×

สรุปยอดลงทุน Thai ESG ‘SCB’ ครองแชมป์ยอดขายสูงสุด มูลค่ารวมกว่า 1,127 ล้านบาท

02.01.2024
  • LOADING...

ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมีมติอนุมัติให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จัดตั้งกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ภายใต้ชื่อ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้สูงสุด 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่นับรวมกับวงเงิน 500,000 บาท จากกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ที่ประกอบด้วยกองทุน SSF, RMF, PVD, กบข., ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และ กอช. โดยกองทุน Thai ESG ไม่มียอดซื้อขั้นต่ำ และไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องทุกปี โดยต้องถือครอง 8 ปี แบบจากวันที่ซื้อ

 

บลจ. ต่างๆ จึงยื่นขอจัดตั้งกองทุน Thai ESG กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมเร่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนเองตามนโยบายที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งปัจจุบันการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability Investment) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในการพิจารณาลงทุนกับบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจได้ ทำให้การดำเนินงานมีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสะท้อนผลบวกเข้าไปยังราคาหุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัทได้ ดังนั้นการเข้าลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG จึงเปรียบเสมือนผู้ลงทุนได้มีส่วนร่วมสร้างผลเชิงบวกต่อโลก ทั้งยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากการลดความเสี่ยงจากประเด็นเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้วย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

จากระยะเวลาการดำเนินการและการประชาสัมพันธ์กองทุนที่มีจำกัด การเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้จึงเป็นการวัดศักยภาพของผู้แทนจำหน่ายและช่องทางการจำหน่าย ว่าจะสามารถเข้าถึงนักลงทุนได้ทันต่อระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือน ได้มากน้อยเพียงใด ปรากฏว่า บลจ. ที่มียอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 มีดังนี้

 

อันดับ 1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่ที่สุด สามารถครองใจลูกค้าได้มากที่สุด ผ่านการวางกลยุทธ์การมีทางเลือกที่หลากหลาย และมีความชัดเจนถึงแนวทางการบริหาร โดยกำหนดให้มีจำนวน 6 กองทุน แบ่งเป็น 3 ประเภท เพื่อความหลากหลายให้นักลงทุนได้เลือกตามความเหมาะสมและความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่สามารถยอมรับได้

  • ประเภทที่ 1 ได้แก่ กองทุนรวมแบบผสม คือกองทุน SCBTM (Thai ESG) มีปันผล และ SCBTM (Thai ESGA) สะสมมูลค่า จุดเด่นคือลงทุนแบบผสมยืดหยุ่น 0-100% ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุนของบริษัทไทยที่โดดเด่นด้าน ESG
  • ประเภทที่ 2 กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นแบบ Active ได้แก่ SCBTA (Thai ESG) มีปันผล และ SCBTA (Thai ESGA) สะสมมูลค่า ที่เน้นบริหารเชิงรุก คัดเลือกหุ้นไทยที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ มีมูลค่าน่าสนใจ และคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG
  • ประเภทที่ 3 แบบ Passive ได้แก่ SCBPT (Thai ESG) และ SCBPT (Thai ESGA) ที่เน้นบริหารเชิงรับด้วยกลยุทธ์แบบ Optimization เพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนี SETESG TRI

 

โดยทั้ง 6 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 อยู่ที่กว่า 1,127 ล้านบาท

 

อันดับ 2 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย ที่มีธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้แทนจำหน่ายหลัก เปิดตัวด้วยกองทุนเพียง 1 กอง ที่สามารถสร้างยอดขายกองทุนเดียวสูงสุด โดยมียอดจำหน่ายกองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดเพื่อความยั่งยืน (K-TNZ-Thai ESG) อยู่ที่กว่า 1,122 ล้านบาท เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ช่วยส่งเสริมการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 จะลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET 100 TRI และบริษัทที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

อันดับ 3 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบัวหลวง ที่มีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้แทนจำหน่ายหลัก เปิดตัวกองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน (B-Top Thai ESG) ที่ต่อยอดจากความสำเร็จของกองทุนกลุ่มทศพลที่มีมาอย่างยาวนาน โดย B-Top Thai ESG มียอดจำหน่ายทั้งสิ้นกว่า 817 ล้านบาท เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกจาก SET หรือองค์กรหรือสถาบันอื่นที่ ก.ล.ต. ยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์การบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

 

อันดับ 4 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร มียอดการจำหน่ายกว่า 570 ล้านบาท ประกอบไปด้วยกองทุน KKP GB Thai ESG เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐไทย และกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และกองทุน KKP EQ Thai ESG เน้นลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านความยั่งยืน

 

อันดับ 5 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย มียอดจำหน่ายกว่า 551 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้แทนจำหน่ายหลัก ประกอบไปด้วย

  1. กองทุน KTAG70/30-Thai ESG ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มี SET ESG Rating ระดับ A ขึ้นไป โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 70% และตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 30% ของ NAV
  2. กองทุน KTESG 50-Thai ESG เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ในดัชนี SET ESG Index และอยู่ใน Universe ของ KTAM โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
  3. กองทุน KTAG-Thai ESG เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่มี SET ESG Rating ระดับ A ขึ้นไป โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80 % ของ NAV

 

ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนในกองทุน Thai ESG ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 จาก 16 บลจ. จำนวน 30 กองทุน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณกว่า 5,266 ล้านบาท ซึ่งอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 10,000 ล้านบาท แต่ก็นับว่าเป็นกองทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากพอสมควร ด้วยระยะเวลาจำหน่ายอาจจะเป็นช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในปี 2567 กองทุน Thai ESG น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น และเป็นปีที่คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะสดใสมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะไหลกลับเข้ามาจากปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทยที่เริ่มแคบลง ที่ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลให้เงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นในปี 2567

 

อ้างอิง:

  • Morningstar Thailand
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X