×

สรุปสถานการณ์ไฟป่าฮาวาย เลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี ตายทะลุ 100 คน

17.08.2023
  • LOADING...
ไฟป่า ฮาวาย

“เรารู้สึกเหมือนตกไปอยู่ในกับดัก ไม่มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มีเลย ไม่แผน ไม่มีการอพยพ ไม่มีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงอะไรเลย”

 

คำกล่าวจาก อนา แคโรไลนา เปเนโด (Ana Carolina Penedo) ชาวเมืองลาไฮนาที่รอดชีวิตจากไฟป่าครั้งรุนแรงมาได้ โดยที่เธอตัดสินใจพาแม่ของตัวเองวิ่งหนีออกมาจากรถที่ต่อคิวยาวเหยียดเพื่อพยายามหนีออกจากเมืองที่ถูกล้อมรอบด้วยเปลวเพลิง ก่อนที่จะกระโจนตัวลงมาในมหาสมุทร เธอเล่าว่าตัวเองและแม่ต้องลอยคออยู่ในน้ำทะเลนานถึง 11 ชั่วโมง กว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลายและมีหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือ

 

เมื่อมองกลับไปที่ฝั่ง เธอรู้ทันทีว่าเมืองนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว… จะมีคนตายเป็นจำนวนมาก

 

สถานการณ์ไฟป่าในเกาะเมาวีของรัฐฮาวายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ยังคงลากยาวมาถึงปัจจุบัน แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ไฟก็ยังไม่ได้ดับ 100% ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องรายวัน โดยตัวเลขที่มีการอัปเดตล่าสุดวานนี้ (16 สิงหาคม) อยู่ที่อย่างน้อย 110 คน ขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวอีกนับหมื่นคนต้องเร่งอพยพออกจากเกาะ

 

สถานที่ที่ได้รับความเสียหายหนักหนาที่สุดนั้นคือเมืองลาไฮนา (อดีต) ดินแดนแสนสวย สวรรค์ของนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเหลือแค่เพียงซาก เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของสหรัฐฯ

 

ไฟยังไม่ดับมอด

 

ทีมนักผจญเพลิงยังคงเร่งดับไฟป่าที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของฮาวาย สำหรับเมืองลาไฮนาซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไฟป่าขยายวงใหญ่สุดนั้น เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้วราว 85% โดยไฟป่าได้ลามขยายวงกว้างถึง 2,170 เอเคอร์ หรือเทียบแบบไทยๆ คือราว 5,490 ไร่ โดยเมืองลาไฮนานับว่าเป็นเมืองที่สำคัญของฮาวายทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ เนื่องจากเมืองที่มีประชากรราว 13,000 คนแห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงของฮาวายมาก่อน และได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงล่าวาฬแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังมีทัศนียภาพที่งดงามจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากถึง 2 ล้านคนต่อปี

 

ส่วนไฟป่าที่เกิดขึ้นในเขตคูลา (Kula) สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว 75% ขณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอยู่ที่ 678 เอเคอร์ หรือราว 1,715 ไร่ ส่วนไฟป่าขนาดเล็กที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ สามารถควบคุมได้หมดแล้ว 100%

 

เสียหายแค่ไหน

 

สำหรับการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตในเศษซากปรักหักพังที่เมืองลาไฮนานั้น เจ้าหน้าที่ได้เลือกใช้สุนัขกู้ภัยที่ถูกฝึกมาเป็นพิเศษเพื่อดมหาร่างของมนุษย์โดยเฉพาะประมาณ 20 ตัวด้วยกัน โดยพวกมันสามารถแยกได้เลยว่ากลิ่นไหนคือร่างของคน และกลิ่นไหนที่เป็นซากสัตว์

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่ค่อนข้างโหด ทั้งความร้อนจากไฟ เศษซากปรักหักพังที่สุนัขต้องเหยียบย่ำ ทำให้พวกมันต้องหยุดพักผ่อนระหว่างทำงานอยู่บ่อยครั้งตามมาตรการความปลอดภัย ส่งผลให้การค้นหานั้นดำเนินไปค่อนข้างที่จะล่าช้า โดยตอนนี้การค้นหาครอบคลุมไปแค่ราว 1 ใน 3 ของพื้นที่ความเสียหายเท่านั้น ขณะที่รัฐบาลกลางให้คำมั่นว่าจะส่งสุนัขมาช่วยเหลือเพิ่มให้เป็น 40 ตัว ซึ่งเมื่อสุนัขพวกนี้พบศพ มันจะส่งสัญญาณให้มนุษย์รับทราบโดยการนอนราบลงที่พื้น ไม่ใช่การวิ่งกระโดดไปมาอย่างตื่นเต้น เพราะจะทำให้พื้นที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายเพิ่มเติม

 

แต่ถึงเช่นนั้น ฮาวายก็พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน โดยตัวเลขล่าสุดที่มีการรายงานวานนี้อยู่ที่ 110 คน และน่าเศร้าที่ศพเหล่านี้สามารถระบุตัวตนได้แค่เพียงไม่กี่ร่างเท่านั้น โดยสหรัฐฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชวิทยา ซึ่งบางคนทำงานอยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 บินไปยังเกาะเมาวี เพื่อช่วยระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตอีกแรงหนึ่ง

 

เจ้าหน้าที่บนเกาะเมาวีได้เดินหน้าเก็บตัวอย่าง DNA จากครอบครัวที่แจ้งว่ามีญาติสูญหายจากเหตุไฟป่า แต่ยอมรับว่าการระบุตัวผู้เสียชีวิตก็ยังยากอยู่ดี เพราะเกาะแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ชาวบ้านในท้องถิ่น ทำให้ปฏิบัติการมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจจะต้องมีการประสานงานในเครือข่ายที่ใหญ่กว่าเพื่อเก็บตัวอย่าง DNA ให้ได้มากที่สุด

 

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ไฟที่ร้อนแรงราวเพลิงนรกนี้ได้เผาทำลายอาคารไปมากกว่า 2,200 หลัง โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของประชาชนคิดเป็นสัดส่วน 86% ขณะที่สำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินกลาง (FEMA) ระบุว่า ฮาวายจะต้องใช้เงินมากถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อฟื้นฟูเมืองให้กลับมาอยู่อาศัยได้ดังเดิม

 

ด้าน Karen Clark & Co. ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า บริษัทประกันภัยเจ้าต่างๆ จะต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายสูงถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์ พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์จากสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายทางอากาศที่ได้มีการรวบรวมมานั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่เมืองแห่งนี้ถูกทำลายล้างลงอย่างราบคาบและรวดเร็ว เพราะอาคารจำนวนไม่น้อยในเมืองลาไฮนาเป็นอาคารเก่า และมีโครงสร้างที่ทำด้วยไม้ ขณะที่ภาวะโลกรวนซึ่งทำให้สภาพอากาศในช่วงฤดูร้อนนั้นแล้งหนัก-ร้อนหนักเป็นทวีคูณ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ฮาวายเผชิญกับไฟป่าได้ง่ายขึ้น โดยถึงแม้อาคารที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่นั้นเป็นที่พักอาศัยของประชาชน แต่ก็มีอาคารพาณิชย์จำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

 

ยอดผู้เสียชีวิตสูงแค่ไหนหากเทียบกับเหตุไฟป่าอื่นๆ ในอดีต

 

ข้อมูลจากสมาพันธ์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้แห่งชาติ (NFPA) ระบุว่า เหตุไฟป่าในเกาะเมาวีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นไฟป่าที่คร่าชีวิตผู้คนสูงสุดเมื่อเทียบกับเหตุไฟป่าในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1918 โดยในห้วงเวลานั้น สหรัฐฯ เผชิญกับไฟป่าโคลเคต์ไฟร์ (Cloquet Fire) ที่โหมกระหน่ำต่อเนื่องกว่า 4 วัน ส่งผลให้รัฐมินนิโซตาและวิสคอนซินได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 453 คน

 

ส่วนเหตุไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ คือเหตุไฟป่าเปชติโกไฟร์ (Peshtigo Fire) ในรัฐวิสคอนซิน ย้อนกลับไปเมื่อปี 1871 มีผู้เสียชีวิต 1,152 คนด้วยกัน

 

นอกจากนี้ เหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ฮาวายเคยเผชิญมา โดยยอดผู้เสียชีวิตปัจจุบันพุ่งทะลุยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุสึนามิที่คร่าชีวิตประชาชนถึง 61 คนเมื่อปี 1960 หรือ 1 ปีหลังจากที่ฮาวายมีสถานะเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ

 

ดราม่าไซเรนเตือนภัยไม่ดัง

 

ภาพความทุกข์ยากของประชาชนที่สภาพจิตใจบอบช้ำอย่างหนักในเกาะเมาวี ได้จุดกระแสความโกรธแค้นให้ปะทุขึ้น โดยประชาชนบางส่วนได้แสดงข้อกังขาว่าระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติของฮาวายทำงานหรือไม่ในช่วงเวลาที่ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็ว หรือรัฐควรมีมาตรการเตือนภัยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้หรือไม่นั้น เพราะหลายคนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัยอะไรดังขึ้นเลยในช่วงเวลาที่ไฟป่าเกิดขึ้น บ้างก็ว่ามีการเตือนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ล่าสุดวานนี้ เฮอร์แมน อันดายา (Herman Andaya) ผู้บริหารสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินเมาวีเคาน์ตี ได้ออกมาแถลงแล้วว่า หน่วยงานไม่ได้เปิดไซเรนเตือนภัยพิบัติขณะเกิดไฟป่าจริง เป็นเพราะกลัวว่าผู้คนจะเข้าใจผิดว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ซึ่งอาจทำให้คนอพยพไปยังพื้นที่ที่อันตรายกว่าเดิมได้

 

อันดายาอธิบายว่า โดยปกติแล้วไซเรนในฮาวายจะใช้เพื่อเตือนผู้คนให้ระวังคลื่นยักษ์ และหากประชาชนเข้าใจว่าเสียงไซเรนที่ดังอยู่นั้นเป็นเสียงเตือนภัยสึนามิ พวกเขาก็จะอพยพขึ้นสู่ที่สูงเพื่อหนีน้ำ เขาจึงกลัวว่าผู้คนจะรีบหนีไปที่ไหล่เขา ซึ่งเป็นจุดที่กองไฟกำลังปะทุอยู่ ด้วยเหตุนี้เกาะเมาวีจึงใช้วิธีการเตือนภัยในสองรูปแบบด้วยกัน หนึ่งคือการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของประชาชน และสองคือการออกประกาศเตือนภัยฉุกเฉินผ่านทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ

 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า ไซเรนเตือนภัยของฮาวายปกติแล้วจะติดตั้งอยู่บริเวณแนวชายหาด ฉะนั้นแล้วการเปิดไซเรนก็อาจไม่ได้ดังไปถึงคนที่อยู่บนเกาะซึ่งปิดประตูและเปิดแอร์นอนอยู่ในบ้าน อีกทั้งวันนั้นก็เกิดกระแสลมแรง ทำให้ภายนอกมีเสียงดังอยู่ต่อเนื่อง การเปิดไซเรนอาจไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

 

แต่ถึงเช่นนั้นประชาชนหลายคนก็แย้งว่าในช่วงที่เกิดไฟป่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นล่มไปแล้ว บางพื้นที่ก็เกิดปัญหาไฟดับ ทำให้หลายคนอาจไม่ได้รับการแจ้งเตือน

 

นักข่าวได้ถามจี้เพิ่มเติมว่า เขารู้สึกเสียใจที่ตัดสินใจไม่ได้เปิดระบบแจ้งเตือนหรือไม่ ซึ่งอันดายากล่าวว่า “ผมไม่รู้สึกเสียใจ”

 

ชาวบ้านเดือด นักท่องเที่ยวยังว่ายน้ำเล่นแม้เห็นทีมกู้ภัยทำงาน

 

แม้จะเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาว่าไฟป่าที่รุนแรงในรอบกว่า 100 ปีได้สร้างความเสียหายให้กับเมืองลาไฮนาอย่างมหาศาล แต่สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คือสภาพจิตใจของชาวบ้านที่เจ็บปวดหนัก ภาพบ้านเรือนที่ราบเป็นหน้ากลอง ผู้คนที่หลั่งน้ำตาเพราะหาญาติไม่พบ ยังคงติดตาและติดอยู่ในใจชาวเมาวี

 

แต่ถึงเช่นนั้นธุรกิจการท่องเที่ยวก็ยังต้องดำเนินต่อไป นักท่องเที่ยวบางส่วนยังคงมาพักผ่อนอย่างเพลิดเพลินที่ชายหาดของเกาะเมาวี โลกโซเชียลได้เผยภาพของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทำกิจกรรมกันอยู่บนหาด มีการดำน้ำ ว่ายน้ำ กันอย่างสนุกสนาน ตัดกับภาพของทีมกู้ภัยที่ยังเดินหน้าค้นหาร่างผู้เสียชีวิต ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มรู้สึกโกรธแค้นกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า

 

ชาวบ้านคนหนึ่งเปิดใจกับสำนักข่าว BBC ว่า ทะเลที่ชาวฮาวายตายอยู่ในน้ำเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นทะเลเดียวกับที่นักท่องเที่ยวกำลังว่ายน้ำอยู่ในวันนี้ ซึ่งเป็นภาพที่บีบหัวใจ เพราะชาวฮาวายแท้ๆ คงไม่มีใครกล้าลงไปว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือเล่นเซิร์ฟกันตอนนี้ เพราะไม่มีใครกล้าสนุกบนโศกนาฏกรรม หรือใช้ชีวิตต่อไปง่ายๆ ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

เจสัน โมโมอา นักแสดงชื่อดัง เจ้าของบท Aquaman ซึ่งเป็นชาวฮาวาย เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาเรียกร้องให้นักท่องเที่ยวยกเลิกทริปเที่ยวชมเกาะแห่งนี้ เพราะนี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม โดยเขาเปิดเผยผ่าน Instagram ว่า “ชุมชนของเราต้องการเวลาในการเยียวยาจิตใจ ต้องการเวลาให้ได้โศกเศร้าเสียใจ และเวลาในการฟื้นฟู”

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็กระทบกับภาคการท่องเที่ยวของฮาวาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินให้กับดินแดนนี้อย่างมหาศาล โดยข้อมูลจากปี 2019 ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวราว 10 ล้านคนที่มาเยือนฮาวาย ทำให้มีเงินสะพัดถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ และเกาะเมาวีก็กวาดเม็ดเงินดังกล่าวไปถึง 1 ใน 3

 

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจเมาวี กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะรายได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนเกาะไม่ว่าจะมาจากทางตรงหรือทางอ้อม

 

สาเหตุของไฟป่ายังไม่แน่ชัด

 

จนถึงบัดนี้ทางการก็ยังไม่ได้สรุปสาเหตุของไฟป่าที่แน่ชัดว่าต้นเพลิงมาจากที่ใดกันแน่ แต่ถึงเช่นนั้นก็ดูเหมือนว่าจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เอื้อให้เกิดไฟป่า โดยก่อนหน้านี้ บริการสภาพอากาศแห่งชาติ (NWS) ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเตือนว่าหมู่เกาะฮาวายจะเผชิญกับกระแสลมแรงและสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวถือเป็นภาวะที่ช่วยโหมกระหน่ำให้เปลวเพลิงรุนแรงได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

หากเราย้อนดูสถิติในอดีตจะพบว่า เกือบ 85% ของเหตุไฟป่าในสหรัฐฯ ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ (อ้างอิงข้อมูลจาก U.S. Forest Service) ส่วนสาเหตุทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดไฟป่า เช่น ฟ้าผ่าและภูเขาไฟระเบิดนั้นมีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย และหากเจาะดูแค่เฉพาะสถิติในฮาวาย จะเห็นว่ามีไฟป่าไม่ถึง 1% ที่เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ โดยหมู่เกาะฮาวายมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ทั้งหมด 6 แห่งด้วยกัน รวมถึงภูเขาไฟ 1 ลูกในเกาะเมาวี

 

สาเหตุที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้รุนแรงยิ่งนัก หลักๆ เลยคือกระแสลมแรง ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากเฮอริเคนโดรา ที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางตะวันตกเฉียงใต้หลายร้อยไมล์ในมหาสมุทรแปซิฟิก แรงลมส่งผลให้เปลวเพลิงโหมกระหน่ำลุกโชนจนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น

 

นอกเหนือจากเฮอริเคนโดราแล้ว ระบบความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นในแนวของกระแสลมตะวันตกก็มีส่วนทำให้เกิดลมแรงสูงเช่นกัน และเมื่อมาเจอกับพืชพันธุ์กลางสภาพอากาศแห้งแล้งก็ยิ่งทำให้ติดไฟได้ง่าย

 

ตัวแปรที่มองข้ามไม่ได้อีกประการหนึ่งคือหญ้ากินนี (Guinea Grass) อันเป็นพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของเกาะเมาวีเติบโตงอกงาม โดยมันสามารถโตได้เร็วถึง 15 เซนติเมตรต่อวัน และสูงเต็มที่ได้ถึง 3 เมตร โดยหญ้าเหล่านั้นถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟลามไปอย่างรวดเร็ว

 

และหากดูจากเหตุการณ์ไฟป่ารอบโลก จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงอย่างผิดปกติในยุโรปและทางตะวันตกของแคนาดา โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ภาวะโลกรวน ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

 

ภาพ: Patrick T. Fallon / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising