×

เก็บภาษีความหวาน ช่วยคนไทยรักษาสุขภาพได้จริงหรือ?

05.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มจะถูกนำมาคำนวณภาษี ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560
  • THE STANDARD สุ่มเครื่องดื่มยอดนิยมเพื่อดูปริมาณน้ำตาล และทดลองคำนวณภาษีความหวานตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง
  • นักวิชาการ เห็นว่าการเก็บภาษีความหวาน อาจไม่ได้ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้น้อยลงอย่างที่คิด

     ข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำไว้แค่วันละ 6 ช้อนชาถึง 4.7 เท่า เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด

     แต่ธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มในไทย มูลค่าทะลุสองแสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 4-5% ต่อปี สินค้าเริ่มมีความหลากหลาย และการแข่งขันดุเดือด ทั้งผู้ประกอบการในไทยและต่างชาติอยากเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในธุรกิจนี้

 

ภาษีความหวานคุยมานาน เพราะคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกำหนด

     แนวคิดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มพร้อมดื่มมีการพูดคุยกันมาสักพัก แต่เพิ่งเริ่มปรากฏเค้าลางความจริงขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีมติเห็นชอบ รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. เรื่อง การป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการในประเด็นการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ

     มีสาระสำคัญคือการเสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

     โดย สปท. เชื่อว่าการจัดเก็บภาษีนี้จะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้มากกว่า หนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี

 

ผู้ประกอบการดิ้นคัดค้านสุดฤทธิ์

     หลัง สปท. ลงมติเห็นชอบถล่มทลาย ด้าน สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ชั้นนำของไทย อาทิ ชาเขียว น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผักผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลังกว่า 36 บริษัท ได้ส่งหนังสือถึงประธาน สปท. ขอให้ทบทวนรายงานฉบับดังกล่าวทันที เพราะเห็นว่าขาดความชอบธรรม ไม่เชิญผู้ประกอบการซึ่งมีส่วนได้เสียไปร่วมด้วย พร้อมชี้แจงถึงผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะราคาที่จะปรับเพิ่มขึ้นเดือดร้อนถึงผู้บริโภค

     แต่ สปท.ใส่เกียร์เดินหน้าผลักดันเสนอคณะรัฐมนตรี พร้อมชี้แจงกลับว่า เอกชนจะไม่เสียประโยชน์เพราะเทรนด์ในอนาคตเป็นเทรนด์ของสุขภาพ ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มที่น้ำตาลน้อย อีกทั้งการลดน้ำตาลยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต

     จากนั้นรายงานฉบับนี้จึงได้ถูกส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ

 

ผู้ประกอบการต่อรองขอเวลาปรับตัว 5 ปี

     ช่วงต้นปี 2560 ประเด็นภาษีน้ำตาล ถูกกระทรวงการคลังหยิบขึ้นมาพิจารณา โดย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง บอกว่า การจัดเก็บภาษีน้ำหวานต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ปลูกอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาล รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุป โดยจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี และยืนยันว่าเป้าหมายหลักของการเก็บภาษีความหวานคือเพื่อ ‘สุขภาพ’ ไม่ใช่ ‘รายได้’

     ด้านผู้ประกอบการ โดย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เดินเกมต่อรองขอเวลาปรับตัว 5 ปี จากแผนเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอ คือจะเริ่มเก็บภาษีความหวานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560

 

เคาะอัตราภาษีความหวาน อัตราก้าวหน้า 6 ระดับ

 

 

     การเก็บภาษีความหวาน เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่ถูกปรับภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายนนี้

     แต่ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการลดปริมาณน้ำตาลในสินค้าของตัวเองลง

     ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 หากผู้ประกอบการไม่ปรับสูตรน้ำตาลให้ต่ำลง ก็จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า 6 ระดับ ยิ่งน้ำตาลมากยิ่งเสียมาก

     ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้อธิบายภายในงานเสวนา ภาษีความหวานกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ว่า ปกติแล้วเครื่องดื่มมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่แล้ว แต่เป็นการจัดเก็บ ในขามูลค่า อยู่ที่ 20% ของราคาหน้าโรงงาน หรือราคานำเข้าเพียงขาเดียว

     แต่ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 จะนำภาษี ในขาปริมาณ ซึ่งก็คือปริมาณน้ำตาลเข้ามาคิดด้วย โดยมีหลักเกณฑ์คือ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10% ต่อ 100 มล. จะถูกจัดเก็บตามอัตราที่วางเอาไว้ ซึ่งเป็นอัตราก้าวหน้า คือยิ่งมีน้ำตาลมาก ก็ยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูง เป็นต้น

     “อัตราส่วน 20% ที่เคยเก็บจากขามูลค่าจะทำการปรับลง เพื่อให้เมื่อรวมกับอัตราที่จัดเก็บจากขาปริมาณแล้ว ภาระทางภาษีจะเท่าเดิม หรือใกล้เคียงมากที่สุด”

 

ภาษีเครื่องดื่มแบบเดิม (ปัจจุบัน) = VAT 7% + ภาษีสรรพสามิต 20% ของราคาหน้าโรงงาน

ภาษีเครื่องดื่มแบบใหม่ = VAT 7% + ภาษีสรรพสามิตของราคาขายปลีกแนะนำ + ภาษีปริมาณน้ำตาล

 

 

     สำหรับการคำนวณภาษีปริมาณน้ำตาลให้เทียบต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร เช่น กรณีมีน้ำตาล 18 กรัม ต่อ 100 มล. ถ้าสินค้านั้นมีความจุ 1 ลิตร จะจ่ายภาษี 1 บาท แต่ถ้าครึ่งลิตร จ่าย 50 สตางค์

 

เครื่องดื่มใด ‘หวาน’ แค่ไหน?

     THE STANDARD ได้สุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องเสียภาษีความหวาน โดยคำนวณปริมาณน้ำตาลตามอัตราภาษีที่กระทรวงการคลังกำหนด

     ภาษีที่เพิ่มขึ้นในที่นี้คือ ภาษีปริมาณน้ำตาล ไม่ใช่ภาษีรวมสุทธิที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560

 

 

เก็บ ‘ภาษีความหวาน’ ช่วยให้เลิกกินจริงหรือ?

     ใช่ว่าเมื่อภาษีความหวานมีผลบังคับใช้สมบูรณ์แล้ว จะแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยได้ทันทีทันใด

     วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ภาษีจะต้องไม่สูงไปจนทำให้ราคาสูงมากเสียจนผู้บริโภคเลิกซื้อ เพราะผู้ผลิตจะอยู่ไม่ได้ แต่ภาษีก็จะต้องไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ราคาที่สูงขึ้นไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ ความยากจึงอยู่ที่การกำหนดความเหมาะสมของภาษี สิ่งเหล่านี้ ภาษาวิชาการเรียกว่า ‘ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่มีต่อราคา’ ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีการตอบสนองต่อราคาที่แพงขึ้นไม่เหมือนกัน

     คำถามคือคนรวยกับคนจนใครบริโภคน้ำหวานมากกว่ากัน หากคนรวยบริโภคมากกว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นอาจไม่กระทบการตัดสินใจในการบริโภค การบริโภคน้ำหวานก็อาจไม่ลดลงอย่างที่คาดไว้

     อีกทั้งภาษีประเภทนี้คือ ‘ภาษีทางอ้อม’ ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจว่าจะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคเท่าไหร่ จะรับเองเท่าไหร่ ซึ่งจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร

     ดังนั้นผู้ผลิตอาจยอมขาดทุนกำไร แบกรับภาษีน้ำตาลไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้ราคาไม่ได้แพงขึ้นกันอย่างที่ตั้งใจไว้

     ผลที่จะไปลดปริมาณการบริโภคจึงอาจไม่มากเท่าที่คำนวณไว้อีกเช่นกัน

 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

อ้างอิง :

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X