณะเดียวกันส่งเสริมการเรียนเพื่อปากท้อง เรียนจบแล้วต้องมีงานทำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ 

 

“ส่วนหลักสูตรไหนที่เก่า หางานทำยากหรือไม่มีงานทำแล้ว เราก็อาจจะค่อยๆ ยุบและไปรวมกับที่อื่น หรือเลิกไป ขณะที่หลักสูตรไหน เช่น เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมาก เราอาจจะเพิ่มคณะ เพิ่มการรับนิสิต-นักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนับสนุน ทาง อว. ส่งเสริมมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเรื่องของทักษะ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเรื่องของวิชาชีพต่างๆ ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีถึงจะทำงานได้”

 

 

‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ กำกับดูแลช่วยเหลือ

 

ศุภมาสกล่าวอีกว่า ขณะนี้อนุทินกำกับดูแล กำลังดูเรื่องของการช่วยเหลือนิสิต-นักศึกษาในเรื่องของค่าสมัครสอบ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะมีการแถลงให้ทราบ โดยเฉพาะเด็กที่อยากเรียนจะต้องได้เรียนทุกคน เพราะเป็นสิ่งที่เราให้ความช่วยเหลืออยู่ 

 

“เด็กที่อยากจะเรียนออนไลน์ก็สามารถเรียนได้ เมื่อก่อนเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทแบบออนไลน์ 100% ไม่ได้ วันนี้มหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี มีหลักสูตรนี้แล้ว เด็กที่อยู่บนดอย อยู่ในป่า อยู่ในเขา อยู่ริมน้ำ เรียนได้เหมือนเด็กทั่วไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยพยายามจะทำ” 

 

ในส่วนของวิทยาศาสตร์คือเรื่องของงานวิจัยนวัตกรรมดี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สมัยก่อนจะได้ยินว่างานวิจัยคืองานวิจัยขึ้นหิ้ง เราพยายามทำให้เปลี่ยนงานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นงานวิจัยขึ้นห้าง โดยนำงานวิจัยที่ทำออกมาไปใช้ประโยชน์ได้หรือเป็นประโยชน์สาธารณะ เจ้าของงานวิจัยสามารถนำไปขายได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ทุกอย่างต้องตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของตลาด 

 

 

มีปัญหาอะไรบ้างเมื่อมาดำรงตำแหน่ง รมว.อว. 

 

ศุภมาสเล่าถึงปัญหาว่า มีปัญหาทุกวันตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง คือตนคิดว่าเขาให้มาเป็นรัฐมนตรีเพื่อให้มาแก้ปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาก็คงไม่ต้องมีรัฐมนตรี ส่วนปัญหาที่พบก็เป็นเรื่องทั่วๆไป คือตนก็เข้ามาทำงานใหม่ และราชการก็ใหม่กับรัฐมนตรี จึงต้องศึกษาการทำความเข้าใจกัน 

 

เรื่องของการบริหารจัดการหรือปัญหาภายในกระทรวง หรือปัญหาข้างนอกที่ต้องเข้าไปดูแล เพราะกระทรวง อว. ดูแลมหาวิทยาลัยทั้งหมด 157 มหาวิทยาลัย และหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์กว่า 30 หน่วยงาน เพราะฉะนั้นหน่วยงานทั้งในกระทรวง อว., องค์การมหาชน และหน่วยงานที่มีพระราชบัญญัติต่างๆ กว่า 200,000 คน 

 

“วันนี้ไทยขึ้นไปถึงอวกาศแล้วและเป็นที่รู้จักของโลก วิทยาศาสตร์เป็นตัวชี้วัดถึงความเจริญของประเทศ ในขณะเดียวกันกว่าที่จะมีธีออส-2 หรือโครงการถัดไปคือธีออส-2A จะสร้างเศรษฐกิจของอวกาศ เช่น สร้างคนที่สร้างดาวเทียมเป็น สร้างองค์ความรู้ สร้างงาน สร้างผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเราสนับสนุนตัวดาวเทียม เพราะถือว่าเป็นตัวธุรกิจใหม่คือธุรกิจอวกาศ จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และไม่ได้ดูแค่เส้นชัย แต่จะดูว่าระหว่างทางเราได้สร้างงาน สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างผู้ประกอบการไปด้วย โดยตัวเลขที่สร้างเงินหมุนเวียนทางธุรกิจอวกาศประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท”

 

 

อว. เตรียมปั้น ‘Futurium’ พิพิธภัณฑ์แห่งโลกอนาคต

 

ศุภมาสกล่าวอีกว่า มีโครงการให้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งที่ตนจะผลักดันทำให้สำเร็จในเร็ววัน คือศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต หรือ Futurium ซึ่งมาจากคำว่า Future ที่แปลว่าอนาคต ประกอบด้วย 2 ส่วน

 

ส่วนแรกคือ Job World ซึ่งอยากให้ลองนึกถึงอาชีพจำลองของเด็กๆ เช่น หากอยากเป็นนักบิน พนักงานธนาคาร พนักงานดับเพลิง คนทำเบเกอรี ตำรวจ ทหาร จะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการสร้างจินตนาการให้เด็ก ดังนั้น Job World เราจะมีที่ให้เด็กๆ ได้เข้าไปเล่นแบบสนุก ไม่ใช่วิชาการ แต่จะให้เด็กๆ ได้ทดลองในแล็บต่างๆ 

 

ส่วนที่สอง ฝั่งอนาคตคืออาชีพในอนาคต อาชีพใหม่ที่เราอาจไม่รู้จัก เช่น นักตัดต่อพันธุกรรม นักประดิษฐ์เสื้อทนความร้อน นักสร้างหุ่นยนต์ และนักสร้างเครื่องมือแพทย์ เป็นอาชีพในอนาคต ซึ่งความจริงแล้วที่ต่างประเทศมี ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเปิดคณะแปลกๆ ที่ฟังแล้วยังคิดว่าคือคณะอะไร และอาชีพนักให้คำแนะนำว่าแต่ละบริษัทควรทำการตลาดแบบไหน มีโลโก้แบบไหน 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นโลกอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของเด็กไทยที่กำลังเติบโตขึ้นมา จะทำให้เยาวชนมีหูตากว้างไกล โตไวขึ้น ประสบความสำเร็จได้ตามที่ต้องการ โดย อว. พยายามทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์อื่นๆ เช่น พิพิธภัณฑ์สัตว์สตัฟฟ์ ที่เห็นช้างตัวใหญ่จริงๆ เห็นปลาพะยูนที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ถ้าสัตว์จริงเราจะได้เห็นทุกอย่างที่เป็นของจริง และนี่คือภารกิจของกระทรวง อว. ที่จะทำให้ฝันของเด็กๆ เป็นจริงขึ้นมา เติบโตขึ้นมาด้วยจินตนาการที่พร้อมที่จะไปถึงดวงจันทร์ได้

 

 

อยากให้เด็กมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่ามีอาชีพที่หลากหลายและอาชีพในอนาคต 

 

ศุภมาสเล่าอีกว่า เด็กๆ เดี๋ยวนี้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน เขาก็เห็นแล้วว่าอาชีพต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ศึกษาไม่ได้ เพียงแต่ตรงนี้เป็นการส่งเสริมจากรัฐบาล เป็นสิ่งที่ไม่ได้แบนๆ อยู่ในจอ เราอาจเห็นเสือพันธุ์หายากได้ในอินเทอร์เน็ต แต่วันนี้จะได้เห็นตัวจริง เด็กๆ อาจดูจากในยูทูบเห็นพะยูนตาย แต่วันนี้จะได้เห็นตัวจริงๆ สิ่งเหล่านี้เราพยายามให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเราถือว่าพ่อแม่ลูกพากันไปเที่ยวถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมสถาบันครอบครัวด้วย เด็กไปเที่ยวสวนสนุกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะถือเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง

 

ขณะที่พิพิธภัณฑ์ของเราเปรียบเสมือน Edutainment คือมีคอนเทนต์ มีเนื้อหาเรื่องราวด้วย เช่น ได้รู้ว่าโลกเรามีกี่ฤดู หรือมีสัตว์จากเขตต่างๆ หรือเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งเมืองไทยเพิ่งเริ่ม แต่ที่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศมี AI ทุกที่ พอมี AI โลกมันง่ายขึ้น ดังนั้น AI คือเครื่องมือในการทำงานให้กับเด็กๆ ในอนาคต

 

 

วางแผนทำงานในรัฐบาลของเศรษฐา 

 

ศุภมาสเปิดใจว่า เราพยายามดูว่านโยบายรัฐบาลส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเรา ซึ่งทางนายกฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติ เราได้เน้นย้ำไปแล้วว่างานวิจัยที่จะทำต่อไปนี้ อย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเกษตร ต้องเป็นงานวิจัยที่สามารถเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรให้ทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น หรือชุดตรวจ ชุดเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้คนใช้ชีวิตได้ปลอดภัยขึ้น เช่น ชุดตรวจสารฟอร์มาลีน เป็นต้น เหล่านี้คืองานวิจัยที่เราอยากให้เกิด 

 

ขณะเดียวกันนโยบายเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของนายกฯ ต้องบอกว่า อว. เป็นองค์กรที่สร้างคน สร้างองค์ความรู้ ดังนั้นทุกซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำมาไม่ใช่แค่เรื่องของวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เรื่องของอาหาร แฟชั่น หนังสือ ซึ่งรวมทั้ง 11 ด้านของซอฟต์พาวเวอร์ เรามีงานวิจัยที่พร้อมสนับสนุนให้กับทุกๆ หน่วยงาน กระทรวง เพื่อให้มีเรื่องราว มีสตอรี เพื่อทำให้ซอฟต์พาวเวอร์นั้นขายได้

 

“ทุกอย่าง อว. ทำได้หมด แต่เราเป็นกระทรวงที่เหมือนกระทรวงปิดทองหลังพระ เราคอยสนับสนุนกระทรวงอื่นๆ และแจกจ่ายองค์ความรู้ไปยังรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเอกชน” 

 

 

หนึ่งในรัฐมนตรีหญิงของรัฐบาลเศรษฐา

 

ศุภมาสกล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้มีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง 5 คน แกร่งทุกคน แต่ละคนอยู่ในกระทรวงที่ยากๆ ทั้งนั้น ยุคนี้การทำงานของผู้หญิงเป็นที่ยอมรับ ไม่แตกต่างจากผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้ชายเท่ากัน เราก็ไม่ได้รู้สึกวิเศษอะไร มีทั้งหญิงแกร่ง ชายแกร่ง ในยุคของรัฐบาลเศรษฐา

 

เมืองไทยจริงๆ แล้วการศึกษาไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร มีของแถมมากมาย อาหารอร่อย ที่เที่ยวเยอะ คนไทยเป็นมิตร อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาลง่าย ที่นี่ทุกอย่างง่ายไปหมด อาหารฮาลาล ค่าครองชีพเราไม่ได้แพงเหมือนที่อื่น ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่ต่างชาติจะไม่มาเรียน ดังนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่เราพยายามส่งเสริมให้บ้านเมืองของเรานั้นมีมหาวิทยาลัยที่คนไทยสามารถเรียนในเมืองไทยได้ และมากกว่านั้นพยายามให้ต่างชาติมาเรียนที่เมืองไทยได้ด้วย

 

 

ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยสำหรับการทำงานของ อว.

 

ศุภมาสกล่าวว่า ทาง อว. ไม่ใช่กระทรวงที่สร้างสิ่งไม่มีชีวิต แต่เราสร้างสิ่งมีชีวิต เราสร้างคน สร้างครู สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เราสร้างองค์ความรู้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ อว. มีหน่วยงานในกำกับมากมาย เราพยายามสร้างให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าเราก็เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ เพียงแต่เราอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกๆ คน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราเป็นหน่วยสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะเราเป็นหน่วยงานทางความคิด การติดอาวุธ การติดปัญญาให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้มากมาย

 

“ภารกิจที่ อว. ภาคภูมิใจที่จะได้ช่วยเหลือประเทศชาติ และได้ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ และในเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชน ที่สำคัญเมื่อเด็กอยากเรียน เด็กควรได้เรียน เราพยายามดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ งานวิจัยก็จะเป็นงานวิจัยที่เอาลงจากหิ้งไปขึ้นห้าง เป็นภารกิจที่เราจะทำให้สำเร็จ ที่สำคัญจินตนาการเด็กสำคัญที่สุด พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่เราพยายามทำให้ทัดเทียมกับหลายๆ ประเทศ เราน่าจะได้เห็นในยุคของเรา” ศุภมาสกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X