นักวิชาการแนะรัฐบาลปฏิรูประบบภาษี ‘ทั้งระบบ’ ไม่ใช่เลือกเก็บเฉพาะกิจกรรมเศรษฐกิจใดกิจกรรมหนึ่ง หลัง รมว.คลังเปิดเผยว่า ‘ภาษีขายหุ้น’ ถูกตีกลับแล้ว เพื่อเตรียมตั้งทีมวิเคราะห์ใหม่
ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะรัฐบาลควรพิจารณามาตรการทางภาษี ‘แบบภาพรวม-ทั้งระบบ’ ไม่ใช่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเพียงกิจกรรมหนึ่ง เพื่อทำให้แต่ละฝ่ายจ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรมมากขึ้น
หลังผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีได้ส่งคืนร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. หรือ ‘ภาษีขายหุ้น’ กลับมายังกระทรวงการคลังแล้ว พร้อมทั้งระบุว่า กระทรวงการคลังจะตั้งทีมงานเพื่อวิเคราะห์ และนำข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมาประกอบพิจารณาอีกครั้ง
“การที่รัฐจะหารายได้มาชดเชยภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น ควรต้องพิจารณาระบบภาษีทั้งระบบ ไม่ใช่จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดเพียงอันหนึ่งอันเดียว เช่น ตลาดหุ้น ผู้คนอาจรู้สึกไม่เป็นธรรม ดังนั้น รัฐบาลควรฉายภาพให้เห็นว่าในอนาคตรัฐบาลจะเก็บภาษีตัวไหนมากขึ้น และเก็บภาษีตัวใดลดลง ผู้คนจะได้รู้สึกว่าเขาจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม” ดร.อธิภัทรกล่าว
สำหรับในกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีผลกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gains Tax) แทนภาษีจากการขายหุ้นหรือ Financial Transaction Tax (FTT) ดร.อธิภัทรมองว่า ภาษีทั้ง 2 ประเภทมีทั้งข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ โดยข้อได้เปรียบของ Capital Gains Tax คือเป็นประเภทภาษีที่เก็บจากรายได้หรือกำไรจากการขายหุ้นโดยตรง ทำให้ผู้คนอาจมองว่ามีความเป็นธรรมมากกว่า เนื่องจากมีกลไกที่ให้นักลงทุนสามารถนำผลขาดทุนหรือ Capital Loss มาชดเชยได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม Capital Gains Tax ยังมีข้อเสียเปรียบคือ รายได้ที่รัฐจัดเก็บจะไม่มีความแน่นอน โดยผันผวนขึ้นลงตามตลาดหุ้น ดังนั้นรัฐจึงไม่สามารถพึ่งพารายได้จากภาษีนี้ได้ในระยะยาว หากรัฐต้องการมองหาแหล่งรายได้เพื่อมาชดเชยกับภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น
และจากกรณีที่ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงว่า เหตุที่เลือกจัดเก็บ Financial Transaction Tax ไม่ใช่ Capital Gains Tax ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนกระบวนการจัดเก็บภาษี เพราะการจะได้มาซึ่งตัวเลขสุทธิมีต้นทุนสูงมาก ดร.อธิภัทรมองว่า แม้ว่าต้นทุนการสร้างระบบ (Setup Cost) ของ Capital Gains Tax จะสูงในช่วงแรก แต่ในภายหลังต้นทุนจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เอง ทั้งในมุมของรัฐและนักลงทุน
ดังนั้น ดร.อธิภัทรจึงเสนอแนะว่า ถ้ามีการพิจารณาใหม่ กระทรวงการคลังควรชั่งน้ำหนักการเก็บภาษีทั้ง 2 แบบ โดยพิจารณาว่าเป้าหมายคืออะไร ตัวอย่างเช่น ถ้าเป้าหมายคือหารายได้ การใช้ Capital Gains Tax อาจเสียเปรียบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดเงื่อนไข ช้อปดีมีคืน ปี 2566 ทำอย่างไรให้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 4 หมื่นบาท
- วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย
- เปิดเงื่อนไขซื้อ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ รัฐบาลช่วยจ่ายเงินอุดหนุนเท่าไร ลดภาษีกี่เปอร์เซ็นต์