×

สุดารัตน์ เตือนเจอสึนามิเศรษฐกิจ หากคุมโควิด-19 ช้า เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2021
  • LOADING...
สุดารัตน์ เตือนเจอสึนามิเศรษฐกิจ หากคุมโควิด-19 ช้า เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

เมื่อวานนี้ (23 เมษายน) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านรายการ THE STANDARD NOW ที่ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ว่า 

 

เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีการออกมากระทุ้งให้เปิดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และท้องถิ่นในการจัดหา โดยวัคซีนต้องซื้อให้เพียงพอ 70% ของประชากร คือ 50 ล้านคน เท่ากับต้องซื้อ 100 ล้านโดสเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และเปิดประเทศได้ทันประเทศอื่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยต้องฉีดให้ได้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ถ้านับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปก็คือวันละ 5 แสนโดส

 

การฉีดให้เร็วและทั่วถึงทำได้ เพราะระบบของสาธารณสุขประเทศเรา ถ้าตั้งใจบริหารจัดการ มั่นใจว่ารองรับได้ โดยฉีดได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกตำบล เรามี 7,255 ตำบล วันละ 5 แสนคน 1 ตำบล ฉีดประมาณ 50-60 คน ต่อ 1 วัน เพื่อให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งศักยภาพเราทำได้ โครงสร้างสาธารณสุขเราดีที่สุดในโลก เรามีโรงพยาบาลศูนย์อยู่ 117 แห่ง เรามีโรงพยาบาลอำเภอ 720 แห่ง กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอีก 20 แห่ง เป็น 740 แห่ง และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. อีก 9,806 แห่ง

 

ดังนั้นเพียงพอที่จะบริหารสถานีฉีดตำบลละ 1 แห่ง โดยคนฉีดก็ไม่ใช่จะต้องเป็นแพทย์ทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ฉีดได้ ดังนั้นให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารโดยไม่ต้องแทรกแซง และให้กระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่นไปช่วย นี่คือประเด็นที่ 1 

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ต้องตรวจเชิงรุกและตรวจฟรี ตอนนี้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ระบาดได้ง่าย วันนี้ระบาด 2,000 กว่าราย แต่พบจากการตรวจเชิงรุกแค่ 100 กว่าราย บางวันก็เป็นหลักสิบเท่านั้น ดังนั้นต้องตรวจเชิงรุกเพื่อเอาคนเข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด

 

“ดิฉันเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วว่าต้องตรวจโควิด-19 ฟรี ซึ่งทำได้ สมมติเราตั้งเป้าตรวจเชิงรุกให้ได้ 1 ล้านคน เพื่อให้เอาคนเข้าระบบมากที่สุด ทำได้อย่างไร ก็คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้ค่าตรวจรายหัว 1,600 บาท ดังนั้น 1 ล้านคนใช้เงินแค่ 1,600 ล้านบาท คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม กับการเสียเศรษฐกิจไปไตรมาสหนึ่ง 450,000 ล้านบาท ในขณะที่วันนี้ ที่เกิดขึ้นจริงคือการจะตรวจนั้นยากเย็น นอกจากมีเงิน ห้องไม่มี ไม่มีน้ำยา ผลก็คือทำให้ผู้ติดเชื้อยังไม่ได้ไปตรวจ เข้าไม่ถึงการตรวจ ดังนั้นการตั้งรับก็คือการรักษา วันนี้ก็เป็นแผลพุพองที่ระเบิดออกมาให้เห็น”

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า เราเห็นตัวเลขผู้ที่อาการสาหัสทะลุ 300 ราย และการเสียชีวิตใน 20 กว่าวันที่ผ่านมาก็สูงถึง 27 ราย อัตราการตายและอัตราการป่วยสาหัสจะสูงขึ้นอีก เพราะระบบการจัดการที่เราไม่เป็นระบบและมั่วมาก อย่างที่มีการตั้งโรงพยาบาลสนามที่ไม่เหมาะสมกับการรักษาโรค อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อใหม่ในโรคอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา

 

“ถ้าเป็นดิฉัน จะรีบกระจายงบให้โรงพยาบาล ไม่ใช่ตั้งศูนย์โควิด-19 เต็มไปหมด แต่กอดอำนาจไว้ตรงกลาง เพราะผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลจะรู้เลยว่าจำนวนคนไข้ที่ไม่มีเตียงมีอยู่เท่าไร สมมติมี 30 คน เราก็ไปเช่าไว้เลย โรงแรม ซึ่งโรงแรม 2 ดาว 3 ดาวเหลือทุกจังหวัด กรุงเทพฯ ก็มี ก็ทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการกักโรค ไม่ใช่สภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งถ้า ผอ.โรงพยาบาล มีงบประมาณและมีอำนาจ เราต้องรีบถ่ายทอด ถ่ายเทอำนาจ ถ่ายเทงบประมาณให้แต่ละโรงพยาบาล เพื่อบริหารจัดการ เช่าโรงแรมเป็น Hospitel เป็นสาขาที่ 1 สาขาที่ 2 ไป ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล แล้วถ้าผู้ป่วยหนัก เขาก็จะส่งต่อเองไปโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ เขาทำกันได้ เขามีระบบอยู่แล้ว บุคลากรสาธารณสุขเก่งอยู่แล้ว เพียงแต่บริหารจัดการไม่มีเงิน เราจะเห็นตามเพจต่างๆ โรงพยาบาลเริ่มขอบริจาค ทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีก็บอกมีเงิน นี่คือการบริหารจัดการที่ไม่กระจายอำนาจ ถ้าบริหารจัดการดี เราก็จะไม่เห็นอาม่าตาย ไม่เห็นคุณลุงตาย ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครมี 11 แห่ง มีศูนย์สาธารณสุข 68 แห่ง แล้วยังมีโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ โรงพยาบาลเอกชนอีก เราตั้งที่ตรวจ 50 เขตได้ หรือสถานีฉีดวัคซีนให้เป็นที่เดียวกัน  ถ้ากรุงเทพฯ ตั้งสถานีฉีดวัคซีนเขตละ 5 จุด ก็ฉีดสถานีละ 100 กว่าคนเอง” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ในส่วนของการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกรณีวัคซีนที่มีข่าวเกิดปัญหานั้น ประการที่ 1 วัคซีน Sinovac ที่ได้ฉีดไปกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน 2 จังหวัดไปแล้ว ซึ่งต่อมาพบว่าเกิดปัญหาขึ้นรัฐบาลต้องเร่งสืบหาว่ามันเกิดอะไรขึ้นถึงเกิดผลข้างเคียงดังกล่าว แล้วระงับการฉีดล็อตนั้นๆ และให้ Sinovac ส่งล็อตใหม่มา อย่าไปดันทุรังฉีด แล้วประชาชนจะมีความมั่นใจ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้ยินประกาศนี้เลย

 

ประการที่ 2 การเลือกวัคซีน ที่ดันไปเลือกตัวที่มีปัญหาเพียง 2 ตัว ทั้งที่ทั่วโลกมีเป็นสิบยี่ห้อ ดังนั้นก็ต้องรีบซื้ออีก 4 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 10 ล้านโดส เพราะ 60 ล้านโดสเดิมคงยกเลิกไม่ได้แล้ว ทั้งนี้อีก 40 ล้านโดสก็ต้องเร่งให้ได้ และเมื่อรวมทั้งหมดแล้วก็ต้องเร่งให้มาให้ทัน เพื่อให้ฉีดได้เดือนละ 15 ล้านโดส เพื่อจบภายในปีนี้ โดยเมื่อได้มาก็ไม่ใช่การไปเก็บไว้ฉีดให้กับคนที่มีเส้นสาย แต่ต้องบริหารจัดการเพื่อให้นำอีก 40 ล้านโดสนี้มาเป็นตัวเลือกฉีดให้กับคนที่มีภาวะสุขภาพแตกต่างกัน บางคนอาจเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดสูงก็ไปฉีดตัวอื่น ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงน้อยก็ฉีด AstraZeneca ตัวหลักของเรา

 

นอกจากนี้การต้องเร่งฉีดให้จบภายในสิ้นปีก็เพราะวัตถุประสงค์ของวัคซีนคือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ด้วยวัคซีนมีอายุภูมิคุ้มกัน 1 ปี ดังนั้นต้องฉีดให้ได้มากพอ ได้เร็วพอ ประกอบกับที่ได้เน้นไปแล้วว่าทุกประเทศมีแผนเปิดประเทศ สิ้นปีนี้ถ้าเรายังช้าอยู่แบบนี้ เราก็จะเปิดประเทศไม่ทัน ก็จะเผชิญกับสึนามิทางเศรษฐกิจที่จะพัดเอาธุรกิจเล็กๆ SMEs ตายไปหมด SMEs มี 3 ล้านรายก็จริง แต่มีการจ้างงานถึง 13 ล้านคน แล้วใน 13 ล้านคนก็จะเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงตกงานเพิ่มอีก

 

“ท้ายสุดนี้เบี้ยเสี่ยงภัยที่รัฐบาลบอกว่าจะให้กับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข วันนี้ทำงานหนักมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ใช่ให้แต่ปากเงินยังไม่ถึง ต้องเพิ่มเงินด้วย วันนี้เตียงเพิ่มได้ วันนี้เพิ่มเงินลงไป โรงพยาบาลไปเช่าโรงแรม เพิ่มได้เลย แต่บุคลากรสาธารณสุขเพิ่มวันนี้เลยไม่ได้ ต้องดูแลเขา” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวในที่สุด

 

ติดตามชมรายการได้ที่นี่: 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising