×

“ถ้าโลกเกิด Recession ไทยไม่รอดแน่” ศุภวุฒิแนะ เร่งพลิกดุลบัญชีเดินสะพัด ห่วงภาคธุรกิจแบกต้นทุนการเงินไม่ไหว

07.11.2023
  • LOADING...
ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (5 พฤศจิกายน) เกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้จัดงาน An Afternoon with Howard Marks: Navigating Market Realities Through Sea Change ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Howard Marks เดินทางมาขึ้นเวทีบรรยายให้กับนักลงทุนไทย โดยหลังการบรรยาย ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในภาวะข้างหน้า รวมทั้ง ‘Sea Change’ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย 

 

ศุภวุฒิกล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลังจากขึ้นดอกเบี้ยมาเท่าตัวจาก 1.25% เป็น 2.5% แล้วเงินเฟ้อลงแรง แปลว่าเศรษฐกิจไม่มีแรง เห็นได้จาก GDP Growth ไตรมาส 2 เหลือแค่ 1.8% ส่วนไตรมาส 3 ก็น่าจะแย่ และเรายังเห็นสัญญาณจากยอดปล่อยสินเชื่อแบงก์ไม่โตและหุ้นที่ลงไป 15%” 

 

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยพึ่งพา ‘เครื่องยนต์’ ขับเคลื่อน 2 ส่วนหลักๆ คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากเท่าที่คาดหวัง

 

“ถ้าเศรษฐกิจโลกเกิด Recession เศรษฐกิจไทย Recession แน่ๆ สิ่งที่ผมเห็นคือ แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยเยอะเหลือเกินและเงินเฟ้อลงแรงเหลือเกิน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นมาก” 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

ศุภวุฒิอธิบายต่อว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) อยู่ที่ 1.25% อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) อยู่ที่ 6% ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) อยู่ที่ -4.75% แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อ (ณ เดือนกันยายน) อยู่ที่ 0.3% ทำให้อัตราดอกเบี้ยจริงกลายเป็น 2.2% 

 

“ผู้ประกอบการเสร็จหมดถ้าเจอต้นทุนการเงินแบบนี้ ขณะที่สตาร์ทอัพทั่วโลกจะถูกกระทบเช่นกัน เพราะไม่สามารถระดมทุนได้เหมือนเดิม” 

 

หนึ่งในปัญหาสำคัญของไทยในเวลานี้คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากภาคการส่งออกที่ไม่ฟื้น และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ หรือไม่เช่นนั้นเงินบาทก็จะยิ่งอ่อนค่า หรืออาจจะเกิดทั้งสองอย่าง 

 

“เมื่อประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าคุณซื้อสินค้าและบริการมากกว่าที่คุณขายสินค้าและบริการ ส่วนที่เกินต้องหามาโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะคุณใช้เกินตัว คำถามคือ ถ้าต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเกินตัว ผู้ที่ให้กู้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราของไทยหรืออัตราของต่างประเทศ ซึ่งเขาน่าจะคิดในอัตราของต่างประเทศ คือใกล้กับดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มากกว่าที่จะใกล้กับดอกเบี้ยของไทย” 

 

ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า หากต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP ขณะที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ของ GDP 

 

สำหรับภาคธุรกิจต้องกลับไปดูงบดุล (Balance Sheet) ของตัวเองให้ดี ถ้ามีหนี้สูงจะทำให้ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และที่สำคัญกว่านั้นคือกระแสเงินสด (Cash Flow) จะเริ่มติดขัด เพราะในยุคที่ดอกเบี้ยสูงทุกคนจะเริ่มหวงเงินสด คนซื้อจะขอเครดิตนานขึ้น และคนขายก็อยากได้เงินเร็วขึ้น 

 

โดยสรุปคือ ศุภวุฒิกล่าวว่า Sea Change ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยมีด้วยกัน 2 เรื่อง คือ 

 

  1. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
  2. อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 

 

ผลกระทบจาก Sea Change ต่อการลงทุน

 

ด้าน ณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล KKP กล่าวว่า การลงทุนจะไม่เหมือนกับช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยที่เคยเป็นขาลงมาตลอดกลับมาเป็นขาขึ้น 

 

“ความยากคือการคาดเดาสถานการณ์ข้างหน้า แม้แต่ Fed ยังใช้คำว่า Data Dependent หรือต้องคอยจับตาดูว่าข้อมูลจะเปลี่ยนไปอย่างไรก่อนการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนคือ การเพิ่มความคล่องตัวในการลงทุน และทำให้พอร์ตลงทุนพร้อมรับกับความไม่แน่นอนให้ได้มากที่สุด” 

 

ณฤทธิ์แนะนำว่า การสร้างพอร์ตให้มีความยืดหยุ่นและพร้อมรับกับความไม่แน่นอนสามารถทำได้ดังนี้

 

  1. เข้าใจภาพใหญ่ของเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ประเด็นหลักตอนนี้คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

  1. อุตสาหกรรมใดจะได้รับผลกระทบ ในเวลานี้ต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมไหนอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะหลีกเลี่ยง

 

  1. มองหาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือได้ประโยชน์ อย่างเช่นตอนนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีที่สุด

 

  1. พิจารณามูลค่าที่เหมาะสม

 

  1. ติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด 

 

“กลยุทธ์สำคัญสำหรับการลงทุนหลังจากนี้คือ การ Selective มากขึ้น และมองหาแหล่งที่มีโอกาสมากกว่า สำหรับนักลงทุนไทยอาจจะลด Home Bias และมองหาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น” 

 

ความเสี่ยงที่สำคัญของไทยในเวลานี้คือ โครงสร้างประชากรของประเทศ ซึ่งเข้าสู่ Aging Population เร็วกว่าที่คาด พร้อมกับรายได้ที่ยังไม่มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ยังไม่มีเครื่องยนต์อื่นๆ เข้ามาเสริม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising