“นักลงทุนปัจจุบันเก่งขึ้นมาก เมื่อคู่แข่งในตลาดเยอะขึ้นจึงต้องรู้ให้ลึกกว่าคนอื่น ข้อผิดพลาดของนักลงทุน VI ที่พบได้บ่อยคือขายหุ้นไม่เป็นและพลาดโอกาสซื้ออยู่บ่อยครั้ง” บทสรุปจากเวทีสัมมนาของ THE STANDARD WEALTH เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ WEALTH CLUB 2023: RISING IN RECESSION พุ่งทะยานในความถดถอย
สำหรับเวที VI: INVESTOR PLAYBOOK เลือกโอกาส บริหารความเสี่ยง ฉบับนักลงทุน VI ให้เกียรติร่วมเสวนาโดย นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นักลงทุน VI และ เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
นพ.พงศ์ศักดิ์ให้คำนิยามของ VI ว่าเป็นการซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง แต่การจะประเมินมูลค่าได้นั้นก็ต้องรู้จักวิธีการประเมินมูลค่าก่อน โดยวิธีประเมินมูลค่าทำได้ 2 วิธี คือ
- ประเมินมูลค่าในปัจจุบัน เป็นการประเมินราคาสินทรัพย์ที่แท้จริงแล้วตํ่ากว่าราคาตลาดในปัจจุบัน
- ประเมินมูลค่าในอนาคต แล้วปรากฏว่าราคาตลาดในปัจจุบันถูกกว่ามูลค่าในอนาคตที่ประเมิน
“ทั้งนี้ VI ไม่จำเป็นจะต้องซื้อในราคาถูกเสมอไป เพราะสามารถคำนวณด้วยความเชื่อมั่นว่าในอนาคตมูลค่าหุ้นจะสูงกว่าราคาในปัจจุบัน แบบนี้ก็ถือเป็น VI”
อย่างไรก็ตาม นพ.พงศ์ศักดิ์มองว่าการประเมินมูลค่าในอนาคตมีความยากกว่า แต่อีกแง่มุมหนึ่งหากทำสิ่งที่ยากได้สำเร็จ ผลตอบแทนก็จะดีกว่าเช่นกัน เพราะฉะนั้นหาก VI ต้องการผลตอบแทนที่ดี ก็ต้องทำอะไรที่คนส่วนใหญ่มองไม่ออก
“VI จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้เราจะต้องพัฒนาตัวเอง หรือ Process ในการเรียนรู้ แต่บางครั้งเราอาจเรียนรู้สิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น มุ่งเน้นกับสิ่งที่ไม่กระทบต่อกิจการมากเกินไป ฉะนั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่ถูกต้อง ตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด ถ้าเราหยุดพัฒนา เราจะกลายเป็นผู้ชนะในอดีต”
ด้านเฉลิมเดชเห็นตรงกันเรื่องคำนิยาม VI ของ นพ.พงศ์ศักดิ์ โดยมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว และจะต้องใช้เวลากว่าจะออกดอกออกผล แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยรอเวลาดังกล่าว
ขายหุ้นไม่เป็น-พลาดโอกาสซื้อ คือข้อผิดพลาดของนักลงทุน VI
“การเป็นนักลงทุน VI มักสอนแต่การซื้อหุ้น แต่ไม่ค่อยสอนถึงการขายหุ้น การที่คุณไม่ขายหุ้นอาจเป็นเพราะคุณติดอยู่กับภาพความสำเร็จภายในอดีต และ Biased อยู่ตลอดเวลาว่าหุ้นที่ถือนั้นสุดยอด ไม่มีอะไรมากระทบมันได้ ซึ่งนั่นเป็น Mindset ที่ผิด ดังนั้นการขายหุ้นให้ถูกจังหวะเป็นสิ่งที่ยากที่สุด” นพ.พงศ์ศักดิ์กล่าว
ส่วนเฉลิมเดชเชื่อว่าข้อผิดพลาดมีได้หลายรูปแบบ ในตลาดหุ้นมีโอกาสมากมายมหาศาล แต่บางที VI อาจจะพลาดโอกาสดังกล่าว โดยยกตัวอย่างถึงในช่วงหลังวิกฤต Subprime เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเริ่ม Takeoff ซึ่งมีหลายหุ้นที่ปรับตัวขึ้นหลายสิบเด้งแต่ก็พลาดโอกาสลงทุน ซึ่งเหตุผลที่ไม่ได้ซื้อเป็นเพราะไม่เข้าใจ
หรืออย่างเช่นตลาดหุ้นไทยในเวลานั้นมี P/E ประมาณ 7-8 เท่า แต่หุ้น HMPRO มี P/E 10 เท่า แล้วไปคิดว่ามันแพง แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมองในมุมการเติบโตถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก จึงกลายเป็นข้อผิดพลาดในการลงทุน
ยกตัวอย่าง ‘วิธีการทำความเข้าใจกิจการ’ ผ่านหุ้นที่ลงทุน
เฉลิมเดชยกตัวอย่างหุ้น KARMART ว่า VI ควรเข้าใจอุตสาหกรรมของหุ้นที่ลงทุน อย่างกรณีนี้คืออุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ก็ต้องไปศึกษาถึง Durable Competitive Advantage หรือ MOAT ของบริษัท อย่างในต่างประเทศก็จะมี Estée Lauder, LVMH และ L’Oréal เป็นต้น ซึ่งการศึกษาอาจต้องลงลึกไปถึงการนัดพบผู้บริหารหรือการเปิดร้านค้า KARMART ตลอดจนคอยใช้สินค้าเพื่อทำความเข้าใจเชิงลึก สิ่งสำคัญคือ VI ควรเห็นก่อนคนอื่น ไม่ใช่เวลาที่หลายคนเริ่มพูดถึง
โดยเฉลิมเดชยกกรณีศึกษาการลงทุนของตัวเองด้วยเคสการศึกษากิจการ KARMART ว่า “KARMART เริ่มต้นกิจการด้วยการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า Distar ซึ่งตอนนั้น (ผม) ทำงานอยู่ที่อโศก แล้วเห็นผู้หญิงกำลังมุงดูลิปสติก พอพลิกดูพบว่าผลิตโดย Distar เลยขอเข้าพบกับบริษัท และ CEO ก็ให้พบ เพราะ 5 ปีไม่มีใครติดต่อมาเลย จึงได้พบข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมาบริษัทเริ่มมีปัญหาในการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเพราะเริ่มมีแบรนด์จีนเข้ามาแข่งขัน จึงหันไปลงทุนธุรกิจเครื่องสำอาง”
เฉลิมเดชยังให้ข้อคิดว่า เมื่อฟังผู้บริหารแล้ว VI ก็ต้องวิเคราะห์สิ่งที่เขาพูดด้วยเสมอ เช่น เช็กกลุ่มลูกค้า คู่แข่ง ซัพพลายเออร์ พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ตลอดจนถึงครอบครัวของผู้บริหาร แม้แต่เพื่อนของลูกผู้บริหารว่ามีนิสัยอย่างไร
“อย่างเคสของ KARMART เมื่อลองประเมินมูลค่าของบริษัทโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ใกล้เคียงกันอย่าง Mistine ที่มียอดขายถึงหมื่นล้าน จึงเห็นโอกาส Upside จนอาจเป็นหุ้นหลายสิบเด้ง”
ขณะที่ นพ.พงศ์ศักดิ์ ยกตัวอย่างหุ้น COM7 ว่าควรเข้าใจในกิจการ อ่านทบทวนสิ่งที่บันทึกไว้เวลาศึกษาหุ้น เช่น จดบันทึกคำพูดของผู้บริหาร และทำ Model ในใจเสมอ โดยยกกรณีศึกษาหุ้น COM7 ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นร่วงแรงเพราะในเวลานั้น COM7 ไปบริหาร True Shop แล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก่อนหน้านั้นตลาดวิเคราะห์ว่าจะสำเร็จ เมื่อไม่เป็นดังคาด ราคาจึงร่วงแรง ซึ่ง พน.พงศ์ศักดิ์ มองว่าตลาดให้ความสำคัญกับ True Shop จนเกินไป เพราะเมื่อวิเคราะห์ตัว Existing Business ยังอยู่ในระดับดีและกำลังเติบโตต่อเนื่อง พร้อมทั้งเผยว่า ส่วนตัวจะสนใจหุ้นที่พอมองไปข้างหน้าต้องมากกว่า 5 ปีถึงจะเข้าสู่ Mature Stage
หุ้นอีกหนึ่งตัวที่ถูกกล่าวถึงในเวทีเสวนาคือ AOT ซึ่งเป็นหุ้นสร้างทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดให้แก่ นพ.พงศ์ศักดิ์ เพราะในตอนนั้น นพ.พงศ์ศักดิ์ ได้ไปอ่านหมายเหตุประกอบงบ แล้วพบว่ามีนโยบายตัดค่าเสื่อม Software บริหารสนามบิน 5 ปี แต่สนามบินเพิ่งเปิดมา 4 ปี ดังนั้นหากหักค่าเสื่อมแล้วรายได้เพิ่ม กำไรจะเติบโตถึง 70%
“แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์เกิดนํ้าท่วม ทำให้ขาดทุนจากการลงทุน 10% แต่มองว่าเป็นความเสี่ยงชั่วคราวและเป็นโอกาสในการลงทุน ซึ่งก็เป็นจริงในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวของจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลประกอบการก้าวกระโดด กิจการที่มี Fixed Cost สูง เมื่อรายได้ใหม่เข้ามา กำไรจะลงไปที่ Bottom Line ทันที ฉะนั้นอย่าคิดแค่ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นไหม แต่ควรคิดด้วยว่ากำไรจะก้าวกระโดดด้วยหรือไม่”
นพ.พงศ์ศักดิ์ แบ่งปันบทเรียนว่า ข้อผิดพลาดในการลงทุนครั้งนี้คือประเมินมูลค่าผิดพลาด เพราะมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยว 30 ล้าน เป็นจำนวนที่เต็มตัวแล้ว จึงขายหุ้นไปที่ราคา 400 บาท แม้จะได้กำไรกว่าสิบเท่า แต่ความจริงแล้วหนทางยังอีกยาวไกล เพราะประเทศไทยยังสามารถรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่านี้ ซึ่งอาจรับได้ถึง 120 ล้านคนเลยทีเดียว ที่จำนวนยังโตไม่ได้เพราะไม่มีช่องว่างเวลาให้เครื่องบินที่เพียงพอ
ดังนั้นแล้วปัจจัยที่สำคัญคือ VI ควรประเมิน Upside ของกิจการในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า และต้องประเมินก่อนว่าธุรกิจนี้ Life Cycle สิ้นสุดเวลาใด จุดที่ใกล้ Mature Stage คือจุดที่ควรขาย หากเราค้นพบ 10 หุ้นที่คิดว่าดี หน้าที่ของเราคือหาหุ้นที่ดีกว่า 10 ตัวนั้นให้ได้
เทียบความเก๋า VI: รุ่นใหญ่มองรุ่นใหม่ ‘เก่งขึ้นมาก’
นพ.พงศ์ศักดิ์ มองว่าปัจจุบันคนเก่งในตลาดหุ้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ Playbook ที่คิดว่าใช้ไม่ได้แล้วคือการประเมินเพียงแค่ 3 ปี เวลาผู้บริหารแถลงการณ์ VI ต้องเข้าใจว่าแต่ละบริษัทให้ Guidance ต่างกัน เช่น ผู้บริหารบอกว่าโต 10% ใน Valuation แต่ความเป็นจริงอาจจะ 20% ซึ่ง VI ควรมี Model ของตัวเองว่าบริษัทโตยังไง
“หากงบออกมาพบว่าประเมินผิดต้องดูว่าผิดบรรทัดไหน เช่น รายได้ ค่าใช้จ่าย หรือต้นทุน ถ้าผิดเป็น One-Time หรือถาวร ปัจจุบันเชื่อว่านักลงทุนต้องเข้าใจในรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่มองภาพใหญ่ หมายความว่าเราต้องรู้ให้มากกว่าบทวิเคราะห์”
นอกจากนี้ยังให้ข้อแนะนำว่า บางครั้งการฟังบริษัทที่ไม่ได้ลงทุนอาจช่วยประเมินบริษัทที่ลงทุนอยู่หรือสนใจเข้าลงทุนได้ดีขึ้น เช่น บริษัท A ทำแพ็กเกจจิ้งบอกว่าปีนี้ราคาขึ้น แต่บริษัท B ผลิตสินค้าที่ใช้แพ็กเกจจิ้งกลับบอกว่าต้นทุนในส่วนนี้ไม่เพิ่มขึ้น เลยอาจต้องไปฟังบริษัท C ว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงสรุปว่าจะเชื่อใคร พร้อมทิ้งท้ายว่าเวลาฟังข้อมูลอะไรอย่าหยุดแค่ก้าวเดียว ควรคิดต่อไป พัฒนาตัวเองและฝึกให้เป็นนิสัย
ด้านเฉลิมเดชเห็นพ้องตรงกันว่านักลงทุนรุ่นใหม่เก่งขึ้นมาก ทำให้มีคู่แข่งในตลาดเยอะขึ้น ดังนั้นจุดสำคัญคือต้องหาอะไรที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้ หุ้นในตลาดมี 800 ตัว VI ต้องหาบริษัทที่ (ตัวเรา) มี Edge หรือมีแต้มต่อ ข้อดีของการลงทุนแบบ VI คือต้องการแค่หุ้นไม่กี่ตัวที่เรารู้จริง และมี Edge ก็ประสบความสำเร็จได้
เฉลิมเดชเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศเก่งกว่าเรามาก อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราอาจนำความรู้ของเขามาใช้ในประเทศได้ เพราะคนเก่งๆ ที่นั่นคงไม่มาลงทุนที่ไทย เพราะเขาไม่มี Edge เท่าเรา
หุ้น IPO คือโอกาสไม่ใช่ความเสี่ยง
นพ.พงศ์ศักดิ์ เชื่อว่า IPO เป็นหุ้นที่คนยังเข้าใจไม่เยอะ โดยเมื่อหุ้น IPO จะเข้าซื้อขายวันแรก ส่วนตัวแล้วจะทำการบ้านก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ เพื่อเข้าใจในมูลค่าของหุ้น IPO แม้หลายบริษัทจะให้ราคาที่สูงจนเกินไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกบริษัท ฉะนั้น VI ควรศึกษามูลค่าไว้เสมอ
“ยิ่งโมเดลบริษัทน่าสนใจ เราต้องศึกษาว่าบริษัทมีมูลค่าผิดไปหรือเปล่า บางทีบริษัทเจอปัญหาชั่วคราวอย่างโควิดทำให้ยอดขายผิดจากความเป็นจริง นักลงทุนที่ดีควรหาข้อมูลให้ไกลกว่านั้น ในปีนี้มีหุ้น IPO ออกมา 65 ตัว อาจจะมี 10-20% ที่น่าลงทุน” นพ.พงศ์ศักดิ์แบ่งปันมุมมอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 หุ้นสุดฮอต ค่า P/E Ratio สูงทะลุ 500 เท่า
- เช็ก! 10 หุ้น SETHD จ่ายเงินปันผลสูง