×

‘ศุภชัย’ แนะไทยทำ 3 เรื่องหลักสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม พร้อมรักษาการเป็นศูนย์กลางอาเซียนบนเวทีโลก

22.12.2021
  • LOADING...
ศุภชัย พานิชภักดิ์

ศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน สัมมนา Thailand Next: Sustainability Goal คำตอบธุรกิจสู่ ‘ความยั่งยืน’ ว่า เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะต้องดำเนินควบคู่กันไปทั้งเรื่องเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ นอกจากการสร้างเศรษฐกิจเขียวแล้ว ยังหมายถึงความเป็นอยู่มนุษย์ที่ดีขึ้น ส่งต่อสู่ชนรุ่นหลัง ทั้งโอกาสในการพัฒนาและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยมี 3 เรื่องหลักที่ต้องทำ ได้แก่

 

  1. การเปลี่ยนความคิดของคนให้มุ่งไปสู่การพึ่งพาตนเองหรือหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยมีเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 ก็มีการกำหนดปัจจัยของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน  

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการตาม Agenda 2030 หรือเป้าหมาย 17 ข้อ สู่โลกยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2018-2037) เป็นครั้งแรก ซึ่งไม่อยากให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เพราะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา และมีหลายเรื่องที่ล้อไปกับแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ของไทยซึ่งต้องใช้เวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตรยั่งยืน ความเสมอภาค สังคมสิ่งแวดล้อม

   

อย่างไรก็ดี การจะเข้าไปสู่ความยั่งยืนได้ ปัจจัยสำคัญคือคุณภาพของรัฐบาล ดังนั้นบทบาทของภาครัฐจะต้องชัดเจนในการเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนของ UN โดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องเป็นผู้กำหนด เหมือนในอดีตเกือบ 20 ปีก่อนที่รัฐบาลไทยเคยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมยานยนต์พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อทดแทนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเกษตร จนไทยเป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่สุดในอาเซียนและอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ในเวลานี้เชื่อว่าไทยสามารถเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าของโลกได้ 

 

“ความท้าทายคือการเปลี่ยนความคิด เหมือนในอดีตที่เราคิดว่าเราผลิตรถยนต์สู้เยอรมนีไม่ได้ แต่วันนี้เราก็สามารถแข่งขันได้ จากนี้รัฐต้องเร่งอุดหนุนและสนับสนุนการลงทุน แต่ต้องเน้นว่านี่คือบทบาทภาครัฐที่จะต้องช่วยสร้างความยั่งยืน ซึ่งก็ต้องไปในทิศทางของการใช้พลังงานสะอาดและลดการใช้ถ่านหิน ซึ่งในอาเซียนเราผลิตพลังงานทดแทนได้สูงสุด จึงเชื่อว่าในเรื่องนี้ไทยไม่เป็นรองใคร” ศุภชัยกล่าว

 

  1. ในการสร้างความยั่งยืนไม่ใช่การสร้างเศรษฐกิจเขียวอย่างเดียว ผู้ด้อยโอกาสต้องมีทางเลือกในการทำมาหากิน แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีการขึ้นทะเบียนคนจนไปมากแล้ว แต่ก็ยังต้องดูแลประชากรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนด้วย รวมถึงต้องให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการมีส่วนร่วมชุมชนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เร่งตัวมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดได้ด้วย  

 

  1. คือให้คำจำกัดความวิถีชีวิตที่ยั่งยืน รวมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เรื่องประชาสัมพันธ์ แต่ต้องลงมือทำจริง โดยไทยควรเข้าไปมีบทบาทในการชี้นำและเข้าไปมีส่วนร่วมบนเวทีโลกมากขึ้น เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยมาจากทั่วโลก ดังนั้นบทบาทของไทยบนเวทีโลกต้องหนักแน่นแต่ไม่ก้าวร้าว และต้องมีบทรุกไม่ใช่บทรับอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาบทบาทการเป็นศูนย์กลางอาเซียน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอินเดีย จีน และสหรัฐฯ ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในอาเซียนให้ได้ รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไทยกลายเป็นผู้นำของโลกและสามารถเข้าไปมีบทบาทนำใน UN ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาที่ยั่งยืนจะขาดเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X