×

สรุปความเคลื่อนไหวคดีดิไอคอนกรุ๊ปในรอบสัปดาห์ คลื่นธุรกิจ (ขายตรง?) ที่ซัดกระทบคนทุกหย่อมหญ้า

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2024
  • LOADING...
บอสพอล ดิไอคอนกรุ๊ป

การนำตัว 18 บอสแห่งอาณาจักร ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่ขณะนี้มีสถานะเป็น 18 ผู้ต้องหาคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ เข้าสู่เรือนจำได้ ไม่นับว่าเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ถือเป็นก้าวแรกในการพิสูจน์ผิด-ถูกของการดำเนินธุรกิจ ที่หนึ่งฝั่งมองว่าธุรกิจนี้เป็นการตลาดแบบตรง แต่ในมุมตรงข้ามกันมองว่าสิ่งที่เกิดไม่ต่างอะไรกับวงจรของแชร์ลูกโซ่

 

THE STANDARD สรุปสาระสำคัญในรอบ 1 สัปดาห์ (วันที่ 10-17 ตุลาคม 2567) ของคดีนี้ ที่เปรียบเหมือนคลื่นสึนามิ ซัดกระแทกไปในหลายวงการ พัดพาความเสียหายมารวมกัน ชนิดที่ว่า เพียง 7 วันเม็ดเงินที่ประชาชนสูญไปสูงถึง 800 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

กุญแจสู่การเปิด (โปง) อาณาจักรดิไอคอนกรุ๊ป

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการ โหนกระแส ได้รับเรื่องจากผู้เสียหาย ประเด็นการลงทุน และนำไปสู่การเปิดเผยในรายการวันที่ 7 ตุลาคม จากนั้นเป็นต้นมารายการโหนกระแสยึดธีมรายงานเรื่องราวการทำธุรกิจของบริษัทนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบทางคดีความชัดเจนขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ณัฏฐ์ (สงวนนามสกุล) ผู้กล่าวหากับพวก เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) 

 

เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก กรณีผู้กล่าวหากับพวกสมัครเป็นตัวแทนขายสินค้า มีการสอนขายสินค้าออนไลน์ วิดีโอคอนเทนต์ มีตัวแทนหรือแม่ทีมชักชวนให้เปิดบิลซื้อค้าของบริษัท และจะได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า 

 

เมื่อผู้กล่าวหากับพวกเสียเงินให้กับ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปแล้ว ปรากฏว่ามาทราบความจริงในภายหลังว่าเป็นการชวนให้ร่วมลงทุนโดยเน้นระดมทุน เน้นชักชวนคนมาเป็นเครือข่าย มากกว่าเน้นการขายสินค้า รู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะเป็นสินค้าใหม่ ไม่เป็นที่รู้จัก มีราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้ผู้กล่าวหากับพวกได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด

 

พนักงานสอบสวนจึงได้รับคำร้องทุกข์ตามคดีอาญาของกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามคดีอาญาที่ 70/2567 

 

ในสำนวนระบุว่า เหตุเกิดที่ บริษัท ดีไอคอนกรุ๊ป จำกัด เลขที่ 165/42-46 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ระหว่างปี 2564-2567

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสื่อสารมวลชนทุกแขนง ทั้งรายการโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เริ่มกำหนดทิศทางการรายงานข่าวที่ต้องการสืบทราบความจริง ตีแผ่เรื่องราวที่เกิดขึ้น และย้อนถอดบทเรียนกรณีคล้ายกันที่เคยได้รับการตัดสินตามกฎหมายไปแล้วว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

 

ว่าด้วยเรื่องดิไอคอนกรุ๊ป

 

บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCon Group Company Limited) จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นบริษัทประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รูปแบบขายตรงทางออนไลน์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ก่อนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50,000,000 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563

 

โดยมี บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เป็นผู้ก่อตั้ง, ผู้ถือหุ้นใหญ่ (75%), ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปัจจุบันจำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามผ่านตัวแทนจำหน่าย

 

สินค้าตัวแรกที่เริ่มจำหน่ายคืออาหารเสริม Boom Collagen ต่อมาจึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ โดยใช้ตราสินค้า Boom และต่อยอดไปจำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

 

ดิไอคอนกรุ๊ปมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ถือหุ้นคือ

  • บริษัท ดิไอคอนการบัญชี จำกัด (ถือหุ้น 50%) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบัญชี
  • บริษัท ดิ ไอคอน เวลเนส จำกัด (ถือหุ้น 99.98%) ประกอบธุรกิจคลินิกโรคเฉพาะทาง
  • บริษัท เฟรนด์ชิป ฟูลฟิลเม้นท์ จำกัด (ถือหุ้น 33%) ประกอบธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า

 

ชนชั้นในองค์กรสะท้อนโมเดลธุรกิจ

 

จากข้อมูลของประชาชนที่ระบุว่าตนเองเป็นผู้เสียหายจากการถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ระบุว่า พวกเขาเริ่มต้นจากเห็นโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นการประชาสัมพันธ์ในเชิง ‘สอนขายของออนไลน์’ ในราคาไม่ถึง 100 บาท ซึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้นับเป็นประตูบานใหญ่บานแรกของผู้เสียหายส่วนมาก 

 

ระดับชั้นการเข้าสู่บันไดธุรกิจสามารถแบ่งได้ดังนี้

 

เมื่อจ่ายเงิน 95-99 บาท

 

วันที่ 1-2 เรียนออนไลน์เรื่องการถ่ายภาพ-การตัดต่อคลิป-การใช้ข้อความในแต่ละแพลตฟอร์ม

 

วันที่ 3 มีแม่ทีมเข้ามาร่วมในห้องเรียนออนไลน์ เล่าเรื่องราวความสำเร็จของบริษัทและผู้บริหาร บางครั้งบอสใหญ่เข้ามาร่วมคุยด้วย เน้นสร้างการจดจำว่าทุกคนสามารถสร้างรายได้เพิ่มโดยที่ไม่ต้องกักตุนสินค้า ทุกคนสามารถมีธุรกิจของตัวเอง ทุกคนเป็นเจ้านายตัวเองได้

 

วันที่ 4-5 ในห้องเรียนออนไลน์เริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัท โน้มน้าวให้ผู้เรียนทดลองซื้อสินค้า หากสินค้าดีให้ลองชวนคนรู้จักมาซื้อผ่านตัวเองได้

 

เมื่อจ่ายเงิน 2,500 บาท 

 

จะได้เป็น ดิสทริบิวเตอร์ หรือ ร้านค้าปลีก มีหน้าที่แนะนำคนอื่นให้มาซื้อสินค้าของบริษัทผ่านตนเอง เรียนรู้ระบบของบริษัท เข้าอบรมแบบออฟไลน์ พบปะครูพี่เลี้ยงหรือแม่ทีมได้ และรับโปรโมชันในการซื้อสินค้า

 

เมื่อจ่ายเงิน 25,000 บาท 

 

จะก้าวเข้าสู่ระดับ ซูเปอร์ไวเซอร์ หรือ หัวหน้าทีม การขายสินค้าถูกลดความสำคัญลง และจะเน้นให้หาคนมาร่วมทีม โดยอบรมเน้นคีย์เวิร์ด ‘หากทำธุรกิจจะมีรายได้เพิ่ม และทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป’ 

 

เมื่อจ่ายเงิน 250,000 บาท 

 

จะก้าวสู่ระดับสูงสุดคือ ดีลเลอร์ หรือ ตัวแทนจำหน่าย ก่อนจะเข้าสู่ระดับนี้ผู้ที่ถูกเชิญชวนจะได้รับข้อมูลว่า ‘จ่ายครั้งเดียวจบ ทำธุรกิจได้ทันที’ พวกเขาจะมีพร้อมทั้งสินค้า ลูกทีม การโฆษณาจากบริษัทเพื่อโปรโมตสินค้า และได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ไปเที่ยวกับบอสใหญ่และดารา

 

แต่สิ่งที่ดีลเลอร์ต้องประสบภายหลัง คือต้องเสียเงินค่าโฆษณาในสื่อโซเชียลเดือนละ 5,000-10,000 บาท เพื่อหาสมาชิกให้ได้เดือนละ 30 คน และเพื่อหวังให้หนึ่งในนั้นมาเป็นระดับดีลเลอร์ 

 

บอสพอลเปิดเผยจำนวนสมาชิกในระดับต่างๆ ของการดำเนินธุรกิจผ่านรายการ THE STANDARD NOW ว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีจำนวนสมาชิก 368,257 ราย

 

  • ร้านค้าปลีก Distributor: 285,833 ราย
  • หัวหน้าทีม Supervisor: 43,976 ราย 
  • ตัวแทนจำหน่าย Dealer: 31,972 ราย 
  • ตัวแทนจำหน่าย (เล็ก) Mini Dealer: 6,476 ราย

 

เหล่าบอสตัวแม่-ตัวพ่อที่มีผลต่อการตัดสินใจ

 

เมื่อผ่านประตูบานใหญ่เข้าสู่อาณาจักรนี้ สิ่งที่จะพบตั้งแต่ก้าวแรกที่พ้นธรณีประตูคือ ‘ดารา’ และ ‘ภาพความสำเร็จ’ ในเมื่อหลายคนตัดสินใจที่จะทดลองลงทุนแล้ว การเห็นและได้ยินผู้มีชื่อเสียงในวงการ และยิ่งบางคนที่เป็นบุคคลที่เขาโปรดปราน ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนครั้งนี้คือสิ่งถูกต้องที่ครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเขาควรทำ

 

 3 กลุ่มดาราในดิไอคอนกรุ๊ปเมื่อจำแนกตามหน้าที่มีดังนี้

 

  • กลุ่มแรก คือผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารโดยตรง
  • กลุ่มสอง คือพรีเซนเตอร์ที่บริษัทจ้างมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  • กลุ่มสาม คือผู้ที่ถูกเชิญเข้าไปร่วมงานอีเวนต์ของบริษัท 

 

ตัวอย่างดาราที่เรียกว่ามีบทบาทผ่านหลายช่องทางของดิไอคอนกรุ๊ป 

 

  • แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี ดำรงตำแหน่ง Chief Research Officer (CRO) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • มิน-พีชญา วัฒนามนตรี ดำรงตำแหน่ง Chief Communications Officer (CCO) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร
  • กันต์ กันตถาวร ดำรงตำแหน่ง Chief Marketing Officer (CMO) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด

 

นอกจากดารายังมีเหล่าแม่ทีม แม่ข่าย และโค้ช ที่รับบทเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ขององค์กรที่คอยนำเสนอภาพความสำเร็จผ่านช่องทางต่างๆ ของตัวเองให้สมาชิกระดับอื่นๆ เห็น เช่น ถ่ายภาพคู่รถหรู, ใช้ของแบรนด์เนม, ร่วมทริปต่างประเทศ และกระทบไหล่บิ๊กบอสกับบอสดารา 

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นเหตุผลที่ผู้เสียหายสะท้อนว่า หากพวกเขาลงทุนชีวิตพวกเขาอาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่บริษัทฟูมฟักมาตลอดตั้งแต่เริ่มคือพื้นเพของเหล่าอินฟลูที่มีชีวิตแทบจะติดลบ ดีขึ้นได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือเพราะลงทุนกับที่นี่

 

ผู้เสียหาย-ความเสียหายที่นับวันยิ่งถาโถมความจริง

 

เมื่อเริ่มมีรายงานข่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้เสพข่าวไม่เพียงรับรู้สิ่งที่เป็นไป หลายคนก้าวออกมาช่วยเปิดเผยสิ่งที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังและตอกย้ำความเสียหายให้สังคมเห็นอย่างเป็นรูปธรรม

 

จากเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่มีผู้เดินทางมาร้องเรียนที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) จำนวน 80 คน ความเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 31 ล้านบาท ณ วันที่ 17 ตุลาคม เวลา 11.00 น. มีผู้ลงทะเบียนเพื่อสอบปากคำรวมแล้ว 2,654 ราย ความเสียหายเฉพาะที่สอบปากคำแล้ว 830,455,501 บาท

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รับรายงานจากศูนย์รับแจ้งความที่ บช.ก. ว่า ใน 1 วันจะมีผู้เสียหายเฉลี่ยที่ 200-300 คน เจ้าหน้าที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วง 8.30 น. ประชาชนแต่ละคนใช้เวลาให้การที่ 2.30-4 ชั่วโมง บางวันเจ้าหน้าที่ต้องทำงานถึงเวลา 23.00 น.

 

ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่คล่องตัว ตั้งแต่วันนี้ไปจึงสั่งกระจายจุดรับแจ้งความ 77 จังหวัด ให้เข้าถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ต้องเดินทางมาถึง บช.ก. โดยกำชับให้ใช้รูปแบบการรับข้อมูลผู้เสียหายในลักษณะเดียวกัน และห้ามปฏิเสธรับแจ้งความจากประชาชนอย่างเด็ดขาด จึงเชื่อว่ายอดผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความกับตำรวจในคดีดิไอคอนกรุ๊ปจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่าวันละ 200-300 คน

 

18 ผู้ต้องหาสู่การขยายผล

 

วันที่ 16 ตุลาคม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดปฏิบัติการ ‘หนุมานถล่มกรุงดิไอคอน’ หลังศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับ 18 หมายจับ ในฐานความผิด 2 ข้อหา ‘ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ’ 

 

โดย 18 ผู้ต้องหา ประกอบด้วย

 

  • บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล
  • บอสปัน-ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร
  • บอสปีเตอร์-กลด เศรษฐนันท์
  • บอสหมอเอก-ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ
  • บอสสวย-นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์
  • บอสโซดา-ญาสิกัญจน์ เอกชิสนุพงศ์
  • บอสโอม-นันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา
  • บอสวิน-ธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์
  • บอสแม่หญิง-กนกธร ปูรณะสุคนธ์
  • บอสอูมมี่-เสาวภา วงษ์สาขา
  • บอสทอมมี่-เชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์
  • บอสป๊อป-หัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์
  • โค้ชแล็ป-จิระวัฒน์ แสงภักดี
  • บอสจอย-วิไลลักษณ์ เจ็งสุวรรณ
  • บอสอ๊อฟ-ธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์
  • บอสกันต์-กันต์ กันตถาวร
  • บอสมิน-พีชญา วัฒนามนตรี
  • บอสแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี

 

ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ต่อมาในชั้นศาลศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลระบุว่า

 

“การกระทำของผู้ต้องหามีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นระบบ, ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง, สร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนเป็นอันมาก, มูลค่าความเสียหายสูง และเป็นเรื่องร้ายแรง

 

“ประกอบกับพนักงานสอบสวนและผู้เสียหายคัดค้านการปล่อยชั่วคราว หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสามจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรืออาจกระทำการใดที่กระทบกระเทือนต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี”

 

ฉะนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดจึงถูกฝากขังในผลัดแรก (12 วัน) ซึ่ง 2 ฐานความผิดที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาไปจะทำให้ตำรวจมีอำนาจยื่นขอฝากขังรวม 4 ผลัด เป็นระยะเวลา 48 วัน 

 

ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นนาฬิกานับถอยหลังที่จะทำให้ตำรวจต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานไปเอาผิดผู้ต้องหาทั้งหมดให้ทัน ก่อนที่จะหมดอำนาจยื่นขอฝากขังที่เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 เดือนครึ่งเท่านั้น


 

ความจริงที่เรายังต้องตามหา

 

  • ผู้ต้องหารายอื่นนอกจาก 18 คนชุดแรก จะสืบสาวไปถึงใครบ้าง
  • ทรัพย์สินที่ถูกอายัดจะขยายต่อไปที่ส่วนไหน ไม่มีทางที่จะจบแค่ที่สำนักงาน ปปง. อายัดไว้ 125 ล้านบาท และตำรวจยึดไว้ 220 ล้านบาท อีกทั้งเงินในรูปแบบดิจิทัลจะจัดการอย่างไร
  • เหล่า (เทวดา) หน่วยงาน นักการเมือง ข้าราชการ ผู้มีอิทธิพล ที่โอบอุ้มธุรกิจนี้อยู่มีใครบ้าง
  • ความเสียหายจะไปสุดที่ตรงไหน
  • กฎหมายและหน่วยงานใดที่จะช่วยแก้ปัญหาความเสียหายนี้ได้อย่างตรงจุด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising