ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุฆ่าตัวตายในปี 2017 ที่ผ่านมาจะลดลงเหลือ 21,321 ราย จาก 34,427 รายในปี 2003 เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นหันมาดำเนินมาตรการเยียวยาและป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจัง หลังญี่ปุ่นประสบปัญหาคนฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานหลายทศวรรษ
แต่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโนริอากิ คิตาซากิ (Noriaki Kitazaki) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2016-2017 ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาในญี่ปุ่น ตัดสินใจฆ่าตัวตายสูงถึง 250 ราย นับว่าเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 32 ปี
นอกจากนี้ งานวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยวาเซดะและมหาวิทยาลัยโอซาก้า ที่วิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย นับตั้งแต่ปี 1974-2014 จำนวนทั้งสิ้น 873,268 ราย พบว่า ผู้ชาย (อายุ 40-65 ปี) มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากที่สุด โดยช่วงเวลาที่มักจะฆ่าตัวตายคือ ‘ช่วงเช้าตรู่วันจันทร์ก่อนออกไปทำงาน’ (ตี 4.00 น.-7.59 น.) โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากความเครียดและการเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 1995
ในขณะที่ผู้ชายสูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) และผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายตอนกลางวัน ช่วงใกล้เที่ยงมากกว่า ซึ่งมักจะใช้วิธีทำให้ขาดอากาศหายใจ อย่างเช่น ผูกคอตายหรือสูดดมแก๊สพิษ
ภาพประกอบ: Nisakorn R.