ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์การเมืองญี่ปุ่นในสายตาผู้คนทั่วโลก เป็นไปด้วยความ ‘สง่างามและรับผิดชอบ’ โดยนักการเมือง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ไปจนถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอย่างรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ต่างก็แสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่าง ‘เอาจริงเอาจัง’ ต่อหน้าที่ของตน หลายครั้งถึงขั้น ‘ลาออก’ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เมื่อไม่สามารถทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือรับใช้ประชาชนได้ตามเป้าหมาย
แต่ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดกรณีอื้อฉาวที่สร้างความตกตะลึงและบั่นทอนภาพลักษณ์ความรับผิดชอบของนักการเมืองญี่ปุ่น หลังสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งชื่อว่า โยชิคาซึ ฮิกาชิตานิ (Yoshikazu Higashitani) ซึ่งเป็นอดีตยูทูเบอร์ ก่อวีรกรรมด้วยการไม่เคยเข้าไปทำงานหรือเข้าประชุมสภาเลย นับตั้งแต่ได้รับตำแหน่งช่วงกลางปีที่แล้ว โดยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ยังรับเงินเดือนและโบนัส คิดเป็นเงินไทยเกือบ 5 ล้านบาท จนทำให้ท้ายที่สุด วุฒิสภาต้องขับเขาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม จบสิ้นเส้นทางการเมืองในเวลา 8 เดือน
เรื่องราวของเขาในตอนนี้ก็ยังไม่จบสิ้น และเกิดคดีอื้อฉาวทั้งข่มขู่และฉ้อโกง ถึงขั้นออกหมายจับ และนี่คือสรุปรายละเอียดและที่มาที่ไปของวีรกรรม ส.ว. รายนี้ ซึ่งได้ฉายาที่ชาวเน็ตเรียกขานว่า ‘No-show MP’ หรือ ‘ส.ว. ที่ไม่เคยปรากฏตัว’
โยชิคาซึ ฮิกาชิตานิ คือใคร
- โยชิคาซึ ฮิกาชิตานิ วัย 51 ปี เป็น 1 ใน 2 ผู้สมัครจากพรรค Seijika Joshi 48 ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยเป็นการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน (Proportional Representation System) ที่กระจายตำแหน่งตามคะแนนเสียงทั้งหมดสำหรับพรรคการเมืองและผู้สมัครของแต่ละพรรค
- ก่อนเข้าสู่การเมือง เขาเคยเป็นยูทูเบอร์สาย Gossip หรือซุบซิบนินทาบรรดาเซเลบริตี้คนดัง โดยใช้ชื่อในโลกออนไลน์ว่า GaaSyy
- การทำช่อง YouTube และพูดเกี่ยวกับข่าวอื้อฉาวต่างๆ ในวงการบันเทิงและบรรดาเซเลบริตี้ของญี่ปุ่น ทำให้ชื่อ GaaSyy เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังในโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง ส.ว. โดยมี Subscriber หรือผู้ติดตามช่องของเขามากถึง 1.3 ล้าน ก่อนที่ช่องจะถูกปิดไปในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเขายังคงมีผู้ติดตามใน TikTok มากกว่า 2 แสนคน และใน Instagram กว่า 3.1 แสนคน
- ความนิยมของฮิกาชิตานิ ไปเตะตา ทาคาชิ ทาจิบานะ (Takashi Tachibana) ผู้ก่อตั้งพรรคฝ่ายค้านเล็กๆ ที่เดิมชื่อว่าพรรค NHK หรือพรรคปกป้องประชาชนจาก NHK ซึ่งมีเป้าหมายหาเสียงเพียงอย่างเดียวคือการปฏิรูปสถานีโทรทัศน์ NHK
- ทาจิบานะชักชวนฮิกาชิตานิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2022 ซึ่งในระหว่างการลงสมัครและหาเสียงจนถึงช่วงเลือกตั้งนั้น เขาไม่ได้อยู่ในญี่ปุ่น โดยอาศัยอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดินหน้าหาเสียงพร้อมทั้งประกาศคำมั่นว่าจะทำงานการเมืองจากต่างประเทศ ก่อนจะชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนนเสียงกว่า 2.8 แสนเสียง
คดีฉาว ข่มขู่-ฉ้อโกง
- การโพสต์คลิปวิดีโอวิจารณ์ข่าวอื้อฉาวของเหล่าเซเลบริตี้ อีกทั้งยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่ ส่งผลให้ฮิกาชิตานิเผชิญการฟ้องร้องจากบรรดาคนดังและอีกหลายบุคคล ทำให้วันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. ช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ฮิกาชิตานิไม่ได้กลับประเทศไปทำหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่ากลัวถูกจับ
- ในการประชุมวุฒิสภาวาระต่างๆ หลังจากนั้น ฮิกาชิตานิก็ไม่ได้กลับไปทำหน้าที่ และนอกจากจะไม่ทำงานในฐานะ ส.ว. เขายังคงโพสต์สิ่งต่างๆ ในโซเชียลมีเดียต่อไป
- Asahi Shimbun รายงานข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า ฮิกาชิตานิต้องสงสัยว่าข่มขู่บุคคล 3 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนดังบางคนรวมอยู่ด้วย โดยเขาโพสต์คลิปอย่างเปิดเผยลงในช่อง YouTube ของเขา ตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม และอ้างว่าเป็นการเผยแพร่ ‘เรื่องราววงใน’ ของวงการบันเทิง
- เนื้อหาในหลายคลิปวิดีโอ เขาบอกว่าจะทำให้บุคคลทั้ง 3 เสียชื่อเสียง และเรียกร้องให้หนึ่งในนั้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเลิกกิจการ
- ขณะที่หนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun รายงานบทสัมภาษณ์ของ คิมิโอะ ฟุกุทานิ (Kimio Fukutani) นักออกแบบเครื่องประดับวัย 47 ปีในโตเกียว หนึ่งในผู้ที่ยืนยันว่าตกเป็นเหยื่อจากการข่มขู่และใส่ร้ายทาง YouTube ของฮิกาชิตานิ โดยบอกว่าการโจมตีทางดิจิทัลนั้นน่ากลัวและทำลายชีวิตเขา
- ฟุกุทานิบอกว่าฮิกาชิตานิให้ร้ายเขา โดยพูดทุกอย่างออกมาโดยปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- เขาเล่าที่มาที่ไปว่ารู้จักกับฮิกาชิตานิผ่านทางคนรู้จักเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และกลายเป็นเพื่อนสนิทกันช่วงหนึ่ง โดยเขายังเคยไปเที่ยวที่บาร์ของฮิกาชิตานิ ซึ่งตอนนั้นเปิดอยู่ในโตเกียว แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขาจืดจางลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีการติดต่อกันเพียงประมาณปีละครั้งเท่านั้น
- กระทั่งในเดือนเมษายน 2022 ฮิกาชิตานิโพสต์วิดีโอลง YouTube วิจารณ์มิตรภาพที่มีต่อฟุกุทานิอย่างฉุนเฉียว และการที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนในตอนนั้น ทำให้คลิปความยาว 13 นาทีแพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย ขณะที่คนดูเริ่มคอมเมนต์โจมตีฟุกุทานิเช่นกัน และถึงขั้นมีการปล่อยภาพสมาชิกในครอบครัวของเขา กระทั่งมีโพสต์ข่มขู่ต่างๆ ตามมา
- “เนื้อหาในคลิปไม่มีมูลความจริงเลย มันน่าสยดสยองมาก เขาพูดอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ และผมก็ไม่สามารถแม้แต่จะหักล้างคำกล่าวอ้างของเขา” ฟุกุทานิกล่าว
- ฟุกุทานิเผยว่าคลิปวิดีโอของฮิกาชิตานิส่งผลกระทบต่องานของเขาอย่างมาก โดยเขาบริหารร้านจิวเวลรีในโตเกียว แต่ถูกคุกคามและใส่ร้ายทั้งทางโทรศัพท์และโซเชียลมีเดียมากมาย ส่งผลให้ร้านค้าสูญเสียความไว้วางใจของลูกค้า ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และท้ายที่สุดก็ถูกบังคับให้ถอนตัวออกจากธุรกิจ
“วิดีโอนั้นทำให้ความพยายามที่ผ่านมาของผมสูญเปล่า มันทำลายชีวิตของผม ผมสิ้นหวังจริงๆ”
- อย่างไรก็ตาม ฟุกุทานิยื่นร้องเรียนทางอาญาต่อตำรวจนครบาลโตเกียวเมื่อปีที่แล้ว และทางตำรวจก็ได้รับคำร้องแล้ว แต่ทางฮิกาชิตานิยังไม่มีท่าทีว่าจะสำนึกผิดแต่อย่างใด และล่าสุดได้กล่าวถึงฟุกุทานิในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยบอกว่าจะโพสต์รูปภาพของฟุกุทานิ และจะไม่มีวันอภัยให้อย่างแน่นอน
- ทั้งนี้ นอกจากคดีข่มขู่และหมิ่นประมาท เขายังเผชิญข้อกล่าวหาร้ายแรง อย่างการฉ้อโกงเงินจากเหยื่อหลายคนที่เป็นแฟนคลับวงบอยแบนด์เกาหลีใต้ยอดนิยมอย่าง BTS โดยหลอกว่าสามารถทำให้พวกเขาได้พบกับสมาชิกวง BTS ได้
- ช่วงปลายปี 2022 สำนักงานตำรวจนครบาลของญี่ปุ่นขอให้ฮิกาชิตานิเข้ารับการสอบสวนโดยสมัครใจในคดีข่มขู่และหมิ่นประมาท แต่เขาไม่ตอบรับและอ้างเหตุผลว่าอยู่ต่างประเทศ
- จากนั้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตำรวจได้นำกำลังบุกเข้าค้นหลายสถานที่ในกรุงโตเกียวและจังหวัดไซตามะ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ GaaSyy และบริษัทจัดการรายได้โฆษณาของเขา โดยต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมข่มขู่และทำให้เสียชื่อเสียง
- ขณะที่สำนักงานตำรวจนครบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจว่าต้องขอหมายจับฮิกาชิตานิ เนื่องจากเขาสามารถหลบหนีหรือทำลายหลักฐานได้
- แต่ฮิกาชิตานิตอบโต้ผ่านคลิปวิดีโอหลังทราบข่าวการขอหมายจับ โดยยืนยันว่าจะไม่กลับญี่ปุ่น และบอกว่า “ผมไม่คิดว่าผมอยากจะกลับไปสู่สังคมที่หายใจไม่ออก”
ถูกขับออกจากตำแหน่ง ส.ว.
- กระแสวิจารณ์การไม่ทำหน้าที่ ส.ว. ของฮิกาชิตานิ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจที่เขาไม่เข้าทำงานเลยตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปี ในขณะที่ยังรับทั้งเงินเดือนและโบนัสจากการเป็น ส.ว. ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022 ถึงมกราคม 2023 รวมแล้วมากกว่า 19 ล้านเยน (ราว 4.9 ล้านบาท)
- ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ วุฒิสภาของญี่ปุ่นได้ส่งคำขอให้ฮิกาชิตานิเดินทางกลับโตเกียวและเข้าแสดงความขอโทษต่อประชาชนด้วยตนเอง จากการที่ไม่ได้เข้าประชุมสภาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นขั้นตอนการลงโทษทางวินัยก่อนที่จะถูกขับออกจากตำแหน่ง
- ในตอนแรกฮิกาชิตานิสัญญาว่าจะกลับไปแสดงความขอโทษ แต่ต่อมาก็อ้างว่ากลัวถูกดำเนินคดี ทั้งที่ยังมีเอกสิทธิ์คุ้มครองในตำแหน่ง ส.ว.
- ท่าทีที่กลับไปกลับมาของฮิกาชิตานิทำให้ทาจิบานะ ในฐานะหัวหน้าพรรคต้องประกาศลาออก พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น Seijika Joshi 48 ที่แปลว่า พรรค ‘เด็กหญิงนักการเมือง 48’ ซึ่งสื่อถึงกลุ่มไอดอล AKB48 โดยมีอดีตนักแสดงหญิง Ayaka Otsu เป็นหัวหน้าพรรคแทน และเป็นการเปลี่ยนชื่อพรรคครั้งที่ 8 ซึ่งหนังสือพิมพ์ The Asahi Shimbun รายงานว่า จุดประสงค์ในการเปลี่ยนชื่อพรรคน่าจะเป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์มากกว่า
- ทางด้านฮิกาชิตานิ นอกจากจะไม่กลับไปขอโทษประชาชนชาวญี่ปุ่น กลับโพสต์คลิปวิดีโอการเดินทางไปเมืองกาซีอันเตป (Gaziantep) ของตุรกี เพื่อช่วยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในการฟื้นฟูสภาพเมือง
- ท่าทีของฮิกาชิตานิ ซึ่งชัดเจนว่าไม่กลับญี่ปุ่นและไม่ขอโทษประชาชนด้วย ทำให้ในวันที่ 14 มีนาคม คณะกรรมการวินัยของวุฒิสภา ลงมติขับเขาออกจากตำแหน่ง ส.ว. ก่อนที่จะมีการโหวตอย่างเป็นทางการในวุฒิสภาวันถัดมา ซึ่งคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ขับฮิกาชิตานิออกจากตำแหน่ง 235 ต่อ 1 เสียง โดยผู้สมัครจากพรรคอื่นจะได้รับตำแหน่ง ส.ว. แทน
- สำหรับผู้ที่โหวตไม่เห็นชอบเพียงเสียงเดียวคือ ซาโตชิ ฮามาดะ ส.ว. ที่เป็นเพื่อนสมาชิกในพรรคเดียวกัน โดยให้เหตุผลที่ไม่เห็นชอบเพราะมองว่า การขับฮิกาชิตานิออกจากตำแหน่งนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
- สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฮิกาชิตานิกลายเป็น ส.ว. ญี่ปุ่นคนแรกในรอบกว่า 70 ปีที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง และเป็นคนแรกที่ถูกขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่เข้าทำงาน โดยนับตั้งแต่ปี 1950 มีสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นเพียง 2 คนที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง
- มูเนโอะ ซูซูกิ ประธานคณะกรรมการวินัยของวุฒิสภา โพสต์ข้อความถึงกรณีนี้ ระบุว่า “GaaSyy ไม่เข้าใจรากฐานของประชาธิปไตย ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายและกฎระเบียบ”
ตำรวจญี่ปุ่นออกหมายจับ
- ทันทีที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง และหมดเอกสิทธิ์คุ้มครองจากการเป็น ส.ว. ในวันรุ่งขึ้นตำรวจกรุงโตเกียวก็ออกหมายจับฮิกาชิตานิในคดีข่มขู่และหมิ่นประมาท
- แต่การที่เขาอยู่ต่างประเทศ ทำให้การจับกุมตัวมาดำเนินคดีเป็นไปได้ยาก ซึ่งทางการญี่ปุ่นวางแผนที่จะขอขึ้นบัญชีบุคคลที่ต้องการตัวกับ INTERPOL
- นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ยังได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มีคำสั่งให้ฮิกาชิตานิคืนหนังสือเดินทางของเขาด้วย ซึ่งหากมีการประกาศคำสั่ง จะทำให้หนังสือเดินทางที่ฮิกาชิตานิมีอยู่หมดอายุทันที และจะทำให้การพักอยู่ต่างประเทศของเขาผิดกฎหมาย และไม่สามารถยื่นคำขอขยายอายุวีซ่าได้
- ด้านสำนักข่าว NHK ยังรายงานข้อมูลแหล่งข่าว ระบุว่าตำรวจญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะประสานงานกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อขอให้เนรเทศฮิกาชิตานิกลับมาญี่ปุ่น เพื่อที่จะดำเนินการจับกุมตัวในทันทีที่กลับประเทศ
ภาพ: gaasyy_ch / Instagram
อ้างอิง:
- https://www.firstpost.com/explainers/who-is-the-japanese-youtuber-turned-politician-expelled-from-parliament-for-not-going-to-work-12293902.html
- https://www.asahi.com/ajw/articles/14862607
- https://www.japantimes.co.jp/news/2023/03/16/national/gaasyy-police-seek-arrest/
- https://www.japantimes.co.jp/news/2023/01/13/national/crime-legal/gaasyy-youtuber-search/?utm_source=jto&utm_medium=read_more&utm_campaign=ep
- https://www.japantimes.co.jp/news/2023/03/15/national/politics-diplomacy/gaasyy-loses-parliament-seat/
- https://mainichi.jp/english/articles/20230318/p2a/00m/0na/012000
- https://en.wikipedia.org/wiki/Yoshikazu_Higashitani
- https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/20230318_07/