×

‘สว. สีน้ำเงิน’ กินรวบ (ไม่) หมด เสียงข้างน้อยรุกกลับ บทสรุปศึกชิงกรรมาธิการ

24.09.2024
  • LOADING...

ผลการเลือกประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ สิ้นสุดลงแล้ว เรียกได้ว่าองค์ประกอบต่างๆ ของวุฒิสภาชุดนี้เริ่มเข้ารูปเข้ารอย และที่สำคัญคือ เป็นไปตาม ‘โผ’ ที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้แทบจะ 99%

 

โฉมหน้าของกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา นอกจากจะสะท้อนกลไกการตรวจสอบของสภาสูงชุดปัจจุบันแล้ว ยังเป็นตัวบ่งบอกประสิทธิภาพในการ ‘คุมเสียง’ ของ สว. แต่ละสายอีกด้วย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’ ยังคงเข้มแข็งไม่เปลี่ยนแปลง

 

THE STANDARD พามองลึกลงไปกว่าชื่อของประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 21 คน และชวนวิเคราะห์ถึงการทำงานของ สว. ชุดนี้ ว่าจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะยัง ‘ผิดฝาผิดตัว’ อย่างที่โดนปรามาสไว้?

 

บรรดา สว. ทยอยเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการนัดแรกในวันที่ 24 กันยายน 2567

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ฐานที่มั่นหนึ่งเดียวของ ‘สว. พันธุ์ใหม่’

 

แม้ในภาพรวมจะดูเหมือนว่า สว. สีน้ำเงิน ที่เป็นเสียงข้างมากจะสามารถยึดกุมกรรมาธิการตลอดจนเก้าอี้ประธานคณะได้แทบทั้งหมด แต่ยังเหลือกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สายสีน้ำเงินยังไม่สามารถ ‘ล็อกตัว’ ประธานคณะได้

 

ตามรายงานก่อนหน้าของ THE STANDARD ที่เปิดเบื้องหลังการแย่งชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ระหว่าง สว. สีน้ำเงิน และ สว. พันธุ์ใหม่ แม้จะต้องสังเวย นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่หลุดออกไปในรอบเลือกกันเอง แต่ก็เป็นผลให้ สว. ทั้งสองสายในกรรมาธิการนี้เหลือ 9 เสียงเท่ากัน

 

ช่วงเช้าวันนี้ (24 กันยายน) กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ตบเท้าเข้าห้องประชุมเพื่อวัดกำลังครั้งสุดท้ายในการเลือกประธานคณะ ระหว่าง อังคณา นีละไพจิตร จากกลุ่ม สว. เสียงข้างน้อย กับ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่ สว. เสียงข้างมากเสนอชื่อขึ้นมาในนาทีสุดท้าย แทนที่จะเป็น นิฟาริด ระเด่นอาหมัด ตามที่ปรากฏชื่อก่อนหน้านี้

 

นันทนา นันทวโรภาส สว. นั่งรอฟังผลการเลือกประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ที่หน้าห้องประชุม

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ที่ประชุมได้ลงมติกันถึง 2 รอบ และได้คะแนน 9 ต่อ 9 เท่ากัน ตามข้อบังคับจึงต้องใช้วิธีการจับสลาก และเมื่อวีระศักดิ์จับได้สลากเสีย เป็นผลให้อังคณาได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการโดยทันที

 

ทั้งสองแคนดิเดตเดินเคียงข้างกันออกมาจากห้องประชุม ก่อนให้สัมภาษณ์ต่อกับสื่อมวลชน โดยขอบคุณซึ่งกันและกันพร้อมยืนยันว่า ได้พูดคุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่า “ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานคณะก็จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน” และวีระศักดิ์เองก็ได้เผยว่า ตั้งใจจะ ‘ลบรอยร้าวเล็กๆ’ รวมทั้งสร้างความสมานฉันท์

 

กรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ จึงน่าจับตามองว่าต่อจากนี้จะมีบทบาทอย่างไร นอกจากเป็น ‘ฐานที่มั่นสุดท้าย’ ซึ่งมี สว. พันธุ์ใหม่ เป็นประธานคณะแล้ว ก็อาจเป็นก้าวแรกของการเชื่อม ‘รอยร้าว’ ระหว่าง สว. แต่ละฝ่าย ให้สามารถร่วมงานและแลกเปลี่ยนกันได้ในบางวาระหรือไม่

