เห็นเป็นกีฬาเรียบง่าย อย่าเพิ่งคิดว่า SUP Board จะไม่มีอุปกรณ์และสารพัดให้เลือกสรรเชียวล่ะ เพราะแค่เฉพาะอุปกรณ์จำเป็นที่ขาดไม่ได้ก็ปาไปหลายสิ่งแล้ว ที่สำคัญถ้าขาดชิ้นไหนไป การพาย SUP ของคุณจะลำบากหรือถึงขนาดพายไม่ได้กันเลยทีเดียว
1. SUP Board ไม่มีบอร์ดได้ไง!
ไม่น่ามีความจริงอะไรที่จริงไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะจะพาย SUP แต่ไม่มี SUP Board จะได้อย่างไร ไม่ว่าจะครอบครองเป็นเจ้าของเอง หรือเช่ามา ยืมมา หรือขโมยมา (อันนี้ไม่ดี) สิ่งแรกที่ต้องรู้ไว้คือ SUP Board ก็คือ SUP Board แม้จะหน้าตาคล้าย Surf Board หรือกระดานโต้คลื่น แต่ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทำให้สองกีฬานี้ไม่เหมือนกันอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวอย่างเช่น ลักษณะของบอร์ด ด้วยความที่ SUP จำเป็นจะต้องลอยน้ำได้อย่างเสถียรในขณะที่มีคนยืนพายบนนั้น จึงมีเรื่องของ Volume เข้ามาเกี่ยวข้องในการดีไซน์และการผลิต ซึ่ง Volume นี้ก็จะเกี่ยวพันกับน้ำหนักตัวผู้พายและลักษณะการใช้งานด้วย
อีกส่วนที่สำคัญและบ่งบอกถึงความเป็น SUP คือ ทรงของบอร์ดที่หลักๆ มีอยู่ 3 แบบ คือ All round, Touring และ Race ที่มีความแตกต่างทั้งรูปร่างหน้าตา ความยาว รวมถึงการใช้งาน แล้วยังแยกย่อยได้อีกจากลักษณะของบอร์ดคือ มีทั้งบอร์ดสูบลม (Inflatable Board) และบอร์ดแข็ง (Hard Board) มีข้อดีข้อด้อยตามการใช้งานและจัดเก็บ ซึ่งในรายละเอียดการเลือกบอร์ดจะว่ากันในคราวต่อไปๆ
2. Fin ต้องมีถึงจะฟิน
ทำไมเราเอาอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ นี้มาพูดถึงลำดับต้นๆ นั่นเพราะ Fin หรือหางเสือ คือสิ่งสำคัญมากที่จำเป็นต้องติดกับท้ายบอร์ดไปตลอดการพาย ด้วยความที่ฟินทำหน้าที่เป็นหางเสือ ควบคุมทิศทางให้บอร์ดเคลื่อนที่ได้ตรง ในทางกลับกันถ้าไม่มีฟิน แค่พายเบาๆ SUP ก็จะเบี้ยวไปเบี้ยวมา คำว่าเลื้อยเป็นงูนั้นมีอยู่จริง
เห็นเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ แบบนี้ แต่ถ้าจริงจังหน่อยก็จะรู้เลยว่าเป็นอีกอย่างที่จุกจิก ทั้งรูปร่างของฟิน ลักษณะการติดตั้งบนบอร์ด จำนวนฟินที่ติดบนบอร์ดแต่ละประเภท หรือขนาดของฟิน ทุกอย่างให้ผลแตกต่างกัน แต่โดยพื้นฐาน ฟินเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่แถมมากับบอร์ด จึงมีลักษณะที่เหมาะสมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ขอเพียงอย่าลืมติดฟิน หรืออย่าทำน็อตสำหรับยึดติดฟินหายเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจไม่ฟิน
3. สาย Leash โซ่ทองคล้องความปลอดภัย
ถ้ามีอุปกรณ์อะไรถูกบัญญัติว่าต้องมีแม้แต่ในการแข่งขัน สาย Leash หรือสายรัดขาคือสิ่งนั้น เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่จะช่วยให้เมื่อคุณตกน้ำแล้วจะไม่ทำให้บอร์ดลอยหนีคุณไป นั่นเท่ากับว่าจะกลับขึ้นบอร์ดหรือแค่กลับไปเกาะเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้จะทำได้ทันที
สำหรับสาย Leash แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบขด กับแบบตรง ความแตกต่างคือ แบบขดจะเหมาะกับการพายในน้ำค่อนข้างนิ่งหรือน้ำไหลที่ไม่ใช่คลื่นใหญ่ๆ เช่น บึง คลอง แม่น้ำ ฯลฯ เพราะสายแบบนี้จะมีความยืดหยุ่น ทำให้การขยับเดินไป-มาบนบอร์ดได้สะดวก แต่ขณะเดียวกันความยืดหยุ่นนี้เป็นดาบสองคมหากนำไปใช้ในทะเลที่มีคลื่นลมแรง เมื่อตกบอร์ดลักษณะสายที่คล้ายสปริงจะดึงบอร์ดกลับมาอย่างแรง อาจกระแทกทำอันตรายได้
ส่วนแบบสายตรง ตรงกันข้าม คือลักษณะสายที่ตรง จะไม่ทำให้เกิดแรงดึงกลับ จึงนิยมใช้กับการพายในทะเล หรือที่เราเห็นนักเซิร์ฟใช้สายแบบเดียวกันนี้ในการโต้คลื่นนั่นเอง
4. ไม้พาย แขนขาของ SUP Board
เมื่อ SUP คือกระดานยืนพาย การเคลื่อนที่หลักๆ จึงเกิดมาจากการพาย จึงเป็นเหตุผลให้ไม้พาย (Paddle) เป็นของมันต้องมี
ไม้พายของ SUP มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ คือ ใบ (Blade) จะมีองศาเฉียงออกไปด้านหน้า ส่วนปลายด้ามมีรูปร่างคล้ายตัว T เพื่อรองรับอุ้งมือขณะพาย ซึ่งไม้พายแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ ได้แก่ แบบ Fixed คือปรับระยะไม่ได้ ต้องวัดระยะเอื้อมแขนเพื่อตัดด้ามพายให้ได้ความยาวพอดี และแบบ Adjusted คือแบบปรับระยะได้ มีตัวล็อกประเภท Quick Release ปลดแล้วยืด-หดด้ามพายได้
ถ้าคุณต้องการไม้พายที่เน้นเพอร์ฟอร์แมนซ์ และคุณเป็นเจ้าของ ใช้มันคนเดียว การเลือกไม้พายแบบ Fixed จะให้ผลลัพธ์ดีที่สุด เพราะการไม่มีจุดขยับทำให้เกิดความ Stiffness ส่วนไม้พายแบบ Adjusted เหมาะกับการใช้งานหลายคนที่ต้องปรับระยะตามผู้ใช้แต่ละคน เรื่องเพอร์ฟอร์แมนซ์อาจจะลดลงบ้าง แต่แลกมากับความยืดหยุ่น ใช้ได้หลากหลาย
เรื่องวัสดุก็มีส่วนสำคัญ ไม้พาย SUP มีทั้งผลิตจากอะลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ หรือแม้กระทั่งผลิตจากไม้ โดยที่แต่ละวัสดุมีน้ำหนัก ความแข็งแรง และความสวยงามแตกต่างกัน และแน่นอนว่าราคาก็แตกต่างกัน
อีกจุดที่ต้องคำนึงถึงคือลักษณะใบพาย มีทั้งใบสำหรับการพายทั่วไป การพายระยะไกล การพายแข่งขันความเร็ว การพายแบบ SUP Surf ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างอยู่ที่รูปร่างใบพายและขนาดใบพาย ยกตัวอย่าง ใบพายทรงหยดน้ำ ที่มีขนาดใบพายค่อนข้างใหญ่ จะมีพื้นที่ ‘กินน้ำ’ หรือสัมผัสน้ำได้มาก ทำให้การพายต่อหนึ่งครั้ง (Stroke) เกิดแรงศักย์มาก แต่ต้องแลกด้วยการออกแรงคนที่มากเช่นกัน จึงเหมาะกับการพายทั่วไป พายเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ
ส่วนใบพายที่มีลักษณะหัวตัด หรือมีใบที่เล็ก มีเนื้อที่ใบพายค่อนข้างน้อย ต่อการพายหนึ่งครั้งจะได้เกิดแรงไม่มาก แต่การสัมผัสน้ำน้อยจึงออกแรงต่อหนึ่งครั้งไม่มาก ทำให้พายได้หลายครั้งอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เหมาะกับการพายแข่งขันความเร็วที่จะต้องจ้วงพายถี่ๆ เร็วๆ เป็นต้น
5. เสื้อชูชีพ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
นี่เป็นของมันต้องมีที่ไม่เกี่ยวกับเพอร์ฟอร์แมนซ์การพาย แต่เป็นอุปกรณ์ช่วยให้คุณไม่ตายหากตกน้ำ ซึ่งโอกาสตกบอร์ดเป็นเรื่องธรรมดา แม้ SUP จะเป็นกีฬาทางน้ำที่ค่อนข้างปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่การตกน้ำในแบบที่หลายคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่าง การตกน้ำแล้วร่างกายกระแทกกับบอร์ดจนเกิดอาการบาดเจ็บ หรือเกิดตะคริวขณะอยู่ในน้ำ เมื่อร่างกายไม่พร้อมที่จะประคองตัวหรือว่ายน้ำ เสื้อชูชีพจะประคองตัวคุณเอาไว้เอง
ซึ่งอุปกรณ์ชูชีพปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบคลาสสิกอย่างเสื้อชูชีพคล้ายเสื้อกั๊ก ก็เป็นเสื้อชูชีพที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เพียงแต่ต้องคำนึงถึงเรื่องสภาพของอุปกรณ์ ตรวจให้ดีก่อนใช้ และคุณภาพของเสื้อชูชีพด้วย เพราะในบรรดาเสื้อชูชีพที่มีในท้องตลาด มีบางแบบเป็นเพียงเสื้อกั๊กยัดโฟมบางๆ แบบแยกชั้น แม้จะพอลอยน้ำได้ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องลอยคอนานๆ เสื้อชูชีพดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพลง จุดด้อยของเสื้อชูชีพแบบเสื้อกั๊ก คือ การพาย SUP ที่ต้องขยับแขนตลอดเวลา อาจเกิดการเสียดสีบริเวณสีข้างและใต้รักแร้ได้เนื่องจากความหนาของเสื้อชูชีพ
อีกแบบที่น่าสนใจคือแบบคาดเอว (Belt) โดดเด่นมากเรื่องความคล่องตัว เพราะรัดแค่บริเวณสะโพก ทำให้ไม่เกะกะและไม่เสียดสีขณะพาย แถมยังได้โชว์เสื้อผ้าที่จัดเต็มเวลาพาย ไม่มีอะไรมาบดบังด้วย ทว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาคือประสิทธิภาพในการลอยตัว จะน้อยกว่าแบบเสื้อชูชีพที่มีคุณภาพดีแน่นอน พูดง่ายๆ ว่าแบบ Belt จะเน้นเรื่องการประคองตัวในน้ำมากกว่า
นอกจากสองแบบหลักๆ ดังกล่าว ยังมีอีกหลายแบบ เช่น แบบสวมคล้ายเสื้อกั๊ก แต่ตัดส่วนข้างลำตัวออก ประสิทธิภาพการลอยตัวน้อยลง แต่คล่องตัวมากขึ้น หรือแบบ Belt ที่ใช้ระบบก๊าซ เมื่อเกิดเหตุแล้วค่อยจุดระเบิดให้ Belt พองตัว อันนี้เป็นนวัตกรรมที่ดี แต่ก็มีราคาพอสมควร ซึ่งจะแตกต่างจาก Belt ทั่วไปที่ใช้ฟองน้ำเพื่อการลอยตัว
แต่ไม่ว่าจะแบบใด สิ่งที่ต้องคำนึงที่สุดคือ น้ำหนักตัวผู้ใช้จะต้องสอดคล้องกับขนาด ข้อมูลเหล่านี้ดูได้จากสเปกบนอุปกรณ์ที่โดยทั่วไปจะต้องระบุไว้
กายพร้อม ใจพร้อม อุปกรณ์พร้อม อากาศช่วงนี้กำลังดี เช็กลิสต์ของมันต้องมีฉบับ SUP Board ให้เรียบร้อย แล้วออกไปพาย SUP กันเลย
ภาพ: Courtesy of Brand