 

อังคณา นีละไพจิตร (ขวา) ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ให้สัมภาษณ์ร่วมกับ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

‘สีน้ำเงิน’ ยังแน่นแฟ้นหรือเริ่มแปรปรวน

 

สำหรับ สว. สีน้ำเงิน เองก็ยังแสดงพลังความเป็นเอกภาพเช่นเดิม ด้วยคะแนนเสียงกว่า 150 เสียง ทำให้สามารถส่ง สว. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงต่างๆ เข้ายึดกุมเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการได้ทุกคณะ แม้จะเสียเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ก็ไม่ได้มีผลมากนัก

 

เนื่องจากแม้จะเสียเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ แต่ สว. สีน้ำเงิน ยังสามารถส่ง สว. เข้าไปเป็นตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างเช่น แดง กองมา สว. ที่มีอาชีพค้าขายเนื้อหมู ได้รับเลือกเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ คนที่ 3 ขณะที่วีระศักดิ์ได้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ

 

อย่างไรก็ตามเมื่อมองดูก็พบว่า ร่องรอยความแปรปรวนบางประการ ทั้งการปรับเปลี่ยนบางรายชื่อ เช่น การสลับวีระศักดิ์มาชิงเก้าอี้ประธานแทนนิฟาริด หรือแม้กระทั่งกรรมาธิการแรงงานที่ผลออกมาไม่เป็นไปตาม ‘โผ’ ที่ปรากฏก่อนหน้า

 

จากที่คาดการณ์ว่า ชินโชติ แสงสังข์ อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย จะได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการแรงงานนั้น ผลปรากฏว่า วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กลับได้เป็นแทน ถึงอย่างไรก็ถือเป็น สว. สีน้ำเงิน เหมือนกัน

 

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ชินโชติได้ขอถอนตัวจากการชิงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานเอง โดยแหล่งข่าวในกรรมาธิการแรงงานคาดว่าอาจมีปัญหาเรื่องการต่อรองในกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน

 

ขณะเดียวกันกรรมาธิการแรงงานถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีโอกาสเชื่อมประสานโดยตรงกับกระทรวงแรงงานที่มีรัฐมนตรีจากสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย และสังเกตได้จาก สว. ในคณะกรรมาธิการนี้จำนวน 18 คน มี สว. สายสีน้ำเงิน มากถึง 16 คน ยกเว้น แล ดิลกวิทยรัตน์ และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย

 

แดง กองมา สว. ที่ทำอาชีพค้าขายเนื้อหมู ได้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ คนที่ 3

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เปิดตัวตนประธานคณะกรรมาธิการ 21 คณะ ใครเป็นใคร

 

  1. อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ

 

  1. พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายและการยุติธรรม

 

  1. ธวัช สุระบาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์

 

  1. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม

 

  1. นิรัตน์ อยู่ภักดี เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ

 

  1. พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา อดีตฝ่ายอำนวยการประธานคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ

 

พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ และหนึ่งในผู้คุมเสียง สว. สีน้ำเงิน คนสำคัญ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

  1. พิศูจน์ รัตนวงศ์ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและเรือรับนักท่องเที่ยว เป็นประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา

 

  1. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม

 

  1. พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 เป็นประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน

 

  1. อภิชาติ งามกมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น

 

  1. พรเพิ่ม ทองศรี อดีตหัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพี่ชายของ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันจากพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน

 

  1. วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม

 

อลงกต วรกี ประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

  1. วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม

 

  1. วิรัตน์ รักษ์พันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน

 

  1. เอมอร ศรีกงพาน ประธานคณะสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม

 

  1. กมล รอดคล้าย อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

  1. กัมพล สุภาแพ่ง เป็นประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง 

 

  1. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

 

  1. พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

  1. อลงกต วรกี อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ

 

  1. ชีวะภาพ ชีวะธรรม อดีตหัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ เป็นประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising